สาเหตุของโรคแพ้อากาศ ตอนที่2

สาเหตุของโรคแพ้อากาศ (ตอนที่2)

ภาควิชา โสต นาสิก ลาริงซ์วิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            ทำความสะอาดห้องทุกซอกทุกมุมด้วยผ้าชุบน้ำปนน้ำมันหมาด ๆ อย่างน้อยวันละ 1 ครั้ง ถ้ามีเครื่องดูดฝุ่น ใช้เครื่องดูดฝุ่นช่วยด้วยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะตามมุ้งลวด หรือที่นอน อย่างใช้ไม้กวาดหรือที่ปัดฝุ่น เพราะจะทำให้ฝุ่นฟุ้งกระจายมากขึ้น ถ้าผู้ป่วยต้องทำความสะอาดห้องเองควรใช้ผ้าปิดปากและจมูกขณะทำความสะอาดด้วย เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้หายใจเอาฝุ่นละอองเข้าไปมาก พัดลมเพดานหรือพัดลมตั้งควรทำความสะอาดอย่าให้มีฝุ่นจับได้ เครื่องนอนทุกชนิด ได้แก่ ที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าคลุมเตียง ควรนำออกตากแดดจัด ๆ ทุกสัปดาห์อย่างน้อยครั้งละ 30 นาที แสงแดดจัดจะทำให้ตัวไรถูกฆ่าตาย ลดจำนวนลงได้ ส่วนผ้าที่นอน ปลอกหมอน มุ้ง ผ้าห่มและผ้าคลุมเตียง ควรซักทำความสะอาดอย่างน้อยเดือนละ 2 ครั้ง ถ้าซักในน้ำร้อนได้จะดียิ่งขึ้น เมื่อทำความสะอาดห้องเรียบร้อยแล้ว พยายามปิดประตูหน้าต่างไว้เสมอ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองจากภายนอกเข้ามา ข้อสำคัญก็คือพยายามอย่าให้มีที่เก็บกักฝุ่นเอาไว้ และถ้ามีฝุ่นเกิดขึ้นก็ควรจะรีบกำจัดทำความสะอาดเสียโดยเร็ว เครื่องกรองอากาศ หรือเครื่องฟอกอากาศ ชนิดต่าง ๆมักมีราคาแพงและมีประโยชน์เฉพาะกับสารก่อภูมิแพ้ที่แขวนลอยอยู่ในอากาศเท่านั้น ไม่ได้ผลกับตัวไรในฝุ่น หากต้องการใช้ ควรปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญด้านนี้ก่อน
 สำหรับสารเคมีที่ใช้ฆ่าตัวไร หรือใช้ทำลายสารก่อภูมิแพ้ที่เกิดจากตัวไรในฝุ่น มักทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุทางเดินหายใจ และมีราคาแพง ในประเทศไทย ซึ่งมีแสงแดดจัดเกือบตลอดทั้งปี จึงแนะนำให้ใช้แสงแดดจัดในการฆ่าตัวไรมากกว่า
            ข.  นุ่น นุ่นจัดเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้บ่อยอย่างหนึ่ง ดังนั้นจึงควรตรวจดูว่าหมอนและที่นอนที่ใช้ยัดด้วยนุ่นหรือเปล่า รวมทั้งหมอนอิงในห้องรับแขกหรือห้องนั่งเล่นด้วย ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ควรหาผ้าพลาสติกมาหุ้มเสียให้มิดชิดก่อนแล้วจึงสวมปลอก ถ้าจะซื้อใหม่ชนิดที่ปลอดภัยที่สุดคือ ชนิดที่เป็นใยสังเคราะห์ หรือฟองน้ำ ก่อนซื้อจึงควรทราบเสียก่อนว่าภายในทำด้วยอะไร
            ค.  แมลงต่าง ๆ ภายในบ้าน มีเป็นจำนวนมาก เช่น แมลงสาบ ยุง แมลงวัน มด ฯลฯ การแพ้แมลงแบ่งได้เป็น 2 แบบ คือ
