การดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง ตอนที่ 1
การดูแลรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง (ตอนที่ 1)
อ.นพ. อรรถพงศ์ วงศ์วิวัฒน์
ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรคไตวายเรื้อรังเกิดขึ้นจากสาเหตุใด
โรคไตวาย คือ ภาวะที่ไตทำงานผิดปกติ ปกติไตจะทำหน้าที่ขับถ่ายของเสียออกทางปัสสาวะ ดังนั้น ภาวะไตวายก็คือ ภาวะที่ไตจะไม่สามารถขับของเสียรวมทั้งเกลือแร่ต่าง ๆ ออกมาทางปัสสาวะได้ ของเสียเหล่านั้นก็จะคั่งค้างอยู่ในกระแสเลือด ภาวะไตวายโดยทั่วไปแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ ไตวายเฉียบพลันและไตวายเรื้อรัง ไตวายเฉียบพลันเป็นภาวะที่เกิดขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการที่เลือดไปเลี้ยงที่ไตน้อยลง เช่น คนไข้มีอาการความดันโลหิตต่ำอยู่ในภาวะช็อกนาน ๆ หรือคนไข้ที่เสียเลือดมาก ๆ แต่ภาวะไตวายเฉียบพลันสามารถรักษาให้ไตกลับมาทำงานปกติได้ ส่วนภาวะไตวายเรื้อรังนั้นเป็นโรคที่มีการทำลายของเนื้อไตอย่างช้า ๆ อย่างต่อเนื่อง จนไตไม่สามารถกลับมาทำงานได้อย่างปกติ
สาเหตุที่พบบ่อยในบ้านเราก็คือ โรคเบาหวานกับโรคความดันโลหิตสูง โรคดังกล่าวถ้าได้รับการรักษาที่ไม่ถูกต้อง ระดับน้ำตาลในเลือดสูง ความดันโลหิตควบคุมได้ไม่ปกติ ทั้งสองโรคนี้ในระยะยาวจะส่งผลทำให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรังได้ ส่วนภาวะที่พบรองลงมาได้ โรคไตอักเสบเรื้อรัง โรคนิ่วในไต หรือการใช้ยา ซึ่งมีพิษต่อไตบางอย่าง โดยเฉพาะยาแก้ปวด เรามักจะซื้อยากินเองเป็นระยะเวลานาน ส่วนอาการของโรคไตวายเรื้อรัง ในระยะแรกนั้นของเสียในเลือดอาจจะไม่อยู่ในระดับที่สูง เพราะฉะนั้นโดยทั่วไปอาจจะไม่มีอาการใด ๆ เลยก็ได้ อาจจะตรวจพบจากการตรวจสุขภาพประจำปี หรือเจาะเลือดพบว่าของเสียในเลือดขึ้นสูง บางรายอาจจะมีอาการผิดปกติ เช่น บวมบริเวณใบหน้า บริเวณหน้าตาหรือบริเวณขา ปัสสาวะผิดปกติ เช่น ลุกมาปัสสาวะบ่อย ๆ ตอนกลางคืน เมื่ออาการไตวายเรื้อรังเป็นมากขึ้นจะทำให้มีอาการที่เด่นชัดเจนขึ้น
ถ้าผู้ป่วยทราบว่าเป็นโรคไตวายเรื้อรังแล้ว การตรวจพบในระยะแรกและให้การรักษาอย่างถูกต้องนั้น จะทำให้สามารถชะลอการเสื่อมของไตได้ ข้อควรปฏิบัติ คือ ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ที่พบบ่อย ๆ คือ คนไข้มักจะซื้อยารับประทานเอง หรือไปรักษาด้วยยาจีน ยาสมุนไพร ซึ่งปัจจัยอย่างนี้ ยาบางชนิดพบว่าส่วนผสมบางอย่างทำให้ไตนั้นเสื่อมสมรรถภาพอย่างรวดเร็ว เพราะฉะนั้นการพบแพทย์ ปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของการดูแลโรคไตวายเรื้อรัง
ผู้ป่วยที่เป็นโรคไตวายเรื้อรัง มีวิธีการรักษาอย่างไร
การรักษาโรคไตวายเรื้อรังแบ่งการรักษาออกเป็น 3 ระยะ คือ ในระยะเบื้องต้น หมายถึง เป็นในระยะแรกนั้น การรักษาส่วนใหญ่จะเป็นการรักษาด้วยยา จุดประสงค์ด้วยการรักษาด้วยยา ไม่ใช่การรักษาให้เนื้อไตที่เสียไปแล้วกลับสภาพทำงานได้ ยาที่อายุรแพทย์โรคไตให้กับผู้ป่วยนั้น เพื่อรักษาปัจจัยต่าง ๆ ที่จะทำให้ไตนั้นเสื่อมสภาพลง เช่น ควบคุมความดันโลหิต ตรงนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญมาก ถ้าคนไข้มีความดันโลหิตสูง การควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ จะสามารถชะลอไม่ให้ไตเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว การให้ยาอื่น ๆ นั้นต้องดูความเหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย เพราะฉะนั้นควรจะติดตามการรักษากับแพทย์และไม่ซื้อยารับประทานเองหรือเอายาของคนอื่นมารับประทาน อาหารที่ควรจะหลีกเลี่ยงก็คือ อาหารเค็ม อาหารโปรตีนมาก ๆ ก็จะทำให้ของเสียในเลือดเพิ่มขึ้นเร็ว ปัจจุบันเรามีการรักษาหลายชนิด ที่มักจะนิยมเรียกกันว่า การล้างไต จริง ๆ การล้างไตนั้นเป็น
วิธีที่ปัจจุบันมีการรักษากันมาก แบ่งหลัก ๆ ได้ 2 ชนิด คือ
- ล้างไตโดยการขจัดของเสียในเลือดออก โดยใช้น้ำยาใส่ลงไปในช่องท้อง หลักการก็คือ จะใส่น้ำยาล้างไตลงไปในช่องท้องของผู้ป่วย และของเสียที่อยู่ในกระแสเลือดก็จะซึมผ่านผนังหลอดเลือดฝอย บริเวณเยื่อบุช่องท้องออกมาในน้ำยา แล้วจะเปลี่ยนน้ำยาที่มีของเสียนั้นออกและใส่ถุงใหม่กลับเข้าไป วันหนึ่งก็จะทำ 3 - 4 ครั้ง ของเสียก็จะสามารถขจัดออกไปได้ การรักษาวิธีนี้ดีอย่างหนึ่งก็คือ คนไข้อาจไม่ต้องอยู่ในโรงพยาบาล ในช่วงแรกที่ทำใหม่ ๆ อาจจะต้องได้รับการดูแลโดยพยาบาลหรือแพทย์ว่าจะสามารถปฏิบัติเองได้ หรือผู้ป่วยบางรายไม่สามารถช่วยตัวเองได้ ก็จะเป็นญาติที่คอยเปลี่ยนน้ำยาให้ แต่ขอเน้นว่า วิธีนี้จะต้องใช้ความสะอาดมาก เพราะถ้ามีเชื้อโรค หรือล้างมือไม่สะอาดก็จะมีการติดเชื้อในช่องท้องได้ อาจจะมีอันตรายถึงชีวิต
- การฟอกเลือดโดยใช้เครื่องไตเทียม การฟอกเลือดโดยใช้เครื่องไตเทียม ต้องมาฟอกที่โรง
พยาบาล หลักการก็จะคล้าย ๆ กัน ก็คือ จะนำของเสียซึ่งออกจากเลือด โดยผ่านตัวกรองของเครื่องไตเทียม ตัวกรองจะมีหน้าที่กรองเอาของเสียในเลือดออก การฟอกเลือดจะต้องมาฟอกสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งหนึ่งประมาณ 4-5 ชั่วโมง ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้งสองวิธีมีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันไป จะต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของอายุรแพทย์โรคไตที่จะแนะนำผู้ป่วยว่า คนไข้รายนั้นเหมาะกับการักษาวิธีใด
- มีต่อตอนที่ 2 -