เรามารู้จักเลเซอร์กันเถอะ
เรามารู้จักเลเซอร์กันเถอะ
ภาควิชาตจวิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
LASER ย่อมาจาก Light Amplification by Stimulated Emission of Radiation
ลำแสงเลเซอร์ แตกต่างจากแสงที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน คือ แสงเลเซอร์เป็นแสงที่มีพลังงานสูงและมีความยาวคลื่นเดียว เดินทางเป็นเส้นตรงให้พลังงานออกมาในทิศทางเดียวกันและเครื่องเลเซอร์สามารถรวมแสง ให้ตกในบริเวณเล็ก ๆ ทำให้พลังงานของแสงเลเซอร์ที่ตกลงบริเวณนั้นสูงมาก
เลเซอร์ได้ถูกนำมาใช้ในวงการแพทย์ผิวหนังในปี ค.ศ.1963 หลังจากนั้นได้มีการศึกษา และพัฒนาการนำเลเซอร์ชนิดใหม่ ๆ มาใช้ในการรักษาโรคผิวหนัง ซึ่งให้ผลดีและมีความปลอดภัยสูง เลเซอร์มีหลายชนิด แต่ละชนิดมีคุณสมบัติต่างกัน แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาเลือกใช้ตามความเหมาะสมกับโรคของผู้ป่วย การใช้เลเซอร์ผิดประเภท นอกจากจะไม่ได้ผลในการรักษาแล้ว ยังทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้
สำหรับภาควิชาตจวิทยา (ผิวหนัง) โรงพยาบาลศิริราช ใช้คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ และ Q-switched Nd:YAG ในการรักษาโรคผิวหนัง เช่น โรคเนื้องอกบางชนิด หูด ไฝ กระเนื้อ โรคของเม็ดสีผิวหนังที่อยู่ในชั้นหนังกำพร้า และชั้นหนังแท้ เช่น ปานดำ ปานโอตะ
โรคผิวหนังที่สามารถรักษาด้วยเลเซอร์
1. โรคเส้นเลือดของผิวหนัง เช่น ปานแดง
2. โรคของเม็ดสีผิวหนัง เช่น ไฝ ปานดำ
3. การลดรอยสัก
4. การรักษาหูด
5. การรักษาแผลเป็น เช่น แผลเป็นจากการผ่าตัดจากอุบัติเหตุ
6. การขัดหน้าลดรอยเหี่ยวย่น
7. การกำจัดขน
ข้อดี
1.ไม่ทำลายเนื้อเยื่อที่มีบริเวณรอบ ๆ แผลที่ผ่าตัด
2.โอกาสเกิดแผลเป็น จากการใช้เลเซอร์มีน้อยมาก
3.ลดอัตราการเกิดการติดเชื้อที่แผลผ่าตัด
4.แผลจะหายเร็วกว่าการรักษาด้วยการผ่าตัดด้วยใบมีด
5.เป็นการผ่าตัดที่มีเสียเลือดหรือเสียงน้อยมาก
6.ลดความเจ็บปวดเนื่องจากแสงเลเซอร์ช่วยปิดปลายเส้นประสาทของเนื้อเยื่อที่ถูกตัดขาด
คำแนะนำก่อนทำเลเซอร์
1.ผู้ป่วยควรปรึกษาแพทย์หรือพยาบาลให้เข้าใจเกี่ยวกับการทำเลเซอร์เพื่อลดความกลัวและความวิตกกังวล
2.ไม่ควรรับประทานยาแก้ปวด ในกลุ่มแอสไพรินอย่างร้อย 10 วัน ก่อนวันนัดทำเลเซอร์เพื่อป้องกันการมีเลือดออกง่าย
3.ถ้ามีโรคประจำตัวหรือมีประวัติการแพ้ยาต่าง ๆ ควรบอกให้แพทย์ทราบก่อนนัดทำเลเซอร์
4.ถ้าผู้ป่วยอายุต่ำกว่า 18 ปี ต้องมีผู้ปกครองมาในวันนัดทำผ่าตัด เพื่อเซ็นอนุญาตให้ทำผ่าตัดผู้ป่วยได้
5.ขณะทำเลเซอร์ ผู้ป่วยควรสวมแว่นตากันแสงเลเซอร์ โดยเฉพาะเพื่อป้องกันอันตรายจากแสงเลเซอร์ต่อกระจกตาหรือตาดำได้
6.แผลหลังทำเลเซอร์ไม่ควรให้ถูกแสงแดดโดยตรง ถ้าเลี่ยงไม่ได้ควรนำร่มหรือหมวกมาในวันนัดทำเลเซอร์ด้วย
คำแนะนำหลังการทำเลเซอร์
1. แผลขนาดเล็ก เช่น ไฝ สามารถถูกน้ำได้แล้วซับแผลให้แห้งด้วยผ้าสะอาด ควรทำความสะอาดแผลวันละ 2 ครั้ง เช้า ก่อนนอน ด้วยน้ำเกลือ (normal saline) ซับแผลให้แห้งแล้วทาครีมปฏิชีวนะ
2. แผลขนาดใหญ่ เช่น การลบรอยย่น รอยตีนกา ไม่ควรให้แผลถูกน้ำใน 2-3 วันแรก ควรทำความสะอาดแผลวันละ 3-4 ครั้ง เช้า กลางวันเย็นและก่อนนอน โดยประคบแผลด้วยน้ำเกลือ นานครั้งละ 10-15 นาที แล้วทาครีมปฏิชีวนะหรือขี้ผึ้งวาสลิน ควรทำติดต่อกันอย่างน้อย 3-4 วัน หลังผ่าตัดช่วยทำให้แผลหายเร็วขึ้น (ไม่ควรใช้ แอลกอฮอล์ เช็ดแผล ที่ทำเลเซอร์)
3. ถ้าพบว่ามีผื่นแดงเกิดขึ้นบริเวณแผลหรือรอบ ๆ แผลหลังทายาปฏิชีวนะ ให้หยุดยาทันทีและมาพบแพทย์ อาจเป็นอาการของการแพ้ยาปฏิชีวนะได้
4. ถ้าแผลมีเลือดออก ให้นั่งหรือนอนแล้วใช้ผ้าสะอาดกดแผลนานประมาณ 20 นาที ถ้าเลือดไม่หยุดไหลให้รีบมาพบแพทย์
5. แผลอาจบวมแดงได้ หลังการทำเลเซอร์โดยเฉพาะบริเวณเปลือกตา อาจใช้ผ้าห่อน้ำแข็งประคบบริเวณที่บวมนาน 15-20 นาที ไม่ควรประคบที่เดียวนาน ๆ ควรสลับที่กัน ควรทำใน 24 ชั่วโมง แรกหลังผ่าตัด และนอนหนุนหมอนสูงเพื่อช่วยให้ยุบบวมได้เร็วขึ้น อาการบวมจะหายภายใน 3-7 วัน
6. ถ้าปวดแผล ให้รับประทานยาแก้ปวด พาราเซตามอล (paracetamol) 500 มิลลิกรัม 1-2 เม็ดทุก 4-6 ชั่วโมง หลีกเลี่ยงการรับประทานยาพวกแอสไพริน เพราะอาจทำให้เลือดออกได้ง่าย
7. ในเวลา 2-3 วันแรกหลังผ่าตัดแผลยังไม่หายดี ไม่ควรใช้ครีมล้างหน้า หรือใช้เครื่องสำอางตรงบริเวณแผล เมื่อแผลแห้งสนิทดีแล้วสามารถใช้ยากันแดดที่มีค่า SPF มากกว่า 30 จะช่วยป้องกันแผลไม่ให้เกิดสีคล้ำมากขึ้น
8. หลังทำผ่าตัด 3-5 วันแผลจะเริ่มแห้ง และตากสะเก็ดไม่ควรแกะลอก ควรให้ลอกหลุดเองหลังสะเก็ดหลุดจะพบว่าผิวหนังบริเวณนั้นจะมีสีแดง ไม่ต้องกังวลเนื่องจากเส้นเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณนั้นขยายตัวมากขึ้นเพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น ต่อมาบริเวณนั้นจะเปลี่ยนเป็นสีคล้ำขึ้น โดยเฉพาะเมื่อถูกแสงแดด แต่สีที่คล้ำนี้จะค่อย ๆ หายไปได้ แต่ต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน แพทย์อาจให้ยาลบรอยดำ ซึ่งต้องพิจารณาเป็นราย ๆ บางครั้งผู้ป่วยอาจใช้ยากันแดดทาหรือใช้ร่มเพื่อป้องกันแสงแดด