การตรวจเต้านมด้วย อัลตราซาวด์ กับ แมมโมแกรม ต่างกันอย่างไร

การตรวจเต้านมด้วยอัลตราซาวด์ กับแมมโมแกรมต่างกันอย่างไร

รศ.นพ.อดุลย์ รัตนวิจิตราศิลป์
ภาควิชาศัลยศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

การตรวจโรคของเต้านม
            เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับเต้านม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเจ็บเต้านม มีก้อนที่เต้านม มีแผลที่หัวนม หรือ มีน้ำไหลจากหัวนม มักจะต้องพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าจะมีความผิดปกติในเต้านมหรือไม่ หรือแม้แต่ในคนที่ปกติ แต่เมื่อมีความเสี่ยงที่จะมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้น เช่น อายุมากขึ้น แพทย์ก็จะแนะนำให้ทำการตรวจเต้านม เพราะหากสามารถพบความผิดปกติของเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก การรักษาต่างๆ ก็จะไม่ยุ่งยาก และได้ผลดี
 
วิธีการตรวจหาความผิดปกติของเต้านม แบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ ได้ 3 กลุ่มคือ
           1. การตรวจเต้านมด้วยการคลำ สุภาพสตรีทุกท่านสามารถคลำเต้านมตนเองได้ และ หากไม่แน่ใจ ให้แพทย์เป็นผู้คลำเต้านม เพื่อประเมินความผิดปกติ ซึ่ง อาจพบก้อนที่เต้านมหรือต่อมน้ำเหลืองที่รักแร้ หรืออาจพบจุดกดเจ็บที่เต้านม
           2. การตรวจทางรังสี ด้วยเครื่องแมมโมแกรม(mammogram) หรือ อัลตราซาวด์(ultrasound)
           3. การใช้เข็มเจาะก้อนที่เต้านม เพื่อนำเซลล์ของเต้านม หรือ เนื้อเยื่อเต้านม เพื่อส่งตรวจทางพยาธิวิทยา

การตรวจแมมโมแกรม
            การตรวจแมมโมแกรม เป็นการตรวจทางรังสี ชนิดหนึ่ง คล้ายกับการเอกซเรย์ แต่เครื่องตรวจแมมโม-แกรม จะเป็นเครื่องเฉพาะ ที่ใช้ปริมาณรังสีน้อยกว่าเครื่องเอกซเรย์ทั่วไป แต่มีความสามารถในการตรวจที่ละเอียดกว่ามาก ในการตรวจแมมโมแกรม โดยทั่วไป จะฉายรูปเต้านมด้านละ 2 รูป โดยการบีบเนื้อนมเข้าหากัน และ ถ่ายรูปจากด้านบน และ ด้านข้างอย่างละหนึ่งรูป รวมการตรวจแมมโมแกรมในระบบมาตรฐาน 4 รูป ในกรณีที่พบจุดสงสัย อาจมีการถ่ายรูปเพิ่มหรือ ขยายรูป เพื่อให้เกิดความชัดเจน         

            สิ่งที่แมมโมแกรม สามารถตรวจพบ และดีกว่าการตรวจวิธีอื่น ก็คือ สามารถเห็นจุดหินปูนในเต้านม ซึ่งในบางครั้ง มะเร็งเต้านม อาจมีขนาดเล็กมาก คลำก็ไม่พบ ตรวจอัลตราซาวด์ก็ไม่พบ สามารถตรวจพบได้เฉพาะในการตรวจแมมโมแกรมเท่านั้น ดังนั้น แมมโมแกรม จึงมีประโยชน์ในการตรวจหามะเร็งเต้านมขนาดเล็ก

การตรวจอัลตราซาวด์
            การตรวจอัลตราซาวด์ เป็นการตรวจโดยการส่งคลื่นเสียงความถี่สูง เข้าไปในเนื้อเต้านม เมื่อคลื่นเสียงกระทบกับเนื้อเยื่อต่างๆ จะสะท้อนกลับขึ้นมาที่เครื่องตรวจ ซึ่งจะตรวจจับความแตกต่างของเนื้อเยื่อได้ คล้ายกับการตรวจด้วยเรดาร์ ทำให้สามารถแยกเนื้อเยื่อเต้านมปกติ กับก้อนในเต้านมได้ นอกจากนี้ ยังสามารถบอกได้ว่าก้อนที่พบในเนื้อเต้านมนั้น มีองค์ประกอบเป็นน้ำ หรือ เป็นก้อนเนื้อ ในกรณีที่เป็นน้ำ ก็ค่อนข้างจะสบายใจเพราะไม่เหมือนมะเร็ง แต่หากเป็นก้อนเนื้อ อัลตราซาวด์ จะช่วยบอกว่าก้อนเนื้อนั้นมีขอบเขตที่ดูเรียบร้อย หรือดูค่อนไปทางเป็นเนื้อร้าย แมมโมแกรม และ อัลตราซาวด์ ดีไปคนละอย่าง
            การตรวจด้วยแมมโมแกรม และ อัลตราซาวด์ มีข้อดีกันคนละอย่าง บางครั้งการตรวจอย่างใดอย่างหนึ่งจะได้ประโยชน์มากกว่า แต่บางครั้ง การตรวจทั้ง 2 อย่างก็จะช่วยเสริมให้การวินิจฉัยโรคได้ดีขึ้น
            การตรวจแมมโมแกรม จะมีประโยชน์มากในการตรวจหามะเร็งเต้านม ขนาดเล็ก เพราะสามารถตรวจได้ตั้งแต่ยังคลำก้อนไม่พบ แต่ประโยชน์นี้ จะใช้ได้ดีในคนที่เริ่มสูงอายุ (มากกว่า 40 ปี) ซึ่งเนื้อเต้านมไม่หนาแน่นมาก การตรวจแมมโมแกรม จะเห็นรายละเอียดได้มาก แต่ในคนอายุน้อย ก็แปลผลแมมโมแกรมยาก และ ในกรณีที่พบก้อน ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าก้อนนั้นเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ
            ส่วนการตรวจอัลตราซาวด์ ถึงแม้ว่า จะสามารถตรวจหาจุดหินปูน ซึ่งเป็นสัญญาณของมะเร็งเต้านม สู้การใช้แมมโมแกรมไม่ได้ แต่กีมีข้อเด่นที่สามารถใช้ในคนอายุน้อย อีกทั้งยังสามารถช่วยวินิจฉัยว่าก้อนต่างๆในเต้านมเป็นน้ำหรือเป็นก้อนเนื้อ ทำให้การวางแผนการรักษาเป็นไปได้ง่ายขึ้น

เลือกตรวจวิธีไหนดี
            การจะเลือกตรวจด้วยวิธีใดหรือไม่นั้น แพทย์ผู้รักษาจะใช้อาการและสิ่งที่ตรวจพบจากการตรวจร่างกาย เป็นข้อมูลเบื้องต้น ในการวางแผนสำหรับการตรวจต่อไป แต่ในภาวะที่ไม่มีโรคหรือความผิดปกติใดๆเลย แนะนำว่า สุภาพสตรีที่มีอายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจแมมโมแกรม ปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจเช็คหามะเร็งเต้านม

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด