โคบอลท์-60 อันตรายจริงหรือ ? ตอนที่ 1
โคบอลท์-60 อันตรายจริงหรือ ? ตอนที่ 1
ศ.นพ.ไพรัช เทพมงคล
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ข่าวที่ Hot ข่าวหนึ่งในหน้าหนังสือพิมพ์หรือโทรทัศน์ในขณะนี้ คือ ข่าวที่มีผู้ได้รับอันตรายจากรังสีโคบอลท์-60 ที่ใช้สำหรับรักษาผู้ป่วยมะเร็ง ทำให้เกิดเม็ดเลือดขาวต่ำ, อ่อนเพลีย, มือไหม้พอง และดูเหมือนจะทำให้คนทั่วๆ ไปตื่นกลัวรังสีที่เรียกว่า "Radiophobia" อยู่ชั่วระยะหนึ่ง ถึงกับบางคนกล่าวว่าในประเทศไทยไม่น่าจะนำรังสีมาใช้ไม่ว่าสำหรับกรณีใดๆทั้งสิ้น และสำหรับผู้ป่วยมะเร็งบางคนเกิดการตื่นกลัวจนไม่ยอมรักษาโดยวิธีฉายรังสีจากโคบอลท์-60
รังสีโคบอลท์-60 คืออะไร?
ความจริงแล้วรังสีที่แผ่ออกมาจากสารกัมมันตรังสี (สารรังสีหรือแร่) โคบอลท์-60 คือ รังสีแกมม่าและรังสีเบต้า และรังสีที่ใช้เป็นตัวรักษาเป็นอันตราย คือ รังสีแกมมา เพราะมีแรงทะลุทลวงมากกว่ารังสีเบต้ามาก คำว่า "รังสี" (Radiation) บางคนอาจจะไปเชื่อมโยงกับคำว่า "ปรมาณู" (Atomic energy) ทำให้น่ากลัวยิ่งขึ้นเพราะจะนึกถึงระเบิดปรมาณูที่อเมริกาทิ้งลงที่เมืองฮิโรชิมา และเมืองนางาซากิ ประเทศญี่ปุ่นในตอนปลายสงครามโลก ครั้งที่ 2 ทำให้ชาวญี่ปุ่นล้มตายลงทันที และเสียชีวิตในเวลาอีกหลายๆ ปีต่อมาเป็นจำนวนมาก บ้านเรือนพังทลายมากมาย ซึ่งนำมาเปรียบเทียบกันไม่ได้เพราะระเบิดปรมาณูมีอานุภาพร้ายแรงกว่าเหนือคณานับ จากแรงระเบิดและจากปริมาณรังสี
โคบอลท์-60 เป็นสารรังสีที่ใช้ในทางการแพทย์ในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 ที่ร.พ.จุฬา-ลงกรณ์ และ พ.ศ. 2502 ที่ร.พ.ศิริราช และยังใช้กันอีกหลายๆ โรงพยาบาลทั่วประเทศไทย จนถึงปัจจุบันนี้ โดยใช้เป็นต้นกำเนิดรังสีแกมม่าสำหรับรักษาโรคมะเร็ง โดยอาศัยคุณสมบัติของรังสีที่สามารถทำลายเซลล์มะเร็ง ทำให้ผู้ป่วยหายจากโรคมะเร็งได้ และปัจจุบันนี้ก็มีผู้ป่วยมะเร็งชาวไทยจำนวนมากมายที่รอดชีวิตจากโรคมะเร็งเกิน 10-30 ปี จากการฉายรังสีโคบอลท์-60
นอกจากโคบอลท์-60 แล้ว ยังมีสารรังสีอื่นๆ ที่นำมาใช้ในทางการแพทย์ เช่น แร่เรเดียม ซึ่งเป็นสารรังสีที่เกิดในธรรมชาติ มีใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2481 หรือสารรังสีที่มนุษย์สร้างขึ้นมาโดยการเปลี่ยนโครงสร้างของอะตอมของสารธรรมดาให้กลายเป็นสารรังสีในเตาปฏิกรณ์ปรมาณู เช่น แร่ทองคำ กัมมันตรังสี-197 ซึ่งมีใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2506, แร่ซีเซียม-137 ซึ่งมีใช้ใน ประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2524, แร่อิริเดียม-192 ซึ่งมีใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2535, รวมทั้ง แร่ โคบอลท์-60 ซึ่งมีใช้ในประเทศไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2501 สารรังสีหรือแร่ที่กล่าวมาแล้วจะอยู่ในสภาพของแข็ง และให้รังสีแกมม่าสำหรับรักษาโรคมะเร็ง นอกจากนั้นยังมีสารรังสีที่อยู่ในสภาพที่เป็นของเหลว เช่น สารไอโดดีน-131 ซึ่งมีใช้ในประเทศไทยตั้งแต่ พ.ศ. 2503 สำหรับวินิจฉัยและรักษาโรคของต่อมธัยรอยด์ เป็นต้น
โคบอลท์-60 และสารรังสีอื่นๆ มีความจำเป็นในทางการแพทย์อย่างไร ?
มีความจำเป็นมาก เพราะใช้รักษาโรคมะเร็งและถ้าโรคเป็นน้อยมะเร็งบางชนิดสามารถจะรักษาให้หายขาดได้จากการใช้รังสีรักษาเพียงวิธีเดียว และจะให้ผลการรักษาดีขึ้นเมื่อใช้รังสีร่วมกับการรักษาวิธีอื่น เช่น ร่วมกับการผ่าตัด หรือการใช้ยารักษามะเร็ง และในปัจจุบันนี้วงการแพทย์ทั่วโลก รวมทั้งในประเทศไทยก็ยังใช้รังสีรักษาโรคมะเร็งกันอยู่
โคบอลท์-60 และสารรังสีอื่นๆ มีอันตรายและน่ากลัวจริงหรือ?
คงเคยได้ยินวลีที่ว่า "รังสีมีคุณอนันต์ แต่ก็มีโทษมหันต์" เพราะรังสีนอกจากจะทำลายเซลล์มะเร็งแล้ว ยังสามารถทำลายเซลล์ปรกติของร่างกายได้ โดยเฉพาะเซลล์ที่มีการแบ่งตัวได้รวดเร็ว ได้แก่ เซลล์ในไขกระดูกซึ่งทำหน้าที่สร้างเม็ดเลือด, เซลล์ของรังไข่หรืออัณฑะ หรือเซลล์เยื่อบุทางเดินอาหาร เป็นต้น จะเห็นว่าในประเทศไทยมีการใช้สารรังสีในทางการแพทย์มากกว่า 60 ปี หรือมีการใช้โคบอลท์-60 มามากกว่า 40 ปีมาแล้ว แต่ก็ยังไม่ปรากฏข่าวที่เกิดอันตรายต่อผู้คนแม้แต่น้อย มีแต่ข่าวของประโยชน์ของสารรังสีเหล่านี้ เพราะผู้ที่ครอบครองและใช้สารเหล่านี้ต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ด้านรังสีอย่างเพียงพอไม่ว่าจะเป็นแพทย์, นักฟิสิกซ์การแพทย์, นักรังสีเทคนิก และพยาบาลด้านรังสี ที่จะตระหนักถึงอันตรายต่อร่างกายดังกล่าวแล้วและมีมาตรการอย่างเข้มงวดในการป้องกันอันตรายจากรังสี นอกจากนั้นการที่หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะมีสิทธิ์ ซื้อสารรังสีมาครอบครองไว้ใช้รักษาได้นั้น จะต้องได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ (พปส.) ที่จะต้องพิจารณาถึงความรู้และความสามารถของบุคลากร ความปลอดภัยของสถานที่ (หมายถึงความหนาของผนังห้อง, พื้นและเพดาน ที่ต้องได้มาตรฐานสามารถป้องกันรังสีทลุออกมาภายนอกได้ คือต้องเป็นคอนกรีตเสริมเหล็กหนาอย่างน้อย 50 ซม. ไม่ใช่การก่ออิฐถือปูน (ส่วนเวลาเก็บไม่ใช้งาน เช่น ในกรณีปลดระวางแล้ว ใช้ผนังธรรมดาได้ เพราะตัวแร่จะอยู่ในถ้ำกระโหลกหนา ป้องกันรังสีแผ่ออกมาอยู่แล้ว) เพราะขณะฉายรังสีรักษาผู้ป่วยตัวแร่จะต้องเคลื่อนออกมาอยู่ในตำแหน่งฉายรังสี ผนังห้องจึงต้องหนา และจะต้องออกแบบห้องเป็นพิเศษที่มิให้รังสีปฐมภูมิจากแร่โดยตรงมายังประตูได้, ประตูต้องบุด้วยตะกั่วหนา และต้องมีสัญญาณว่าปิดสนิทแล้ว แร่จึงสามารถเคลื่อนอยู่ในตำแหน่งที่ฉายรังสีได้ นอกจากการตรวจขั้นต้นก่อนที่จะได้รับอนุญาตให้ครอบครองโคบอลท์-60 แล้ว ยังต้องมีการตรวจเช็คเป็นระยะๆ ทั้งในด้านความเที่ยงตรงของเครื่องมือ และมาตรการการป้องกันอันตรายจากรังสี จาก 3 หน่วยงาน คือ คณะกรรมการพลังงานปรมาณูเพื่อสันติ กระทรวงวิทยาศาสตร์ และกองป้องกันอันตรายจากรังสี กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข และบุคลากรในหน่วยงานของสถาบันนั้นเองที่จะต้องมีการตรวจการรั่วไหลของรังสีเป็นระยะๆ และมีมาตรการปฏิบัติงานกับสารรังสีเพื่อการป้องกันอันตรายจากรังสีอย่างเข้มงวด
-มีต่อตอนที่ 2-