อาการนอนกรน (Snoring) และ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive sleep apnea) ตอนที่ 2

อาการนอนกรน (Snoring) และ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (Obstructive Sleep Apnea) ตอนที่ 2

รศ.นพ.ปารยะ   อาศนะเสน
สาขาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้
ภาควิชาโสต  นาสิก  ลาริงซ์วิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

การวินิจฉัย
           การวินิจฉัยแพทย์จำเป็นต้องอาศัย ประวัติ    การตรวจร่างกาย  และการตรวจพิเศษเพิ่มเติม

สำหรับการตรวจร่างกาย แพทย์จะให้ความสนใจในเรื่องต่อไปนี้
           • ลักษณะทั่วไปของคนไข้ ที่อาจมีภาวะส่งเสริมให้เกิดอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับได้ เช่น คอสั้น  อ้วน    น้ำหนักมาก    มีความผิดปกติในลักษณะโครงสร้างของใบหน้า
           • การตรวจทั่วไป ได้แก่การวัดความดันโลหิต วัดเส้นรอบวงคอ การตรวจการทำงานของหัวใจและปอด
           • การตรวจทางหู คอ จมูกอย่างละเอียด ซึ่งประกอบด้วยการตรวจในโพรงจมูก การตรวจหลังโพรงจมูก ช่องปาก คอหอย เพดานอ่อน ลิ้นไก่ ทอนซิล โคนลิ้นและกล่องเสียง
การตรวจพิเศษเพิ่มเติม  ได้แก่
           • การบันทึกเสียงหายใจขณะหลับ (sleep tape recording) ซึ่งมีประโยชน์ในเด็กที่มีอาการไม่ชัดเจน หรือผู้ปกครองไม่สามารถจะสังเกตการหายใจที่ผิดปกติได้     โดยให้ผู้ปกครองใช้เทปคาสเซทต์ (tape cassette) บันทึกเสียงกรน หรือเสียงหายใจของเด็กขณะหลับ ประมาณ 1 ชั่วโมง  
           • การตรวจการนอนหลับ(polysomnography) เป็นการตรวจที่มีความสำคัญมากในการวินิจฉัย และบอกความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ  โดยช่วยวินิจฉัยแยกภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการนอนกรนธรรมดา  และสามารถบอกคุณภาพของการนอนหลับว่าหลับได้ดีหรือไม่  มีความผิดปกติเกิดขึ้นในขณะนอนหลับหรือไม่   การตรวจการนอนหลับจะใช้เวลาตรวจช่วงกลางคืนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการนอนหลับในคนทั่วไป

การรักษา
1.   การรักษาโดยวิธีไม่ผ่าตัด (non-surgical treatment)
           1.1 ลดน้ำหนัก โดยการควบคุมอาหาร  และควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรงและเพิ่มความกระชับและความตึงตัวให้กับกล้ามเนื้อของทางเดินหายใจส่วนบน
           1.2 หลีกเลี่ยงยาหรือเครื่องดื่มที่มีฤทธิ์กดประสาทส่วนกลาง เช่น เครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์, ยานอนหลับ, ยากล่อมประสาท, ยาต้านฮีสตามีน (antihistamine) หรือยาแก้แพ้  ชนิดที่ทำให้ง่วง โดยเฉพาะก่อนนอน 
           1.3 การปรับเปลี่ยนท่าทางในการนอน เช่น ไม่ควรนอนในท่านอนหงาย  เนื่องจากจะทำให้เกิดการอุดกั้นทางเดินหายใจได้ง่ายกว่าการนอนในท่าตะแคง
           1.4 การใช้เครื่องมือช่วยให้ทางเดินหายใจกว้างขึ้น หรือไม่อุดกั้นขณะนอนหลับที่เรียกว่า continuous positive airway pressure (CPAP) เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่มีอาการของภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่รุนแรงและไม่เหมาะที่จะรักษาด้วยการผ่าตัด  โดยเป็นการนำหน้ากาก (mask) ครอบจมูกขณะนอนหลับ  ซึ่งหน้ากากนี้จะต่อเข้ากับเครื่องที่สามารถขับลมซึ่งมีแรงดันเป็นบวกออกมา ลมที่ขับออกมาขณะนอนหลับจะช่วยค้ำยัน (pneumatic splint)  ไม่ให้ทางเดินหายใจเกิดการอุดกั้นขณะหายใจเข้า        

2.   การรักษาโดยวิธีผ่าตัด (surgical treatment)
           จุดประสงค์ของการผ่าตัดคือ เพิ่มขนาดของทางเดินหายใจส่วนบนให้กว้างขึ้น  และแก้ไขลักษณะทางกายวิภาคที่ผิดปกติ   ซึ่งนำไปสู่การอุดกั้นในระบบทางเดินหายใจ มีข้อบ่งชี้ คือ

           1.  มีความผิดปกติทางกายวิภาค (anatomical abnormalities) ที่เป็นสาเหตุ   ทำให้เกิดอาการนอนกรนหรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 
           2.  มีผลกระทบต่อชีวิตส่วนตัวและสังคมมาก เช่น ประสิทธิภาพในการทำงานลดลงมาก   เสียงกรนรบกวนคู่นอนมาก ทำให้นอนไม่หลับ
           3. ล้มเหลวจากการรักษาโดยใช้วิธีไม่ผ่าตัด  โดยผู้ป่วยยังมีอาการกรน หรือภาวะหยุดหายใจขณะหลับอยู่  และ/หรือ มีโรคแทรกซ้อนเกิดขึ้นกับระบบต่างๆของร่างกาย
หลักการคือแพทย์จะหาสาเหตุของการเกิดอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับของผู้ป่วย และให้การรักษาตามสาเหตุนั้น  การผ่าตัดรักษาซึ่งทำกันบ่อย ได้แก่
           2.1 ในกรณีของเด็กมักมีการอุดกั้นทางเดินหายใจในระดับคอหอย ซึ่งเกิดจากการมีต่อม  
ทอนซิลและอดีนอยด์ที่โตผิดปกติ ดังนั้นการผ่าตัดเอาต่อมทอนซิลและอดีนอยด์ออกจะทำให้อาการอุดกั้นทางเดินหายใจดีขึ้นมาก
           2.2 ในผู้ป่วยผู้ใหญ่ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้น มากกว่าร้อยละ 90 มีการอุดกั้นทางเดินหายใจบริเวณเพดานอ่อน ทอนซิล ลิ้นไก่ และโคนลิ้น ซึ่งมักเกิดจากกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณดังกล่าวนี้มีการผ่อนคลายหรือหย่อนยานมากกว่าปกติ หรือมีปริมาณเนื้อเยื่อที่มากเกินไป การผ่าตัดแก้ไขสาเหตุดังกล่าวนี้มีหลายวิธี แต่วิธีที่นิยมกัน ได้แก่ การผ่าตัดตกแต่งกล้ามเนื้อและเนื้อเยื่ออ่อนบริเวณดังกล่าวให้ตึงและกระชับขึ้น (uvulopalatopharyngoplasty  : UPPP)  ซึ่งจะช่วยเปิดทางเดินหายใจส่วนบนให้โล่งขึ้น ซึ่งการผ่าตัดแบบนี้สามารถทำได้หลายวิธี ได้แก่ การผ่าตัดด้วยเครื่องจี้ไฟฟ้า การผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์(laser-assisted uvulopalatoplasty)  นอกจากนั้นยังมีการผ่าตัดด้วยคลื่นความถี่วิทยุ (radiofrequency volumetric tissue reduction :RFVTR) โดยการส่งคลื่นความถี่สูงให้เปลี่ยนเป็นพลังงานความร้อนเพื่อสลายเนื้อเยื่อในทางเดินหายใจที่มีมากเกินไป และจะทำให้เกิดเนื้อเยื่อพังผืด เกิดการหดและลดปริมาตรของเนื้อเยื่อ
           2.3 กรณีเกิดจากการอุดกั้นในระดับจมูกจากก้อนในโพรงจมูก ผนังกั้นจมูกคด หรือโพรงจมูก และ/หรือ ไซนัสอักเสบ การผ่าตัดรักษาสาเหตุเหล่านั้นก็จะช่วยบรรเทาให้อาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับดีขึ้น

           อย่างไรก็ตามในผู้ป่วยบางรายอาการนอนกรนและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อาจเกิดจากหลายสาเหตุ ดังนั้นการทำผ่าตัดแก้ไขจุดใดจุดหนึ่งเพียงอย่างเดียว    อาจไม่ช่วยให้อาการดีขึ้นมากนัก และการรักษาที่เหมาะสมนั้น นอกจากขึ้นกับสาเหตุที่ตรวจพบแล้ว ยังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ในผู้ป่วยแต่ละรายด้วย เช่น สุขภาพโดยทั่วไปของผู้ป่วย, ภาวะแทรกซ้อนของภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่มีผลต่อระบบต่างๆของร่างกาย, โรคประจำตัว, สภาพเศรษฐานะและสังคมของผู้ป่วย เป็นต้น   ดังนั้นเมื่อบุคคลในบ้านของท่านหรือตัวท่านเอง มีหรือสงสัยว่ามีอาการนอนกรน และ/หรือ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัย   ตรวจหาสาเหตุของโรค ประเมินความรุนแรง และพิจารณาแนวทางรักษาที่เหมาะสมต่อไป  การให้การรักษาอย่างถูกต้องตั้งแต่ระยะแรก  จะช่วยให้อัตราการตายลดลง และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น

 

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด