SyErythematosus Lupusstemic SLE, เอส แอล อี

SyErythematosus Lupusstemic SLE, เอส แอล อี

รศ.พญ.สุมาลี นิมมานนิตย์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            SLE เป็นที่พบได้ค่อนข้างบ่อยในประเทศไทย และมักมีความรุนแรงมาก โดยเฉพาะเมื่อมีอาการทางไตร่วมด้วย โรคนี้มีอาการและอาการแสดง, การดำเนินโรค, การตอบสนองต่อการรักษาและการพยากรณ์โรคได้หลากหลาย โรคนี้เกิดจากมีความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้มีการสร้างภูมิต่อต้านหลายชนิดต่อเซลล์และส่วนประกอบต่าง ๆ ของเซลล์ของตนเอง มีผลทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อและอวัยวะต่าง ๆ ทั่วตัว ผู้ป่วยจึงมีอาการได้มากมายหลายอย่างเพราะระบบต่าง ๆ ทั่วร่างกายเกิดความผิดปกติได้เกือบหมด

กลไกลการเกิดโรค
            กลไกการเกิดโรคที่แน่นอนยังไม่เป็นที่ทราบแน่ชัด แต่จากการศึกษาพบว่าปัจจัยทั้งด้านพันธุกรรมและสิ่งแวดล้อมมีส่วนและบทบาทร่วมกันในการก่อโรค
            ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน แต่การที่เพศหญิงวัยเจริญพันธุ์เป็นโรคนี้มากกว่าเพศชายถึง 9-13 เท่า การที่อัตราการเกิดโรคของหญิงต่อชายลดลงก่อนและหลังมีประจำเดือน ช่วงมีประจำเดือนมีการเปลี่ยนแปลงของความรุนแรงของโรค การที่โรคกำเริบขึ้นในช่วงหลังของการตั้งครรภ์และหลังคลอด บ่งชี้ว่าฮอร์โมนเพศ น่าจะมีบทบาทต่อการเกิดโรคนี้ จากการศึกษาพบว่าฮอร์โมนเพศหญิงส่งเสริมการเกิดโรคนี้ในสัตว์ทดลอง ส่วนฮอร์โมนเพศชายลดการเกิดโรค สำหรับปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่กระตุ้นให้เกิดโรค หรือทำให้โรคที่เป็นอยู่กำเริบ มี แสงอัลตราไวโอเล็ต สารเคมีบางชนิด เช่น น้ำยาย้อมผม และยาบางอย่าง นอกจากนั้นเชื้อโรคต่าง ๆ ก็อาจกระตุ้นให้โรคกำเริบได้เช่นกัน

อาการ
            อาการของโรคมีได้ตั้งแต่ไม่มีอาการหรือมีน้อยมากแค่รู้สึกอ่อนเพลีย จนถึงมีอาการรุนแรงมาก หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีจะถึงแก่กรรมได้ อาการอาจเกิดขึ้นทีละอย่าง หรือ หลายอย่างหรือเกิดขึ้นพร้อมกันหมดก็ได้ ระบบที่มีความผิดปกติที่พบบ่อย คือ ผิวหนัง, ข้อ และไต อาการมีดังต่อไปนี้

อาการทั่วไป
            อาการทั่วไป มี อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร น้ำหนักตัวลดลง ครั่นเนื้อครั่นตัว มีไข้ เป็น ๆ หาย ๆ

อาการทางผิวหนัง
            อาการทางผิวหนัง มี ผื่นแดงที่หน้าบริเวณโหนกแก้ม แพ้แดด ผมร่วง แผลที่ริมฝีปากและข้างในปาก ลมพิษ จุดแดงตามผิวหนังโดยเฉพาะที่ปลายนิ้วมือนิ้วเท้า ปวดปลายนิ้วมือเท้าเวลาถูกความเย็น เป็นต้น

อาการทางระบบข้อ กล้ามเนื้อ และกระดูก
            อาการทางข้อมักเริ่มด้วยอาการปวดอย่างเดียวก่อน ต่อมาจึงมีบวม แดง และร้อน เป็นได้กับข้อต่าง ๆ ทั่วตัว แล้วตามด้วยอาการข้อแข็งตอนเช้า พบข้อพิการประมาณร้อยละ 10 สำหรับกล้ามเนื้อและกระดูก พบ มีอาการปวดกล้ามเนื้อ กล้ามเนื้ออักเสบ และกระดูกเสื่อม

อาการทางไต
            อาการทางไตพบได้บ่อย มี บวม ปัสสาวะเป็นเลือด ปัสสาวะน้อยลง และอาการที่เกิดจากภาวะไตวาย ซึ่งในบางกรณีเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจนเป็นสาเหตุตายได้

อาการทางระบบประสาท
            เป็นที่ทราบกันดีว่าผู้ป่วยโรคนี้มักมีอาการทางระบบประสาท ซึ่งมีได้หลายอย่างตั้งแต่ปวดศีรษะ ชัก ซึมจนถึงหมดสติได้ นอกจากนั้นก็อาจมีเลือดออกในสมอง อัมพฤกษ์ และอัมพาต
            ส่วนทางด้านจิตใจก็มีการเปลี่ยนแปลงด้วย อาจมีอาการซึมเศร้า สับสนจนพูดไม่รู้เรื่อง

อาการทางเลือด
            จากการที่มีภูมิต่อต้านเม็ดเลือดชนิดต่าง ๆ ทำให้มีการทำลายเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด ทำให้เกิดอาการซีด ติดเชื้อง่ายเพราะเม็ดเลือดขาวลดลง และเลือดออกง่ายเพราะเกร็ดเลือดลดลง

อาการทางหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด
            อาการที่พบมีหอบเหนื่อยนอนราบไม่ได้จากภาวะหัวใจล้มเหลว ชีพจรเต้นผิดจังหวะจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และอาจมีอาการเจ็บตื้อที่หน้าอกด้านซ้ายจากล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งเกิดจากมีพยาธิสภาพที่หลอดเลือดที่เลี้ยงหัวใจ นอกจากนั้นอาจพบว่ามีความดันโลหิตสูง

อาการทางระบบทางเดินหายใจ
            อาจพบอาการเหนื่อย เจ็บเสียวหน้าอก ไอ อาการของทางระบบทางเดินหายใจนี้ แม้จะพบไม่บ่อยแต่ก็มีความสำคัญ ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจเป็นสาเหตุตายได้

อาการทางระบบทางเดินอาหาร
            มีอาการปวดท้องซึ่งอาจเกิดจากมีการอักเสบของลำไส้หรือตับอ่อนก็ได้ นอกจากอาการต่าง ๆ ดังกล่าวแล้ว ยังอาจมีอาการตาแห้ง ปากแห้งด้วยอาการต่าง ๆ อาจเกิดทีละอย่าง อย่างไหนก่อนก็ได้หรืออาจเกิดพร้อมกันหลายอย่างก็ได้

การวินิจฉัย
            เอส. แอล. อี เป็นโรคที่วินิจฉัยยาก เพราะมีอาการมากมาย และอาการต่าง ๆ ยังเหมือนกับโรคอื่นๆ ด้วยโดยเฉพาะในระยะแรกของโรค การวินิจฉัยต้องอาศัยประวัติ การตรวจร่างกาย และการตรวจเลือด ซึ่งอาจต้องทำซ้ำหลายครั้งจึงจะทราบ

การรักษา
            ยาที่ใช้ในการรักษามีหลายอย่าง การเลือกใช้ยาทั้งชนิดและขนาดขึ้นกับความรุนแรงของโรค โดยทั่วไปแพทย์จะเลือกใช้ยาที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน ในขณะที่โรคกำลังรุนแรงต้องใช้ยาขนาดสูงและอาจต้องใช้ยาหลายชนิด บางครั้งอาจเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ แต่ก็ยังคงต้องให้ยาเพราะมิฉะนั้นผู้ป่วยอาจเสียชีวิตจากโรคได้ โรคนี้ถ้ารักษาเต็มที่จนโรคสงบสามารถลดยาและขนาดยาลงได้ ผู้ป่วยสามารถทำงานได้ตามปกติและมีคุณภาพชีวิตที่ดี
            การปฏิบัติตนของผู้ป่วยมีความสำคัญมากต่อผลการรักษา ผู้ป่วยควรต้องหลีกเลี่ยงไม่ให้ถูกแดดเพราะจะทำให้โรคกำเริบ และต้องรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง ไม่ควรขาดยาหรือหยุดยาเองเป็นอันขาด ไม่ควรซื้อยากินเองเพราะจะเกิดอันตรายได้ ควรมาติดต่อรักษาตามแพทย์นัด สำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์หากต้องการมีบุตรควรปรึกษาแพทย์ก่อน
            นอกจากนั้นสิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือสภาพจิตใจของผู้ป่วย จิตใจที่สงบจะช่วยให้ความรุนแรงของโรคลดลง

ข้อควรทราบเกี่ยวกับการตั้งครรภ์
    
       ผู้ป่วยโรคนี้มีบุตรได้หรือไม่ ถ้าได้ เมื่อไรจึงจะตั้งครรภ์ได้ และระหว่างตั้งครรภ์ต้องปฏิบัติอย่างไร ปัจจุบันการรักษาโรคนี้ได้ผลดีขึ้น อัตราตายลดลงแม้จะมีโรคที่ไตด้วย เมื่อโรคสงบผู้ป่วยสามารถตั้งครรภ์และมีบุตรได้ แต่ควรรอจนโรคสงบต่อเนื่องกันเป็นเวลานานหลาย ๆ เดือน หรือ 1-2 ปี และควรทราบว่ายังอาจเกิดอันตรายต่อทั้งแม่และทารกได้ ดังนั้นผู้ป่วยและญาติโดยเฉพาะสามีควรไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนตัดสินใจว่าจะมีบุตรหรือไม่ ระหว่างตั้งครรภ์ต้องมาตรวจบ่อย ๆ อย่างสม่ำเสมอโดยเฉพาะในช่วง 3 เดือน หลังจะต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดเพราะเป็นช่วงที่โรคมักกำเริบ ถ้าพบว่าโรคกำเริบ หรือมีความดันโลหิตสูง หรือไตทำงานลดลง อาจต้องพิจารณาทำแท้ง

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด