การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยกล้อง
การเตรียมตัวก่อนเข้ารับการตรวจระบบทางเดินอาหารด้วยกล้อง
อ.นพ.สมพรรค บุญพงษ์มณี
สาขาทางเดินอาหาร ภาคอายุรศาสตร์
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
เนื่องจากในปัจจุบันมีผู้ป่วยที่จำเป็นต้องได้รับการตรวจโดยวิธีส่องกล้องเป็นจำนวนมาก หลายรายเกิดคำถามขึ้นในใจว่าจะเจ็บหรือไม่ ใช้เวลานานไหม ค่าใช้จ่ายเท่าไร และจะต้องเตรียมตัวอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์ต่อการตรวจให้ได้ผลดีที่สุด ซึ่งก็พอจะชี้แจงถึงวิธี
การตรวจและการปฏิบัติตัวก่อนและหลังการตรวจ แบ่งเป็น 2 แบบ ดังนี้
1. การตรวจระบบทางเดินอาหารส่วนบนด้วยการส่องกล้อง หรือ เรียกสั้น ๆ ว่า "แกสโตรสะโคป" (Gastroscope) จะเป็นการตรวจบริเวณหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น
การเตรียมตัวก่อนตรวจ
ผู้ป่วยจะต้องงดน้ำและอาหารทางปากทุกชนิด อย่างน้อย 6 ชั่วโมง หรือตั้งแต่หลังเที่ยงคืน คืนวันก่อนตรวจ
ขั้นตอนการตรวจ
เมื่อมาถึงห้องตรวจ แพทย์จะอธิบายข้อบ่งชี้ แผนการตรวจและรักษา ภาวะแทรกซ้อนและทางเลือกอื่น หลังจากที่ผู้ป่วยเข้าใจแล้ว ผู้ช่วยแพทย์จะพ่นยาชาเข้าไปในบริเวณคอของผู้ป่วย 2 - 3 ครั้ง ผู้ป่วยจะรู้สึกคอหนาขึ้น ผู้ช่วยแพทย์จะเชิญให้ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้ายบนเตียงตรวจ แล้วแพทย์จะใส่กล้อง (มีลักษณะคล้ายสายยางสีดำขนาดเท่าปลายนิ้วก้อย) เข้าไปในลำคอแล้วผ่านไปในหลอดอาหาร กระเพาะอาหาร และลำไส้เล็กส่วนต้น ในขณะที่ทำการตรวจแพทย์อาจสะกิดชิ้นเนื้อออกมาตรวจหาพยาธิสภาพหรือแบคทีเรีย ซึ่งผู้ป่วยจะไม่รู้สึก โดยปกติการตรวจแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 10 -15 นาที ภายหลังการตรวจ แพทย์จะบอกผลการตรวจ อธิบายแผนการรักษาและนัดการติดตามผล จากนั้นผู้ป่วยจะนั่งพักประมาณ 2 - 3 ชั่วโมงจนอาการคอหนาค่อย ๆ ดีขึ้นก็จะสามารถรับประทาน และกลับไปทำงานได้ตามปกติ ในบางรายจะมีคลื่นไส้อาเจียนมากขณะตรวจทำให้ไม่สามารถทำการตรวจได้ แพทย์อาจพิจารณาฉีดยาเข้าทางหลอดเลือดดำ เพื่อให้ผู้ป่วยสะลึมสะลือก่อนเข้ารับการตรวจอีกครั้ง
2. การตรวจลำไส้ใหญ่ด้วยการส่องกล้อง (ทางเดินอาหารส่วนล่าง) หรือ โคโลโนสะโคป (colonoscope) จะตรวจตั้งแต่ปากทวารขึ้นไปถึงลำไส้ใหญ่ทั้งหมด (ประมาณ 1.00-1.50 เมตร) และบางครั้งอาจรวมถึงการตรวจลำไส้เล็กส่วนปลายด้วย
การเตรียมตัวก่อนตรวจ ผู้ป่วยควรจะรับประทานอาหารที่มีกากน้อย เช่น น้ำซุบ, โจ๊กเหลว ๆ 1 วันก่อนทำการตรวจ ในตอนเย็นวันก่อนตรวจ แพทย์จะให้ยาระบายฟอสโฟโซดา (phosphosoda) ผู้ป่วยควรจะกินยาระบายจนหมด หรือจนกว่าจะถ่ายอุจจาระออกมาเป็นน้ำใส ๆ บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้, อาเจียนขณะที่กินยาระบาย อาจแก้ไขให้ดีขึ้นโดยการผสมน้ำผลไม้ในยาระบายแล้วดื่มช้า ๆ ผู้ป่วยควรงดน้ำและอาหาร 6 ชั่วโมงก่อนเข้ารับการตรวจหรือหลังเที่ยงคืนวันก่อนตรวจ
ขั้นตอนการตรวจ
แพทย์จะอธิบายข้อบ่งชี้ แผนการตรวจการรักษา ภาวะแทรกซ้อนและทางเลือกอื่น ผู้ช่วยแพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนตะแคงซ้ายบนเตียงตรวจ แพทย์จะให้ยาลดอาการวิตกกังวลและหรือยาแก้ปวดทางเส้นเลือดดำ แล้วตรวจทางทวารหนักด้วยนิ้วมือ สอดใส่กล้องเข้าทวารหนักและตรวจลำไส้ใหญ่ทั้งหมด ถ้าพบภาวะผิดปกติแพทย์อาจจะตัดชิ้นเนื้อ จี้ด้วยไฟฟ้า หรือตัดก้อนเนื้อ (polyp) ออกมา โดยที่ผู้ป่วยจะไม่รู้สึกถึงการตัดชิ้นเนื้อนี้ การตรวจแต่ละครั้งจะใช้เวลาประมาณ 20 - 40 นาที
ภายหลังการตรวจ ผู้ป่วยจะถูกส่งต่อไปยังห้องสังเกตอาการอีก 1 - 2 ชม. แพทย์จะอธิบายสิ่งที่ตรวจพบกับญาติผู้ป่วย เมื่อผู้ป่วยรู้สึกตัวดีแพทย์จะให้ญาติพาผู้ป่วยกลับบ้านได้เนื่องจากผู้ป่วยได้รับยาทางเส้นเลือด จึงควรงดเว้นการขับรถ หรือการทำงานในวันตรวจ บางรายอาจจะรู้สึกแน่นท้องจนถึงปวดท้องเนื่องจากแพทย์ใส่ลมเข้าไปในลำไส้ใหญ่ในขณะตรวจ เพื่อให้ผายลมออกมาอาการปวดก็จะดีขึ้น
การตรวจทั้งสองแบบ อาจส่งผลให้ท่านเจ็บปวดเล็กน้อยเท่านั้น ถ้าท่านมีอาการปวดท้องมาก หรือปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ มีไข้ หรือมีเลือดออกทางทวารหนักมากกว่า 1 ช้อนโต๊ะ ควรรีบติดต่อแพทย์ หรือมาพบแพทย์ที่ห้องฉุกเฉินทันที
การเตรียมตัวข้างต้นนี้ ใช้กับผู้ป่วยทั่ว ๆ ไปเท่านั้น หากท่านมีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคปอด โรคหัวใจ มีลิ้นหัวใจเทียม มีภาวะเลือดออกผิดปกติ กำลังได้รับยาแอสไพริน หรือยาละลายลิ่มเลือด ท่านควรแจ้งให้แพทย์ทราบเพื่อรับคำแนะนำก่อนตรวจโดยเฉพาะหากท่านมีข้อสงสัยประการใด สอบถามได้ที่แพทย์ประจำสาขาโรคทางเดินอาหาร ตึกปาวา 1 โทร. 0-2419-7281-3 ต่อ 201 ในวัน เวลาราชการ