โรคริดสีดวงทวาร

ริดสีดวงทวาร

รศ.นพ.วิรุณ  บุญชู 
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            หลายท่านคงเคยได้ยินมาว่า ระบบขับถ่ายดีย่อมหมายถึงการมีสุขภาพดี ผิวพรรณผ่องใสตามไปด้วย แต่อุปสรรคที่สำคัญในการขับถ่ายที่เรารู้จักกันดี คือ โรคริดสีดวงทวารหนัก ซึ่งเป็นโรคของหลอดเลือดที่อยู่บริเวณปากทวารหนักที่โป่งพองขยายขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้เกิดก้อนเนื้อที่ปากทวารหนัก และเมื่อเบ่งถ่ายอุจจาระที่ขับถ่ายออกมา หรือบางรายมีเลือดสดพุ่งออกมาขณะขับถ่ายอุจจาระ
            โดยทั่วไปผู้ป่วยจะไม่สามารถคลำพบก้อนเนื้อดังกล่าวได้ในระยะแรกของโรค แต่หากคลำพบว่ามีก้อนเนื้อหรือมีก้อนโผล่ออกมาจากปากทวารหนัก แสดงว่าอาการเริ่มทวีความรุนแรงแล้ว ส่วนมากจะพบในผู้ที่อายุ 45-65 ปี

ปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค...
            1. พันธุกรรม
            2. อาชีพ เช่น ผู้ที่ต้องยืนนาน ๆ 
            3. เกิดจากโรคแทรกซ้อนของโรค เช่น ตับแข็ง ซึ่งจะมีอาการท้องมานในระยะสุดท้าย และเมื่อมีน้ำในช่องท้องมาก ๆ จะส่งผลไปกดการไหลเวียนเลือดในช่องท้อง เป็นสาเหตุทำให้หลอดเลือดดำไหลกลับเข้าช่องท้องได้ไม่ดีนัก
           4. ท้องผูก ต้องเบ่งถ่ายอุจจาระเป็นประจำ
            5. ผู้หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากมีการเพิ่มความดันในช่องท้อง การขยายตัวของเส้นเลือดที่ปากทวารหนักร่วมกับท้องผูก

สัญญาณอันตราย ชวนให้สงสัยว่าอาจเป็นริดสีดวงทวาร...
            เมื่ออุจจาระแล้วมีเลือดสด ๆ ไหลออกมาด้วย
            คลำพบก้อนที่รูทวารหนัก

โรคนี้แบ่งเป็น 4 ระยะ
          ระยะที่ 1
 - คลำพบก้อนข้างในรูทวารหนัก
          ระยะที่ 2 - คลำพบก้อนที่รูทวารหนักเป็นบางครั้งและก้อนจะกลับเข้าไปทวารหนักได้เอง
          ระยะที่ 3 - พบก้อนโผล่พ้นปากทวารหนักออกมา และสามารถใช้นิ้วดันกลับเข้าไปได้
          ระยะที่ 4 - พบก้อนยื่นออกมา และใช้นิ้วดันกลับเข้าไปไม่ได้

การรักษา
            1. รับประทานอาหารที่มีกาก เช่น ผักสด ผลไม้สด
            2. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะเมื่อร่างกายเคลื่อนไหว ลำไส้ก็จะมีการเคลื่อนไหวและไปบีบให้อุจจาระมีการเคลื่อนตัวทำให้ขับถ่ายสบาย
           3. ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ เพื่อให้อุจจาระมีน้ำอุ้มอยู่ ส่งผลให้อุจจาระนุ่ม

ข้อควรทราบ....
            1.โรคริดสีดวงทวาร ไม่ใช่สาเหตุของโรคมะเร็งทวารหนัก
            2.โรคริดสีดวงทวาร มี 2 ชนิด คือ “ชนิดภายใน” และ “ชนิดภายนอก”
            3.การรักษาโดยการผ่าตัดไม่ค่อยมีความจำเป็น เพราะโดยทั่วไปโรคนี้เพียงปฏิบัติตนตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และรับประทานอาหารที่มีกากใยมาก ๆ อาการก็จะทุเลาในเร็ววัน
            4.ถ้าถ่ายอุจจาระเป็นมูกเลือดให้สงสัยไว้ก่อนว่าเป็น “โรคมะเร็งปากทวารหนัก” ต้องรีบพบแพทย์โดยเร็ว
            5.ถ้าขับถ่ายอุจจาระแล้วปวดปากทวารหนักเหมือนมีดบาด แสดงว่าเป็น”โรคร่องแผลที่ปากทวารหนัก”

           การรักษาโรคริดสีดวงทวารหนักมีหลายวิธี กล่าวคือ การใช้ยาเหน็บทวารหนัก การกินยาระบายหรือยาที่ทำให้
อุจจาระนุ่ม การฉีดยาที่หัวริดสีดวงทวารหนัก การใช้ยางรัด และการผ่าตัดหัวริดสีดวงทวารหนัก ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับระยะของโรคและสภาวะทั่วไปของผู้ป่วย

             “สุขภาพของท่าน ท่านคือคนสำคัญที่มีบทบาทที่สุดในการดูแลรักษานะครับ”

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด