เมื่อคุณแม่มือใหม่เตรียมคลอด ตอนที่ 1

เมื่อคุณแม่มือใหม่เตรียมคลอด (ตอนที่ 1)

 

ผศ.ดร.นพ.ดิฐกานต์ บริบูรณ์หิรัญสาร
นางสาวราตรี ศิริสมบูรณ์
ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


          
ช่วงเวลาที่ตื่นเต้นและน่ากลัวที่สุดสำหรับหญิงตั้งครรภ์ก็คงเป็นเรื่องของการเผชิญหน้ากับความเจ็บปวดระหว่างการคลอด สืบเนื่องจากความเชื่อว่าการคลอดเป็นสิ่งที่เจ็บปวดและมีอันตราย รวมทั้งการรับรู้จากสื่อต่างๆ ที่แสดงให้เห็นถึงความเจ็บปวดในการคลอดอย่างแสนสาหัส ซึ่งในความเป็นจริงความเจ็บปวดในขณะเจ็บครรภ์และคลอดบุตรนั้น ไม่ได้น่ากลัวหรือรุนแรงอย่างที่เห็น แต่จะเป็นความเจ็บปวดตามธรรมชาติและแฝงไว้ด้วยความปลื้มปิติของผู้เป็นแม่ที่จะได้เห็นหน้าลูก หลังจากอุ้มท้องมานานถึง 9 เดือน มาเตรียมตัวเพื่อการคลอดด้วยกัน หญิงตั้งครรภ์มีเรื่องที่ต้องเรียนรู้และปฏิบัติมากมายตั้งแต่เริ่มตั้งครรภ์ เริ่มจากการฝากครรภ์ มาตรวจครรภ์ตามนัด การรับประทานอาหารที่มีคุณค่า การรับประทานยาบำรุง การปฏิบัติตัวในระยะตั้งครรภ์ รวมทั้งข้อควรระวังที่อาจทำให้เกิดอันตรายขณะตั้งครรภ์ จนถึงการเตรียมตัวเพื่อการคลอด การตัดสินใจเลือกวิธีการคลอดและสถานที่คลอด นอกจากนั้นยังมีการเตรียมสิ่งของเครื่องใช้สำหรับการมาอยู่โรงพยาบาลเพื่อคลอด และสำหรับการเลี้ยงลูกคนใหม่ ดังนั้นถ้าหญิงตั้งครรภ์ สามี ครอบครัวและญาติได้มีความรู้ความเข้าใจในการเตรียมตัวคลอดก็สามารถจะเป็นเพื่อนและเป็นกำลังใจให้หญิงตั้งครรภ์มีความพร้อมในการเข้าสู่การคลอดที่มีคุณภาพ

สัญญาณเตือนของการเข้าสู่ระยะคลอด
           ในที่สุดเวลาที่รอคอยก็มาถึง เมื่ออายุครรภ์ถึงกำหนดคลอด และคุณแม่เริ่มเจ็บท้องคลอดเริ่มด้วยการปวดหน่วงๆ ที่หลังหรือปวดร้าวลงไปถึงต้นขา และรู้สึกว่ามดลูกหดรัดตัว ปวดเหมือนเวลาปวดประจำเดือนมากๆ ถ้ามดลูกหดรัดตัวแรงและถี่ ประมาณทุก 5 นาที คุณแม่ควรตัดสินใจรับมาโรงพยาบาลทันที และควรเผื่อเวลาสำหรับการเดินทางด้วย สำหรับการเจ็บครรภ์จริงนี้จะแตกต่างจากการเจ็บครรภ์เตือน ซึ่งจะมีการหดรัดตัวของมดลูกเช่นกัน แต่จะไม่สม่ำเสมอและไม่รุนแรงและอาการจะหายไปได้เอง

           อาการสำคัญที่อาจเกิดร่วมกับการเจ็บครรภ์ได้แก่ ถุงน้ำคร่ำแตกหรือที่เรียกว่าน้ำเดิน โดยจะมีน้ำปริมาณมากไหลออกมาจากช่องคลอด ถึงแม้คุณแม่อาจไม่รู้สึกเจ็บท้อง ก็ควรรีบมาโรงพยาบาล เพราะเมื่อมีน้ำเดินจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ นอกจากนั้นคุณแม่บางรายอาจมีมูกหรือมูกปนเลือดออกมาทางช่องคลอดได้ด้วย

การรับคุณแม่ไว้ในโรงพยาบาลเพื่อการคลอด
           การเตรียมตัวคุณแม่ให้พร้อมสำหรับการคลอดเมื่อมาถึงโรงพยาบาล จะเริ่มด้วยการต้อนรับด้วยอัธยาศัยไมตรีและความอบอุ่นจากแพทย์และพยาบาลในห้องคลอด มีการตรวจสอบใบบันทึกประวัติและข้อมูลของการฝากครรภ์ รวมทั้งสอบถามคุณแม่ถึงอาการที่มาโรงพยาบาล เช่น เริ่มเจ็บครรภ์ตั้งแต่เมื่อใด มีน้ำเดินหรือมูกเลือดออกจากช่องคลอดหรือไม่ เป็นต้น หลังจากนั้นจะมีการตรวจร่างกายโดยละเอียด ทำการประเมินสภาพของทารกในครรภ์ อาจมีการตรวจภายในเพื่อประเมินความก้าวหน้าของการคลอด หลังจากนั้นพยาบาลในห้องคลอดจะดูแลทำความสะอาดร่างกายและเปลี่ยนให้ใส่เสื้อผ้าของโรงพยาบาล และนำคุณแม่เข้าสู่ห้องรอคลอด หรือห้องคลอด เพื่อในการดูแลต่อไป

การประเมินความก้าวหน้าของการคลอด
           การตรวจภายในคุณแม่ที่เข้าสู่ระยะคลอดจะทำเป็นระยะเพื่อประเมินความก้าวหน้าของการคลอด ได้แก่ การเปิดของปากมดลูกและการเคลื่อนต่ำลงมาของศีรษะเด็ก การตรวจภายในจะมักตรวจในท่านอนหงายชันเข่าบนเตียงหรือขึ้นขาหยั่งซึ่งในคุณแม่ควรพยายามผ่อนคลายให้มากที่สุด และไม่เกร็งขณะตรวจ เพื่อลดความเจ็บปวด

-มีต่อตอนที่ 2-

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด