มารู้จัก “ไข้เลือดออก” ภัยร้ายที่อยู่ใกล้ตัว ตอนที่ 2

มารู้จัก “ไข้เลือดออก” ภัยร้ายที่อยู่ใกล้ตัว ตอนที่ 2

รศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ
อ. พญ. วนัทปรียา พงษ์สามารถ
หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

หากพาไปพบคุณหมอจะตรวจอย่างไรว่าเป็นโรคไข้เลือดออก
        คุณหมอจะให้การวินิจฉัยไข้เลือดออกได้จากอาการของเด็กเป็นสำคัญ  ได้แก่
• ไข้สูงลอย 2-7 วัน
• มีอาการเลือดออก หากไม่มีคุณหมอจะทำการรัดแขนซึ่งจะทำให้มีจุดเลือดออกที่แขน การตรวจนี้จะให้ผลบวกได้ในวันที่ 2-3 นับจากเริ่มป่วย
• ตรวจร่างกายอาจมีตับโต กดเจ็บ ซึ่งมักจะคลำได้ในวันที่ 3-4  นับจากเริ่มป่วย
• ในผู้ป่วยบางรายอาจพบมีอาการช็อกร่วมด้วย

       หากคุณหมอสงสัยว่าเด็กอาจเป็นไข้เลือดออก จะทำการเจาะเลือดตรวจซึ่งมักจะพบความผิดปรกติหลัง วันที่ 3 นับจากเริ่มป่วย ซึ่งจะพบมีความผิดปรกติ คือ เกล็ดเลือดเริ่มต่ำระยะก่อนไข้ลด ส่วนใหญ่จะต่ำกว่า 100,000/ลบ.มม. มักมีเม็ดเลือดขาวต่ำ ( น้อยกว่า 5,000/ลบ. มม.) และเมื่อไข้ลงเข้าสู่ระยะวิกฤติจะพบมีเลือดข้น  การตรวจยืนยันให้ได้แน่นอนว่าเป็นไข้เลือดออกหรือไม่ ต้องอาศัยการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อไวรัสหรือเพื่อดูภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสไข้เลือดออก ซึ่งกว่าจะเห็นการตอบสนองชัดเจนมักเป็นช่วงใกล้ระยะวิกฤตหรือพ้นระยะวิกฤตแล้ว ดังนั้นการวินิจฉัยด้วยอาการ การรัดแขนเพื่อดูจุดเลือดออก และการตรวจเลือดดูเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกร็ดเลือด หลังวันที่ 2-3 ของไข้เป็นสิ่งจำเป็นมากในการวินิจฉัยในเบื้องต้น ซึ่งมีความแม่นยำสูงอยู่แล้วโดยเฉพาะอาการหลังมีไข้ 2-3 วันไปแล้ว

จะดูแลบุตรหลานอย่างไรหากสงสัยเป็นโรคไข้เลือดออก
        ในช่วงที่เด็กมีไข้วันแรกๆ แม้จะมีไข้สูง ดูเพลีย แต่มักไม่เป็นอันตราย แนะนำให้รีบมาพบแพทย์ และปฏิบัติตัวตามที่แพทย์แนะนำ และควรกลับมาตรวจซ้ำตามที่แพทย์นัดหมายเพื่อตรวจร่างกาย รัดแขน และเจาะเลือด ช่วงที่เป็นอันตรายในโรคไข้เลือดออกคือระยะวิกฤติซึ่งเป็นช่วงไข้ลง ซึ่งมักเกิดหลังวันที่ 3-5 ของไข้ แต่บางคนอาจมีไข้ถึง 7 วันก่อนเข้าสู่ระยะวิกฤติได้ ในช่วงนี้ผู้ป่วยจะมีอาการซึมลง ตัวเย็น กระสับกระส่าย โดยทั่วไปถ้าผู้ปกครองนำผู้ป่วยมาติดตามรักษาตามนัด แพทย์มักให้ผู้ป่วยนอนในโรงพยาบาลหากมีข้อบ่งชี้ก่อนถึงระยะช็อก แต่หากเกิดอาการช็อกขึ้นที่บ้าน ควรรีบมาพบแพทย์โดยด่วน
 สิ่งที่ควรรู้คือ ยังไม่มีอะไรเป็นตัวบอกที่แม่นยำได้ว่า เด็กที่เริ่มมีไข้จากการติดเชื้อเดงกีแต่ละคนนั้น คนใดจะมีอาการน้อย มีไข้ 2-3 วันก็หาย หรือคนใดจะมีอาการหนัก ดำเนินต่อไปจนกลายเป็นไข้เลือดออกและช็อก ดังนั้นการติดตามดูแลเด็กที่ป่วยอย่างใกล้ชิดจึงเป็นเรื่องที่จำเป็นอย่างยิ่ง

       ผู้เป็นที่ไข้เลือดออกส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง แต่มีความจำเป็นต้องเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด จนกว่าไข้จะลดลงเกิน 48 ชั่วโมง และมาตรวจตามที่คุณหมอนัดทุกครั้ง ข้อแนะนำสำหรับการดูแลผู้ป่วยไข้เลือดออกที่บ้าน ได้แก่

1. เช็ดตัวลดไข้ด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำธรรมดา ให้ยาลดไข้ตามที่แพทย์สั่ง ได้แก่ ยาพาราเซทตามอล เมื่อมีไข้สูงเกิน 38.5 °ซ ทุก 4-6 ชั่วโมง * ห้ามให้ยาบ่อยกว่า 4 ชั่วโมง และ ห้ามให้ยาในขนาดที่มากกว่าแพทย์สั่ง เพราะนอกจากไข้ไม่ลดลงแล้ว ยังเกิดมีอันตรายต่อตับได้
2. ห้ามให้ยาลดไข้ที่มีส่วนผสมของแอสไพริน หรือยาตราหัวสิงห์ หรือ junifen เพราะอาจทำให้เกิดเลือดออกในทางเดินอาหารได้ หากไม่แน่ใจ ให้ถามแพทย์ก่อนให้
3. ดื่มน้ำมากๆ โดยแนะนำให้ดื่มน้ำผลไม้หรือน้ำเกลือแร่ แทนน้ำเปล่า
4. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีรสจัดทุกชนิด เพราะอาจระคายเคืองต่อกระเพาะอาหาร
5. หลีกเลี่ยงอาหารที่มีสีแดงหรือดำ เพราะอาจทำให้สับสนกับภาวะเลือดออกในทางเดินอาหารได้หากผู้ป่วยอาเจียน
6. รับประทานผลไม้ที่มี วิตามินซี หรือรับประทานวิตามินซีเสริม
7. ให้มาพบแพทย์ทันทีหากมีอาการต่อไปนี้ 
       - อาเจียนมาก ไม่สามารถรับประทานอาหารและน้ำได้เพียงพอ
       - ปวดท้องมาก
       - มีเลือดออกรุนแรง เช่นถ่ายดำ อาเจียนเป็นเลือด
       - ไข้ลดลง ตัวเย็นผิดปรกติ  มือเท้าเย็น เหงื่อแตก กระสับกระส่าย
       - ไม่ปัสสาวะนานกว่า 6 ชั่วโมง
       - ซึมลง ไม่ค่อยรู้สึกตัว
       - หอบเหนื่อย บวม
     เนื่องจากแพทย์จะต้องให้การรักษาโดยเร่งด่วน และรับไว้ในโรงพยาบาล
8. เมื่อไข้ลง 24-48 ชั่วโมง จะเข้าสู่ระยะฟื้นตัว ผู้ป่วยจะมีความอยากรับประทานอาหาร อาการดีขึ้นชัดเจน ในระยะนี้อาจพบผื่นซึ่งมีลักษณะจำเพาะเป็นวงสีขาวบนผื่นสีแดง และมีอาการคันได้ ผื่นจะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ หากคันมากอาจใช้คาลามายโลชั่นทาได้
คุณหมอจะรักษาอย่างไรหากลูกเป็นโรคไข้เลือดออก ไข้เลือดออกไม่มีการรักษาที่จำเพาะ ดังนั้นคุณหมอจะรักษาประคับประคองตามอาการ และติดตามใกล้ชิดจนเข้าสู่ระยะฟื้นตัว ถ้าอาเจียนมาก ซึม เพลียมาก มีอาการของช็อก และมีอาการเลือดออก หรือหากมีอาการแทรกซ้อนอื่น เช่น ตับอักเสบรุนแรง ตับวาย สมองอักเสบ คุณหมอจะรับไว้รักษาในโรงพยาบาล และดูแลใกล้ชิด เพื่อรักษาได้ทันท่วงที

มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกหรือไม่
       ขณะนี้ยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกจำหน่าย ยังอยู่ในขั้นทดลองเท่านั้น

จะป้องกันอย่างไรไม่ให้เป็นไข้เลือดออก
• ต้องระวังอย่าให้ยุงกัดในตอนกลางวันซึ่งป้องกันได้ด้วยการนอนในมุ้ง
• ช่วยกันกำจัดลูกน้ำ และลดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย โดยปิดฝาภาชนะเก็บน้ำให้มิดชิด หมั่นตรวจ
ดูแจกันและเปลี่ยนถ่ายน้ำทุกสัปดาห์ ใส่ปลากินลูกน้ำ เช่น ปลาหางนกยูง ในภาชนะเก็บน้ำที่ปิดฝาไม่ได้ เก็บทำลายภาชนะที่มีน้ำขังหรือไม่ใช้แล้ว เช่น ฝังหรือเผา คว่ำภาชนะที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์เพื่อป้องกันไม่ให้มีน้ำขัง ใส่เกลือ น้ำส้มสายชู หรือผงซักฟอกลงในน้ำจานรองตู้กับข้าว เพื่อป้องกันไม่ให้ยุงมาวางไข่

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด