ความหวังใหม่ของผู้มีบุตรยาก ตอนที่ 2

ความหวังใหม่ของผู้มีบุตรยาก (ตอนที่ 2)

รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์
ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ถาม.การที่จะเลือกใช้เทคนิควิธีการแก้ไขผู้มีบุตรยากขึ้นอยู่กับสิ่งใด
ตอบ. การเลือกวิธีการรักษาผู้มีบุตรยากในแต่ละคู่สมรสอาจแตกต่างกันไปขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการ เช่น อายุของฝ่ายหญิง ระยะเวลาของการมีบุตรยาก สาเหตุความผิดปกติที่ตรวจพบ ความต้องการหรือความรีบด่วนที่ต้องการมีบุตร รวมไปจนถึงระดับเศรษฐฐานะด้วย ตัวอย่าง เช่น คู่สมรสที่อายุยังไม่มากนัก และยังแต่งงานมาได้ไม่นานสัก 1-2 ปี ถ้าตรวจแล้วไม่พบความผิดปกติใด ก็อาจให้การรักษาโดยกำหนดวันมีเพศสัมพันธ์ในวันที่คาดว่าจะมีไข่ตก โดยอาจให้ลองดูประมาณ 3-6 เดือน ถ้ายังไม่สามารถมีการตั้งครรภ์ได้ ก็อาจให้การรักษาในระดับต่อไป เช่น คัดเชื้อฉีดผสมเทียม หรือทำกิ๊ฟท์หรือเด็กหลอดแก้ว เป็นต้น แต่ในกรณีคู่สมรสที่อายุมาก เช่น ฝ่ายหญิงอายุใกล้ 40 ปี ระยะการมีบุตรยากมากกว่า 5 ปี โดยเฉพาะถ้าฝ่ายชายมีเชื้ออสุจิผิดปกติร่วมด้วย ก็มักจะแนะนำให้ทำการรักษาโดยวิธีเด็กหลอดแก้ว จำเป็นต้องใช้ค่าใช้จ่ายค่อนข้างสูงและไม่ได้หมายความว่าจะต้องเกิดการตั้งครรภ์จากการรักษาเสมอไป สำหรับรายละเอียดของเทคนิคการทำเด็กหลอดแก้วยังมีแตกต่างกันไป เช่น รายที่มีเชื้ออสุจิผิดปกติ อาจใช้การทำอิ๊คซี่ช่วยให้เกิดการปฏิสนธิระหว่างไข่กับอสุจิ หรือในรายที่ฝ่ายชายเป็นหมัน อาจทำการตัดชิ้นเนื้อจากลูกอัณฑะโดยวิธีเทเซ่เพื่อหาเชื้ออสุจิมาใช้ในการรักษาเป็นต้น

ถาม.การช่วยเหลือแต่ละวิธีมีโอกาสสำเร็จมากน้อยเพียงใดและขึ้นกับปัจจัยใดบ้าง
ตอบ. ก่อนจะพูดถึงโอกาสสำเร็จ ต้องเข้าใจก่อนว่าหลักของการรักษาการมีบุตรยากนั้นไม่ใช่เป็นการรักษาโรคเหมือนภาวะความเจ็บป่วยอื่น ๆ แต่เป็นการช่วยให้คู่สมรสมีโอกาสการตั้งครรภ์ที่สูงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นไข่ตก การคัดเชื้อฉีดผสมเทียม หรือแม้แต่การทำเด็กหลอดแก้วก็ตามที เหล่านี้ก็ไม่ได้หมายความว่าคนไข้จะเกิดการตั้งครรภ์เสมอไป ซึ่งในแต่ละวิธีก็มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์แตกต่างกันไป โดยปกติแล้วคนทั่วไป เมื่อแต่งงานอยู่กินกันจะมีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ในแต่ละรอบเดือนเฉลี่ยประมาณ 20% ซึ่งคู่สมรสที่มีบุตรยากจะมีโอกาสที่ต่ำกว่านี้มาก การคัดเชื้อฉีดผสมเทียมในวันที่มีไข่ตกจะมีโอกาสสำเร็จประมาณ 10-15% ต่อการฉีดในรอบเดือนหนึ่ง ๆ สำหรับการทำเด็กหลอดแก้ว การใส่ตัวอ่อนกลับครั้งหนึ่ง ๆ จะมีโอกาสตั้งครรภ์ประมาณ 25-30% เท่านั้น ไม่ได้สูงมากอย่างที่หลายคนเข้าใจ เนื่องจากตัวอ่อนที่ใส่กลับยังต้องมีการเจริญต่อไปจนถึงระยะที่สามารถฝังตัวและเกิดการตั้งครรภ์ต่อไปได้ ซึ่งปัจจัยใหญ่ที่มีผลต่อการเจริญของตัวอ่อนนี้ คือความแข็งแรงสมบูรณ์ของตัวอ่อนเอง โดยตัวอ่อนแต่ละตัวที่เกิดขึ้นจะมีความสมบูรณ์แตกต่างกันไป พบว่าส่วนใหญ่ของตัวอ่อนในผู้ป่วยที่อายุน้อยจะมีความแข็งแรงสมบูรณ์กว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า ซึ่งก็เป็นประกฎการณ์ของการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติที่คู่สมรสที่อายุน้อยจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้สูงกว่าผู้ที่มีอายุมาก

ถาม.ข้อแนะนำท้ายรายการสำหรับผู้ที่ต้องการแก้ไขปัญหาผู้มีบุตรยาก
ตอบ. ปัญหาการมีบุตรยากแม้ไม่ใช้เป็นภาวะความเจ็บป่วยเหมือนโรคอื่นทั่วไป แต่ก็มีความสำคัญสำหรับชีวิตครอบครัวที่สมบูรณ์ ในปัจจุบัน เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ได้มีการพัฒนาไปมาก และสามารถช่วยให้คู่สมรสจำนวนไม่น้อยสามารถมีบุตรได้สมความปรารถนา จากประสบการณ์การรักษาผู้ป่วย พบว่าอุปสรรคใหญ่ที่มีผลต่ออัตราความสำเร็จมักจะเป็นความเสื่อมสมรรถภาพของรังไข่ในฝ่ายหญิง ทำให้ไข่ที่จะผลิตออกมามีคุณภาพต่ำ และมักได้ตัวอ่อนที่ไม่มีความสมบูรณ์ จึงทำให้โอกาสเกิดการตั้งครรภ์ต่ำ ซึ่งความเสื่อมสมรรถภาพของรังไข่นี้ไม่สามารถจะแก้ไขได้ไม่ว่าจะวิธีใด และมักจะแปรเปลี่ยนไปตามอายุที่มากขึ้น ดังนั้นจึงแนะนำว่าคู่สมรสที่คิดว่าตัวเองมีปัญหาการมีบุตรยากควรจะรีบปรึกษาแพทย์และทำการรักษาแต่เนิ่น ๆ เพราะถ้ายิ่งรอต่อไปจะทำให้โอกาสสำเร็จจากการรักษาลดลงเรื่อย ๆ

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด