ความผิดปกติของการได้ยินกับการใช้เครื่องช่วยฟัง

ความผิดปกติของการได้ยินกับการใช้เครื่องช่วยฟัง

ผศ.พ.ญ.สุวัจนา  อธิภาส
ภาควิชาโสต นาสิก ลางริงซ์วิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

สาเหตุของความผิดปกติของการได้ยิน 
           ความผิดปกติของการได้ยินเกิดจากหลายสาเหตุ เช่น ความผิดปกติตั้งแต่กำเนิด  เกิดจากอุบัติเหตุ  การติดเชื้อ โรคประจำตัวต่าง ๆ ยาและสารเคมี  เนื้องอกและโรคอื่น ๆ นอกจากนี้ ภาวะที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและยากที่จะหลีกเลี่ยงได้ก็คือ การได้ยินเสื่อมที่พบในผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นความเสื่อมตามสังขาร และอีกกลุ่มที่สำคัญถือเป็นกรณีเร่งด่วนที่ต้องการเอาใจใส่ดูแลคือ เด็ก เพราะจะมีผลกระทบต่อการพัฒนาการทางภาษา การเรียนรู้  อารมณ์และพัฒนาการทางสังคม

ความจำเป็นในการใช้เครื่องช่วยฟัง
           เครื่องช่วยฟังก็คือเครื่องขยายเสียง ช่วยให้ผู้ใช้ได้ยินเสียงดังขึ้น โดยที่เครื่องช่วยฟังที่ดีจะสามารถตั้งค่าความดังให้มีขีดจำกัดอยู่ในช่วงที่ฟังแล้วสบายหูกำลังดี ไม่ค่อยเกินไปและไม่ดังเกินไป ตลอดจนสามารถปรับเสียงทุ้มเสียงแหลมได้พอเหมาะกับความต้องการของผู้ใช้แต่ละราย
เมื่อมีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินซึ่งไม่สามารถรักษาได้จึงจำเป็นต้องใช้เครื่องช่วยฟัง และก่อนที่จะตัดสินว่าสมควรใช้เครื่องช่วยฟังหรือไม่นั้นต้องตรวจวัดระดับการได้ยิน และหาสาเหตุของการได้ยินเสื่อมก่อน เพื่อที่จะได้รักษาควบคู่ไปด้วยกัน นอกจากนี้ระดับการได้ยินที่ตรวจวัดจะเป็นส่วนสำคัญในการเลือกเครื่องช่วยฟังและปรับแต่งความดังและเสียงทุ้มแหลมให้พอเหมาะกับผู้ใช้แต่ละราย

ชนิดและประสิทธิภาพของเครื่องช่วยฟัง
อาจแบ่งได้ตามลักษณะของเครื่อง ได้แก่
1. เครื่องช่วยฟังแบบกล่อง ลักษณะเป็นกล่องแบน ๆ กว้างยาวประมาณ 2 เท่าของ
กล่องไม้ขีด กล่องนี้จะใส่ไว้ในกระเป๋าเสื้อแล้วมีสายไฟเล็ก ๆ ต่อมายังหูฟังที่เสียบในหู
2. เครื่องช่วยฟังแบบทัดหลังหู ลักษณะเป็นกล่องขนาดนิ้วหัวแม่มือ โค้งเข้ากับหลังใบหูแล้วมีท่อพลาสติกต่อเข้ากับหูฟังที่เสียบในหู
3. เครื่องช่วยฟังแบบใส่ในหู จะบรรจุในแบบพิมพ์ซึ่งมีรูปร่าง และขนาดพอดีกับช่องหูของผู้ใช้แต่ละคน
4. เครื่องช่วยฟังแบบแว่นตา ตัวเครื่องจะฝังอยู่ในก้านแว่นตา แล้วมีท่อพลาสติกนำเสียงเข้าสู่หูและถ้าแบ่งตามกลไกการทำงานของเครื่อง ก็จะแบ่งได้ 3 ชนิด คือ  เครื่องช่วยฟังแบบอะนาล็อก(analog)  เครื่องช่วยฟังแบบอะนาล็อก (analog) แต่ปรับเครื่องโดยระบบดิจิตอล ซึ่งบางครั้งเรียกว่าแบบ โปรแกรมเมเบิล (programmable)   เครื่องช่วยฟังแบบดิจิตอล ซึ่งจะทำงานได้ซับซ้อนขึ้น เช่น ตั้งค่าการปรับเสียงได้ละเอียดขึ้น หรือสามารถตัดเสียงรบกวนได้โดยอัตโนมัติ เป็นต้น
           การได้ยินชัดเจนเหมือนปกติของเสียงที่ผ่านการขยายจากเครื่องช่วยฟังอาจเพี้ยนหรือแปร่งไปบ้างเล็กน้อย ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชนิดและคุณภาพของเครื่อง นอกจากนี้ปัจจัยที่สำคัญคือ ระดับการได้ยินของผู้ป่วย ถ้าหูตึงมากย่อมต้องใช้กำลังขยายมาก ซึ่งเสียงย่อมมีโอกาสผิดเพี้ยนไปได้มากกว่าเมื่อใช้กำลังขยาย   น้อย ๆ

ข้อจำกัดหรือข้อควรระวังในการใช้เครื่องช่วยฟัง
           ข้อจำกัดที่จำเป็นต้องทำความเข้าใจก่อนใช้มีหลายประการ เช่น
คนหูตึงที่ต้องการใช้เครื่องช่วยฟังต้องพอมีการได้ยินหลงเหลืออยู่บ้าง หรือยังคงต้องได้ยินเสียงดัง ๆ บ้าง นั่นก็คือ ประสาทหูและสมองบางส่วนยังพอทำงานได้ ดังนั้นผู้ที่หูหนวก ไม่ได้ยินเสียงอะไรเลยจะไม่ได้รับประโยชน์จากเครื่องช่วยฟัง
การที่ผู้ใช้เครื่องช่วยฟังจะสามารถเข้าใจเสียงพูดได้ดีเพียงใดขึ้นอยู่กับสมรรถภาพของประสาทหูและสมอง ถ้าเสื่อมมาก แม้เครื่องจะขยายเสียงแล้วก็อาจฟังแล้วไม่ชัดหรือไม่เข้าใจความหมายทั้งหมด ต้องใช้อ่านริมฝีปากของคู่สนทนาเพื่อช่วยให้เข้าใจความหมายได้ดียิ่งขึ้น
        ส่วนข้อควรระวัง โดยทั่วไปแล้วก็เหมือนกับการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป คือ ไม่ควรทำตกหรือเปียกน้ำ เพราะเครื่องจะเสีย แต่ที่ต้องระวังเป็นกรณีเฉพาะในการใช้เครื่องมือการปรับระดับความดังให้พอเหมาะ ถ้าเสียงค่อยเกินไปจะได้ยินไม่ชัด ในเด็กก็จะทำให้พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเสียงดังเกินไป จะได้ยินไม่ชัด ในเด็กก็จะทำให้พูดไม่ชัดหรือพูดไม่ได้ ในทางตรงกันข้าม ถ้าเสียงดังเกินไป ก็จะเกิดอันตรายต่อหูชั้นใน  ซึ่งมีผลทำให้การได้ยินยิ่งเสื่อมลงมากขึ้น
ใช้เครื่องช่วยฟังมีโอกาสกลับมาได้ยินปกติหรือไม่
           การจะกลับมาได้ยินเป็นปกติอีกไม่ได้เป็นผลมาจากเครื่องช่วยฟัง แต่เป็นจากสาเหตุที่ทำให้หูตึง เช่น ถ้าหูตึงจากกระดูกหูผิดปกติก็จะสามารถกลับเป็นปกติได้หลังผ่าตัดรักษา แต่ถ้าสาเหตุที่หูตึงนั้นมาจากความเสื่อมของสังขารก็ไม่สามารถกลับมาเป็นปกติได้


ข้อควรระวังและป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเรื่องการได้ยิน
 แม้แต่ในคนปกติทั่ว ๆ ไปก็ไม่ควรประมาท ควรมีความระมัดระวังตนเองตามสมควร เช่น
ถ้ามีความผิดปกติกับหู ควรปรึกษาแพทย์ เช่น ปวดหู คันหู มีน้ำหรือหนองไหลจากหู ได้ยิน
น้อยลงหรือมีเสียงในหู ตลอดจนเวียนศีรษะ
ไม่ควรแคะหรือปั่นหู
ระวังการใช้ยาหรือสารเคมีต่าง ๆ เพราะอาจเป็นพิษต่อประสาทหูได้
หลีกเลี่ยงเสียงดัง ถ้าเลี่ยงได้ เช่น ต้องทำงานในโรงงาน หรือเป็นตำรวจ ทหารที่ต้องฝึกยิงปืน ควรใช้เครื่องป้องกันเสียง
ระวังการกระทบกระเทือนศีรษะ เช่น ควรสวมหมวกกันน็อกเมื่อจะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์
ฉีดวัคซีนป้องกันโรคต่าง ๆ เช่น หัด หัดเยอรมัน คางทูม ซึ่งรวมอยู่ในเข็มเดียวกันและฉีดวัคซีนป้องกันโรคสมองอักเสบ
รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ตลอดจนรักษาโรคประจำตัวต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เช่น โรคเบาหวาน หรือความดันโลหิตสูงเพราะล้วนแล้วแต่มีผลให้การได้ยินเสื่อมลงได้
           การได้ยินถือว่าเป็นระบบการรับรู้ที่สำคัญที่สุดระบบหนึ่งของมนุษย์เรา ถ้าการได้ยินผิดปกติก็จะมีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตในทุก ๆ ด้าน ดังนั้น จึงควรระวังไม่ให้การได้ยินเสื่อมลงไปก่อนวัยอันควร และถ้ามีปัญหาเกี่ยวกับการได้ยินก็อย่าเพิ่งท้อแท้สิ้นหวัง ควรปรึกษาแพทย์ เพราะบางสาเหตุอาจรักษาให้กลับมาเป็นปกติได้ ส่วนบางสาเหตุ แม้จะแก้ไขไม่ได้ แต่ก็สามารถฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินที่เหลืออยู่โดยวิธีอื่น เช่น การใช้เครื่องช่วยฟัง เพื่อให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นตามศักยภาพของแต่ละบุคคล


 

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด