ศูนย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ทางหู คอ จมูก

ศูนย์ตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคจมูกและโรคภูมิแพ้ทางหู คอ จมูก
(Allergy and Rhinology Diagnostic and Treatment Center)

ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทายา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ท่านเคยมีอาการเหล่านี้หรือไม่
- คันจมูก จาม คัดจมูก น้ำมูกไหล โดยเฉพาะเวลาอากาศเปลี่ยนหรือเจอฝุ่น
- คันตา น้ำตาไหล ตาแดง กระพริบตาบ่อย
- คันคอ เจ็บคอบ่อย กระแอม ขากเสมหะบ่อย
- จมูกไม่ได้กลิ่น มีกลิ่นผิดปกติในจมูก
- เป็นหวัดเรื้อรังตลอดปี
- นอนกรน อ้าปากหายใจ หายใจเสียงดัง ปากแห้ง คอแห้ง เวลาตื่นนอน
- หายใจมีกลิ่นเหม็น มีกลิ่นในจมูก และลำคอ
- ไอเรื้อรัง ไอบ่อย เป็น ๆ หาย ๆ
- ปวดศีรษะมึนตื้อ ปวดบริเวณหน้าผาก โหนกแก้ม หัวคิ้ว
- ง่วงซึม มึน สมองไม่โล่ง ขี้เซา ง่วงนอนตลอดเวลา
- เลือดออกจมูก เสมหะปนเลือด

            อาการเหล่านี้อาจมีสาเหตุมาจากโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือ โรคทางจมูกอื่น ๆ เช่น ไซนัสอักเสบ ริดสีดวงจมูก เยื่อบุจมูกอักเสบเรื้อรังชนิดไม่แพ้ และเนื้องอกหรือมะเร็งของโพรงจมูกและไซนัส ประวัติและอาการของท่านมีความสำคัญในการวินิจฉัยโรค ผสมผสานกับความรู้ทางวิชาการและเทคโนโลยีที่ทันสมัย จะช่วยทำให้การวินิจฉัยโรคของท่านถูกต้องแม่นยำมากขึ้น และทำให้ท่านได้รับการรักษาที่ดีที่สุด

การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนัง
            เป็นการทดสอบว่ามีภูมิแพ้อยู่ในร่างกายหรือไม่ โดยการใช้น้ำยาที่สกัดจากสารก่อภูมิแพ้ที่พบบ่อยในเมืองไทย นำมาสะกิดหรือฉีดเข้าในผิวหนัง ผู้ที่เป็นโรคภูมิแพ้จะเกิดปฏิกิริยา บวมนูนแดงบริเวณที่ทดสอบภายใน 20 นาที การทดสอบภูมิแพ้ทางผิวหนังมี 2 วิธี
     1.วิธีสะกิด (Skin Prick Test)
     2.วิธีฉีดเข้าในผิวหนัง (Intradermal Test)

การตรวจวัด และประเมินอาการคัดจมูก (Active Anterior Rhinomanometry)
            เป็นการวัดปริมาตรของอากาศที่ผ่านจมูก และวัดความดันที่แตกต่างในช่องจมูกขณะหายใจ ช่วยในการตรวจวัดหรือประเมินอาการคัดแน่นจมูกว่ามีอาการคัดแน่นจมูกจริง และเป็นข้างใดมากน้อยเพียงใด สามารถแยกสาเหตุของอาการคัดแน่นจมูกว่าเกิดจากการบวมของเยื่อบุจมูกหรือเกิดจากความผิดปกติของโครงสร้างภายในจมูก หรือมีเนื้องอกในโพรงจมูก

การตรวจวัดโครงสร้างภายในของจมูก (Acoustic Rhinometry)
            เป็นการตรวจวัดโครงสร้างภายในจมูกโดยอาศัยการสะท้อนของคลื่นเสียงที่ใส่เข้าไป หลักการทำงานของเครื่องมือ คือ ใช้เครื่องกำเนิดเสียงทำให้เกิดคลื่นเสียง ผ่านเข้าไปในช่องจมูกทีละข้างและวัดคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับออกมา (echoes) เมื่อกระทบกับโครงสร้างตำแหน่งต่าง ๆ ภายในช่องจมูก เครื่องคอมพิวเตอร์จะคำนวณพื้นที่หน้าตัดของช่องจมูกจากความเข้มข้นของคลื่นเสียงที่สะท้อนกลับออกมาและสามารถคำนวณระยะห่างจากรูจมูกเข้าไปถึงตำแหน่งที่วัดพื้นที่นั้น ๆ ได้ ทำให้สามารถบอกตำแหน่งที่มีการอุดตันในช่องจมูกได้

การตรวจเซลล์ในเยื่อบุจมูก (Nasal cytology)
            ผู้ที่เป็นโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ จะมีเซลล์ชนิดหนึ่งในเยื่อบุจมูกมากกว่าคนปกติ เซลล์ชนิดนี้เรียกว่า มาสต์เซลล์หรือเบโสฟิล (Mast cells or Basophils) คนที่เป็นโรคภูมิแพ้เมื่อหายใจเอาสิ่งที่แพ้เข้าไป จะทำให้เซลล์เหล่านี้หลั่งสารออกมาทำให้เกิดอาการแพ้ เช่น คันจาม น้ำมูกไหล คัดจมูก การตรวจเซลล์นี้ทำได้ง่ายโดยใช้เครื่องมือเล็ก ๆ ขูดเยื่อบุจมูกชั้นผิว แล้วนำไปย้อมสีพิเศษ และตรวจด้วยกล้องจุลทรรศน์

การทดสอบภูมิแพ้ภายในโพรงจมูก (Nasal Provocation Test)
            เป็นการทดสอบหาสาเหตุที่แท้จริงของการแพ้ โดยนำสารสกัดจากสารก่อภูมิแพ้ หยดลงบนกระดาษกรองพิเศษแล้วนำไปวางไว้บนเยื่อบุจมูกของผู้ป่วย ทำให้ทราบว่าแพ้อะไรบ้าง และมีอาการแพ้ทางจมูกมากน้อยเท่าใด นอกจากนี้ยังสามรถวัดความไวของเยื่อบุจมูกได้ด้วย

การส่องกล้องตรวจภายในโพรงจมูก (Nasal Endoscopy)
            เป็นการตรวจภายในโพรงจมูกด้วยกล้องเทเลสโคป ทำให้สามารถบอกสาเหตุของอาการเรื้อรังทางจมูก และปัญหาต่าง ๆ ในจมูกได้ละเอียดและชัดเจนมากขึ้น ซึ่งจะทำให้รักษาได้ตรงจุดมากขึ้น การส่องกล้องตรวจภายในโพรงจมูกจะทำในผู้ที่มี
1. อาการเรื้อรังทางจมูกเป็นเวลานานรักษาแล้วไม่ดีขึ้นหรือ ยังไม่ทราบสาเหตุ
2. โครงสร้างจมูกผิดปกติ เช่นผนังกั้นช่องจมูกคด
3. ไซนัสอักเสบ และริดสีดวงจมูก
4. จมูกไม่ได้กลิ่น หรือมีกลิ่นเหม็นผิดปกติ
5. คัดแน่นจมูก หายใจทางจมูกไม่ได้ ต้องอ้าปากหายใจ หายใจเสียงดัง นอนกรน
6. เลือดกำเดาไหล น้ำมูกปนเลือด หรือ เสมหะปนเลือด
7. สงสัยว่าจะมีเนื้องอกในโพรงจมูก โพรงไซนัส หรือมะเร็งหลังโพรงจมูก
8. หลังการผ่าตัดจมูกและไซนัส เพื่อติดตามการรักษาและป้องกันการเป็นซ้ำ

ข้อปฏิบัติตัวก่อนการทดสอบ
 1.  งดรับประทานยาทุกชนิดก่อนมาทำการทดสอบตามระยะเวลาที่แพทย์กำหนด โดยเฉพาะยาแก้แพ้ (antihistamine) ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ไอ ยาขยายหลอดลม ยาลดการบวมของจมูก ยารักษาอาการเวียนศีรษะ ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต้องรับประทานยาอยู่เป็นประจำให้ปรึกษาแพทย์ก่อน สำหรับยาพ่นหลอดลมเฉพาะที่ให้ใช้ได้ไม่ต้องงด
 2.  สำหรับยาพ่นจมูกให้งดมาก่อน 2 สัปดาห์
 3.  ใส่เสื้อแขนสั้น หรือแขนซึ่งสามารถถลกขึ้นไปถึงหัวไหลได้
 4.  ถ้ามีประวัติแพ้ยาชาเฉพาะที่ กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย
 5.  มาตรงตามกำหนดนัด

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด