10 คำถามน่ารู้กับ “ยาพ่นสูดรุ่นใหม่”

10 คำถามน่ารู้กับ “ยาพ่นสูดรุ่นใหม่”

ภาควิชาโสต นาสิก ลางริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

1. ถาม ยาพ่นสูดรักษาที่ใช้โรคหอบหืดมีกี่ประเภท มีอะไรบ้าง
 ตอบ ยาพ่นสูดแบ่งตามประเภทของยาได้ 2 ประเภท คือ
     1. ยาป้องกัน (Preventer) เป็นยาที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบของหลอดลม   ใช้ทุกวันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการหอบในรายที่มีอาการค่อนข้างบ่อย มีทั้งยาสเตียรอยด์และมิใช่สเตียรอยด์
     2. ยาขยายหลอดลม (Bronchodilator/Reliever)       เป็นยาที่ใช้บรรเทาอาการเมื่อเกิดมีอาการของโรคขึ้น
    
นอกจากนี้ยังสามารถแบ่งยาพ่นสูดตามอุปกรณ์ที่ใช้ได้  3 กลุ่มด้วยกันคือ 
ก. ยาพ่นแบบฝอยละออง (Nebulizer) เป็นยาน้ำพ่นผ่านกระเปาะยาเป็นฝอยละออง ต้องอาศัยกระเปาะพ่นยาและหน้ากากต่อเข้ากับเครื่องพ่นยาหรือสายออกซิเจน (ที่โรงพยาบาล)
ข. ยาพ่นสูดประเภทผงแห้ง(Dry powder) ใช้สูดทางปากโดยอาศัยแรงสูดที่เหมาะสม
ค. ยาพ่นสูดชนิดที่ใช้ก๊าซ  (Metered-dose inhaler, MDI)   สามารถใช้พ่นเข้าทางปากโดยตรงหรือต่อกับกระบอกพ่นยาในเด็กเล็ก ยาประเภทนี้นิยมใช้สาร CFC เป็นตัวขับเคลื่อนในกระบอกยา 

ถาม ทราบมาว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงยาพ่นสูด  อยากทราบว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไร
ตอบ จะมีการเปลี่ยนแปลงเฉพาะในยาพ่นสูดชนิดที่ใช้ก๊าซ โดยเปลี่ยนเป็นยาพ่นสูดปลอดสาร CFC กล่าวคือจะมีการเปลี่ยนตัวขับเคลื่อนในกระบอกยาจาก CFC (Chlorofluorocarbon) ซึ่งสามารถทำลายชั้นบรรยากาศได้ ไปเป็น HFA (Hydrofluoroalkane) ที่ไม่เป็นอันตรายต่อสภาพแวดล้อม
สำหรับยาพ่นแบบฝอยละอองและยาพ่นสูดประเภทแห้งไม่มี CFC เป็นส่วนประกอบจึงไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ

3. ถาม ทำไมต้องเปลี่ยนตัวขับเคลื่อนของยาพ่นทางปาก
ตอบ เพราะว่าสาร CFC ซึ่งเป็นตัวขับเคลื่อนของยาพ่นทางปากนั้น สามารถทำลายชั้นบรรยากาศโอโซนที่ห่อหุ้มผิวโลก ซึ่งชั้นบรรยากาศนี้ทำหน้าที่เสมือนเกราะกำบังมิให้แสงแดดทำอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตบนพื้นโลก หากชั้นโอโซนถูกทำลายลง รังสีอุลตร้าไวโอเลตบีในแสงแดดจะส่องกระทบพื้นโลกได้มากขึ้นและมีผลเสียต่อสุขภาพของมนุษย์ได้ เช่น เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งผิวหนัง และต้อกระจก เป็นต้น

4. ถาม ยาพ่นสูดรุ่นใหม่ “ปลอดสาร CFC” จะมีประสิทธิภาพเหมือนเดิมหรือไม่
ตอบ สาร CFC ที่เปลี่ยนนั้นเป็นตัวขับเคลื่อนในกระบอกยา แต่ตัวยาที่ออกฤทธิ์ในการรักษาโรคหอบหืด ไม่ว่าจะเป็นยาป้องกันหรือยาขยายหลอดลมนั้นจะยังเป็นยาตัวเดิม ปริมาณเท่าเดิม จึงมั่นใจได้ว่าประสิทธิภาพในการรักษาจะเป็นเช่นเดิม

5. ถาม ยาพ่นสูดใหม่แตกต่างจากเดิมอย่างไรบ้าง
ตอบ ผู้ป่วยที่ใช้ยาพ่นทางปากเป็นประจำ อาจรับรู้ถึงรสชาติที่เปลี่ยนไปเมื่อใช้ยาพ่นสูดปลอดสาร CFC ได้ แต่ทั้งนี้ประสิทธิภาพในการรักษาโรคจะไม่แตกต่างไปจากเดิม นอกจากนี้ยาพ่นสูดปลอดสาร CFC อาจมีราคาสูงกว่ายาพ่นสูดแบบเดิมบ้าง

6. ถาม ที่ว่าราคาสูงกว่าเดิมบ้างนั้น  จะถึงกับทำให้ผู้ใช้เดือดร้อนหรือไม่
ตอบ ยาพ่นสูดปลอดสาร CFC จะมีต้นทุนในการผลิตสูงกว่ายาเดิม แต่ทั้งนี้กรมโรงงานอุตสาหกรรมและองค์การอาหารและยาจะทำการควบคุมมิให้ราคายาสูงกว่าเดิมมากนัก

7. ถาม ยาพ่นสูดรุ่นใหม่จะใช้ยากกว่ายาเดิมหรือไม่
ตอบ เนื่องจากอุปกรณ์ที่ใช้เป็นเหมือนเดิม วิธีการใช้ยาจึงไม่แตกต่างจากเดิม ได้มีการศึกษาจากสหสถาบันในประเทศไทย เพื่อประเมินความพึงพอใจของผู้ป่วยโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรังในการใช้ยาพ่นสูดชนิดผงแห้ง   ชนิดที่มีสาร CFC เป็นตัวขับเคลื่อน และชนิดปลอดสาร CFC พบว่าความพึงพอใจในการใช้ยาทั้ง 3 ประเภทใกล้เคียงกัน ดังนั้นการเปลี่ยนไปใช้ยาพ่นสูดปลอดสาร CFC จึงน่าจะเป็นที่ยอมรับของผู้ป่วยได้

8. ถาม จะทราบได้อย่างไรว่าตัวยาใดเป็นยาพ่นสูดปลอดสาร CFC
 ตอบ ยาพ่นสูดปลอดสาร CFC จะมีคำว่า “CFC Free” ที่ข้างบรรจุภัณฑ์ให้สังเกตได้

9. ถาม จะสามารถหาซื้อยาสูดรุ่นใหม่ได้สะดวกหรือไม่
ตอบ กระทรวงสาธารณสุขจะจัดให้มีการกระจายยาพ่นสูดปลอดสาร CFC ไปให้ครอบคลุมสถานบริการทางการแพทย์ให้มากที่สุด

10. ถาม จำเป็นต้องเปลี่ยนเป็นยาพ่นสูดปลอดสาร CFC หรือไม่
ตอบ
 ประเทศต่างๆทั่วโลกต่างก็ตระหนักถึงอันตรายของสาร CFC ที่มีต่อชั้นบรรยากาศของโลก จึงได้ทำข้อตกลงและลงนามร่วมกันในพิธีสารมอนทรีออล เพื่อลดและเลิกการใช้สาร CFC ทั้งนี้ยาพ่นสูดที่มีสาร CFC จะเลิกผลิตและนำเข้าในอนาคตอันใกล้ ดังนั้นผู้ป่วยโรคหอบหืดทุกท่านที่ใช้ยาพ่นสูดชนิดที่ใช้ก๊าซจะได้รับการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลดีต่อสิ่งแวดล้อมในเร็ว ๆ นี้ 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด