หืด - โรคทรมาน ตอนที่1
หืด - โรคทรมาน (ตอนที่1)
ภาควิชาโสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคหืด เป็นโรคที่พบบ่อยทั้งเด็กและผู้ใหญ่ และมีแนวโน้มที่จะพบเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ข้อมูลของสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยแจ้งว่า ในปี พ.ศ. 2545 มีผู้ป่วยโรคหืดในประเทศไทย 3 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 5 ของประชากรทั่วไป ในขณะที่ประเทศแถบยุโรปตะวันตกซึ่งเป็นแถบที่ถือว่ามีความชุกของโรคหืดสูงสุดในโลก พบว่า เด็กร้อยละ 10-15 และผู้ใหญ่ร้อยละ 8.4 เป็นโรคหืด โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2-4 ต่อปีในรอบ 15 ปีที่ผ่านมา
ในประเทศไทยได้มีรายงานการสำรวจความชุกของโรคหืดตีพิมพ์เป็นระยะ ในผู้ใหญ่รายงานปี 2518 พบเพียงร้อยละ 2.4 ปี 2538 พบร้อยละ 4.8 ต่อมาในปี 2541 พบผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ว่าเป็นโรคหืดร้อยละ 8.8 โดยร้อยละ 10 ยังคงมีอาการหอบหืดอยู่ในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา การศึกษาล่าสุดตีพิมพ์ปี 2547 ในผู้ใหญ่อายุ 20-44 ปี ที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ 4 เมือง คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ขอนแก่น และสงขลา พบความชุกของผู้ที่เคยมีอาการหอบหืดร้อยละ 10.8 ขณะนี้ยังมีอาการหอบหืดอยู่ ร้อยละ 6.8 โดยผู้ที่อยู่ในกรุงเทพมหานครมีความชุกของโรคหืดสูงสุด คือ ผู้ที่เคยมีอาการหอบหืด ร้อยละ 13.6 และผู้ที่ยังมีอาการหอบหืดอยู่ ร้อยละ 9.4
รายงานการศึกษาในเด็กที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ปี 2541 พบเด็กที่เคยมีอาการหอบหืด ร้อยละ 18.3 และขณะนี้ยังมีอาการหอบหืดอยู่ ร้อยละ 12.7 ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับรายงานการศึกษาในปี 2533 พบว่าโรคหืดมีอัตราความชุกเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า จะเห็นได้ว่า อัตราการเป็นโรคหืดของเด็กและผู้ใหญ่ในบ้านเราไม่แตกต่างจากประเทศทั่วโลก และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกันด้วย จึงสมควรที่จะทำความรู้จักและพยายามรักษาป้องกันโรคนี้ให้ดียิ่งขึ้น
โรคหืดเกิดจากการอักเสบเรื้อรังของหลอดลม ทำให้หลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้น เกิดอาการหดเกร็งของหลอดลม มีการหลั่งมูกในหลอดลมเพิ่มขึ้นและผนังหลอดลมบวม เป็นผลให้มีอาการของหลอดลมตีบแคบ ซึ่งอาการเหล่านี้อาจทุเลาได้เองหรือโดยใช้ยา
สาเหตุ
พบว่ามีหลายปัจจัยเกี่ยวข้อง ปัจจัยที่สำคัญที่สุด คือ โรคภูมิแพ้ โดยเด็กที่เป็นหืด ร้อยละ 80 เป็นโรคภูมิแพ้ แต่ผู้ใหญ่ที่เป็นโรคหืดมีเพียงร้อยละ 50 ที่เป็นโรคภูมิแพ้ ดังนั้นปัจจัยเสี่ยงของเด็กที่จะเป็นโรคหืดคือเรื่องของพันธุกรรม เพราะโรคภูมิแพ้เป็นโรคที่สามารถถ่ายทอดได้เป็นกรรมพันธุ์ พบว่า เด็กที่เกิดในครอบครัวที่มีพ่อและ/หรือแม่ หรือญาติใกล้ชิดเป็นโรคหืด หรือโรคภูมิแพ้ชนิดใดชนิดหนึ่ง มีโอกาสที่จะเป็นโรคหืดสูงกว่าเด็กที่เกิดในครอบครัวที่ไม่เป็นโรคภูมิแพ้
อีกปัจจัยเกี่ยวข้องที่สำคัญ คือ สิ่งแวดล้อม สำหรับผู้ป่วยโรคหืดที่เกิดจากสาเหตุภูมิแพ้ การอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีสารก่อภูมิแพ้เป็นเวลานาน จะทำให้ผู้ป่วยเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ต่อสารนั้นและทำให้เกิดอาการหอบหืดขึ้นมาได้ สารก่อภูมิแพ้ที่พบมีผู้แพ้บ่อย ได้แก่ ตัวไรในฝุ่นบ้าน, แมลงสาบ, สัตว์เลี้ยงที่มีขน ซึ่งเป็นสารก่อภูมิแพ้ภายในอาคาร/บ้านที่อยู่อาศัย ส่วนภายนอกบ้าน ได้แก่ ละอองเกสรหญ้า วัชพืช ดอกไม้ชนิดต่าง ๆ และเชื้อรา ซึ่งเชื้อรานี้พบได้ทั้งภายในบ้านและภายนอกบ้าน
สารระคายและมลพิษที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมากก็สามารถกระตุ้นให้ผู้ป่วยที่เป็นโรคหืดทั้งชนิดที่เกิดจากโรคภูมิแพ้ และชนิดที่ไม่ได้เกิดจากภูมิแพ้มีอาการหอบหืดขึ้นได้ สารระคายที่พบบ่อย ได้แก่ ควันบุหรี่ ควันท่อไอเสียรถ ก๊าซ และกลิ่นฉุน ๆ นอกจากนั้นในงานอาชีพบางชนิด พบได้ทั้งสารก่อภูมิแพ้และสารระคาย เช่น ผู้ที่ทำงานในโรงงานต่าง ๆ ดังนั้น สิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวผู้ป่วยจึงมีได้ทั้งสารก่อภูมิแพ้ สารระคาย และมลพิษที่พบมากในเมืองใหญ่ที่มีความเจริญตามอย่างซีกโลกตะวันตก
ปัจจัยอื่นที่ถือเป็นเหตุเสริมให้ผู้ป่วยโรคหืดเกิดมีอาการหอบหืดขึ้นมา หรือถ้ามีอาการหอบหืดอยู่แล้วก็จะมีอาการกำเริบขึ้นได้ที่สำคัญ คือ การติดเชื้อไวรัส เช่น ไข้หวัด การติดเชื้อแบคทีเรียของทางเดินอากาศหายใจส่วนบน เช่น ไซนัสอักเสบ ทอนซิลอักเสบ หรือแม้แต่ฟันผุ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรวดเร็ว สุขภาพที่อ่อนแอลงเนื่องจากขาดการพักผ่อน ไม่ออกกำลังกาย และความเครียด วิตกกังวล สาเหตุทางจิตใจก็มีส่วนทำให้โรคหืดกำเริบได้ด้วย
อาการของโรคหืด
คือ หอบ หายใจลำบาก แน่นหน้าอก ไอ หายใจมีเสียงวี๊ดหรือเสียงฮื้ด อาการมักเกิดเป็นพัก ๆ โดยอาจเกิดอาการเมื่อออกกำลังหรือทำงานหนัก หรือเป็นเวลานอนกลางดึกจึงเป็นโรคที่ทรมาน ถ้าอาการมากจะมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมากด้วย เมื่อสงสัยว่าจะเป็นโรคหืดจึงควรไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุ-ประเมินความรุนแรงของโรคและรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง ถ้าผู้ป่วยไปพบแพทย์ได้ขณะที่กำลังมีอาการหอบหืด แพทย์สามารถให้การวินิจฉัยโดยการฟังเสียงหายใจจากปอดได้เลย แต่ถ้าไปตรวจขณะไม่มีอาการอาจต้องอาศัยการตรวจอย่างอื่นเพิ่มเติม
-มีต่อตอนที่2-