            - แพ้โดยการสูดหายใจเอาเศษชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของแมลงเหล่านี้ รวมทั้งสิ่งขับถ่ายของมัน ซึ่งจะปนอยู่กับฝุ่นละออง และสิ่งของเครื่องใช้ในบ้าน ทำให้เกิดอาการแพ้ทางระบบหายใจในผู้ป่วยที่เป็นโรคแพ้อากาศ และหอบหืดได้
            - แพ้โดยการถูกกัด แมลงที่กัดได้ เช่น ยุงและมด เมื่อกัดแล้ว อาจทำให้เกิดตุ่มแดง คัน ตรงรอยที่กัดอยู่นานหลายวันในผู้ที่แพ้ และจะเป็นรอยดำอยู่อีกนานโดยเฉพาะที่ขาและแขน
            การกำจัดแมลงเหล่านี้ ทำได้โดยกำจัดแหล่งที่อยู่อาศัยของมัน และใช้ยาฆ่าแมลงช่วยแต่ผู้ป่วยไม่ควรเป็นผู้ใช้ยาฆ่าแมลงด้วยตนเอง เพราะอาจเกิดอาการแพ้สารเคมีที่เป็นส่วนประกอบหรือกลิ่นของมันอาจระคายต่อเยื่อบุในจมูกและหลอดลม จึงควรให้ผู้อื่นทำแทน และทำให้เวลาที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในบ้าน
            ง.  สัตว์เลี้ยง ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้บางรายอาจเกิดอาการแพ้สัตว์เลี้ยงบางชนิด เช่น แมว สุนัข และนก โดยการสัมผัส หรือหายใจเอาขน หรือรังแคของสัตว์เหล่านี้เข้าไป แม้เมื่อเลิกเลี้ยงแล้วกว่าจะกำจัดขนและรังแคของมันให้หมดไปจากบ้าน อาจกินเวลาอีกนานหลายเดือน
            ดังนั้น ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้ จึงต้องไม่เลี้ยงสัตว์ที่มีขนทุกชนิดไว้ในบ้าน แม้แต่เป็น ไก่ ม้า กระต่าย ฯลฯ ก็ทำให้เกิดอากาศแพ้ได้ ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้จึงต้องไม่คลุกคลีใกล้ชิด และต้องไม่ทำความสะอาดกรงสัตว์เหล่านี้ด้วยตนเอง สัตว์ที่ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้อาจจะเลี้ยงได้ คือ ปลา
            จ.  เชื้อราในอากาศ  เชื้อราจะแพร่กระจายในอากาศได้โดยชิ้นส่วนเล็ก ๆ ของมัน ที่เรียกว่า สปอร์ ซึ่งพบได้ทั่วไปทั้งในบ้าน และนอกบ้าน และเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยโรคภูมิแพ้เกิดอาการขึ้นได้ จึงควรทราบถึงแหล่งที่มาของเชื้อราเหล่านี้ และพยายามกำจัดให้หมดไปจากบริเวณบ้านและที่ทำงาน
 
เชื้อรามักชอบอยู่ตามที่ชื้นและอับทึบหรือที่มีใบไม้แห้งร่วงทับถมกันอยู่ จึงควรระวังดังนี้
            1.  อย่าให้ต้นไม้ใหญ่ที่มีใบหนาทึบขึ้นบังตัวบ้าน เพราะจะบังลมทำให้การถ่ายเทอากาศไม่สะดวก เกิดความชื้นอับทึบทำให้เชื้อราเจริญงอกงามได้ดี
            2.  กำจัดใบไม้ที่ร่วงทับถมอยู่บนพื้น และเศษหญ้าชื้นแฉะในสนามทิ้งไป
            3.  อย่านำพืชชนิดใด ๆ ใส่กระถางปลูกไว้ภายในบ้าน เพราะดินในกระถางอาจเป็นที่เพาะเชื้อราได้ ดอกไม้ที่แห้งแล้วก็อาจจะมีเชื้อราอยู่ด้วย จึงควรใช้ดอกไม้ประดิษฐ์ตกแต่งบ้านแทน
            4.  ห้องน้ำ เป็นที่ที่มีความชื้อแฉะอยู่เสมอ ควรได้ตรวจทำความสะอาดบ่อย ๆ โดยเฉพาะกระเบื้องปูพื้นและผนัง ม่านพลาสติก ใต้อ่างล้างมือ โอ่งน้ำ โถส้วม และตามซอกมุม มักพบเชื้อราดำ ๆ อยู่ ต้องทำความสะอาด และเปิดให้แสงแดดส่งเข้ามาได้มากที่สุด เพื่อให้แห้ง
            5.  ห้องครัว ตู้เก็บอาหาร ตู้เย็น ต้องตรวจทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ อาหาร ผัก ผลไม้ที่เน่าเสีย มีเชื้อราขึ้น ต้องรีบกำจัด
            6.  รองเท้า เสื้อผ้า ร่มที่เปียกชื้น ต้องตากแดดให้แห้งสนิทโดยเร็ว เพื่อป้องกันมิให้มีเชื้อราเกิดขึ้น
            7.  ห้องใต้หลังคา ห้องใต้ดิน หรือห้องที่ปิดทึบ เช่นห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศเป็นประจำ เป็นที่ที่มีความชื้นมาก เชื้อราเกิดขึ้นได้ง่าย ควรหมั่นตรวจตราเปิดให้อากาศถ่ายเท ทำความสะอาดให้แห้งอยู่เสมอ ตัวเครื่องปรับอากาศต้องทำความสะอาดบ่อย ๆ เพราะอาจมีทั้งฝุ่น และเชื้อราสะสมอยู่ได้ แม้เครื่องปรับอากาศในรถยนต์ก็มีเชื้อราอยู่ได้เช่นกัน
            กล่าวโดยย่อ วิธีที่จะกำจัดเชื้อราให้หมดไปจากบริเวณที่อยู่อาศัย และที่ทำงานคือ พยายามอย่าให้เกิดความชื้น หรือมีบริเวณอับทึบเกิดขึ้น กำจัดแหล่งเพราะเชื้อราต่าง ๆ ดังได้กล่าวมาแล้ว เมื่อพบมีเชื้อราเกิดขึ้นที่ใด ต้องทำลายโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อรา ซึ่งมีจำหน่ายในท้องตลาดหลายชนิด ชนิดที่หาซื้อง่ายและราคาไม่แพง คือน้ำยาดับกลิ่นไลโซล หรือน้ำยาฟอกฝ้าขาวเช่น คลอร็อกซ์ เป็นต้น
            ฉ.  ละอองเกสรพืช  เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่พบภายนอกบ้าน พืชทุกชนิดที่มีดอกจะมีละอองเกสร   เล็ก ๆ ที่หลุดร่วงออกมาได้ โดยเฉพาะหญ้า และวัชพืช จะมีละอองเกสรขนาดเล็ก เบา และมีจำนวนมากจึงปลิวตามลมไปได้เป็นระยะไกล ๆ และพบมีอยู่ทั่วไปในอากาศที่เราหายใจ ดังนั้นแม้บ้านผู้ป่วยจะไม่มีหญ้า หรือวัชพืชอะไรเลย ก็อาจเกิดอาการแพ้ละอองเกสรได้ การกำจัดหรือหลีกเลี่ยงทำได้ยาก เพราะเราไม่สามารถมองเป็นละอองเกสรที่ลอยอยู่ในอากาศได้ แต่ถ้าในบ้านมีสนามหญ้า ต้องตัดหญ้าและวัชพืชในสนามบ่อย ๆ เพื่อลดจำนวนเกสรของมัน โดยให้ผู้อื่นทำแทน เพราะผู้ป่วยที่แพ้ละอองเกสร อาจเกิดอาการได้ถ้าไปตัดหญ้าในสนามด้วยตนเอง
            สำหรับดอกไม้ที่มองเห็นได้ง่ายมีสีสวยงาม เช่น กุหลาบ กล้วยไม้ ฯลฯ ละอองเกสรของมันมักมีจำนวนไม่มาก และไม่ลอยไปไกล แต่ไม่แนะนำให้เอามาจัดแจกันไว้ในห้อง หรือนำมาสูดดม เพราะอาจทำให้เกิดอาการแพ้ได้เช่นกัน

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด