ความหวังใหม่ของผู้มีบุตรยาก ตอนที่ 1

ความหวังใหม่ของผู้มีบุตรยาก (ตอนที่ 1)

รศ.นพ.สุภักดี จุลวิจิตรพงษ์
ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ถาม. อย่างไรจึงจะเรียกได้ว่ามีบุตรยาก
ตอบ. ปกติแล้ว เราจะถือว่าคู่สมรสใดเข้าข่ายการมีบุตรยาก ก็คือ เมื่อคู่สมรสนั้นได้แต่งงานอยู่กินกันตามปกติ เกินกว่า 1 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่สามารถมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นได้ โดยที่ไม่ได้ใช้วิธีการคุมกำเนิดใด ๆ เหตุผลที่เราถือระยะเวลา 1 ปี เป็นเกณฑ์ เนื่องจากส่วนใหญ่ประมาณร้อยละ 80 ของคู่สมรสทั่วไปจะสามารถมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นภายในระยะเวลา 1 ปีนับจากเริ่มแต่งงาน ดังนั้นคู่สมรสที่มีบุตรยากจึงเป็นคู่สมรสที่มีโอกาสเกิดการตั้งครรภ์ได้ต่ำกว่าคนทั่วไป แม้จะไม่ได้เป็นหมันก็ตามที

ถาม.ภาวะการมีบุตรยากพบได้บ่อยเพียงใด
ตอบ. พบว่าประมาณร้อยละ 15 ของคู่สมรสทั่วไป จะมีปัญหาการมีบุตรยาก ทั้งนี้ไม่ขึ้นกับว่าจะเป็นเชื้อชาติใด ทั้งไทย จีน อินเดีย หรือชาติยุโรป ก็ตาม ดังนั้นจึงไม่มีใครจะรู้ล่วงหน้าว่าเมื่อตัวเองแต่งงานแล้วจะมีปัญหาการมีบุตรยากหรือไม่ อย่างไรก็ตาม เรายังพบว่าด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้คู่สมรสบางคู่มีบุตรยากขึ้น ด้วยเหตุว่าความสามารถในการเจริญพันธุ์ หรือความพร้อมของร่างกายที่จะเกิดการตั้งครรภ์ โดยเฉพาะในฝ่ายหญิงจะแปรเปลี่ยนไปตามอายุ โดยความสามารถในการเจริญพันธุ์จะสูงสุดในระหว่างอายุ 20-30 ปี และจะลดลงหลัง 35 ปี และจะต่ำมากภายหลังอายุ 40 ปี เราพบว่ามีคู่สมรสจำนวนไม่น้อยที่เริ่มแต่งงานและพร้อมจะมีบุตรเมื่ออายุหลัง 35 ปี ไปแล้ว ซึ่งจะมีแนวโน้มการมีบุตรยากสูงกว่าคนทั่วไป

ถาม.การมีบุตรยากเกิดจากสาเหตุใด
ตอบ. ปัญหานี้มักจะถูกคนไข้ถามอยู่บ่อย ๆ ว่าสาเหตุที่เขาไม่สามารถมีบุตรได้นั้น เป็นเพราะความผิดปกติของใคร ในความจริงแล้วพบว่าคู่สมรสบางคู่ ทางฝ่ายหญิงมีความผิดปกติ เช่น ภาวะการไม่ตกไข่ มีพังผืดเกิดขึ้นในช่องเชิงกรานหรือที่ปีกมดลูก ท่อรังไข่อุดตัน มีเนื้องอกที่ตัวมดลูก เกิดภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกไปฝังตัวในช่องเชิงกรานที่เรียกว่าภาวะ endometriosis ซึ่งมักจะพบบ่อยในหญิงที่มีบุตรยาก เป็นต้น ในบางคู่ สาเหตุอาจเกิดจากฝ่ายชายเองมีเชื้ออสุจิผิดปกติ เช่น เชื้อน้อย หรืออ่อนแอ หรือมีรูปร่างผิดปกติ หรือ แม่แต่เป็นหมันคือตรวจไม่พบตัวอสุจิในน้ำอสุจิเลยก็ได้ อย่างไรก็ตาม มีคู่สมรสจำนวนไม่น้อยที่สาเหตุการมีบุตรยาก เกิดจากความผิดปกติของทั้ง 2 ฝ่ายร่วมกัน ไม่ใช่จากคนใดคนหนึ่งเท่านั้น
        นอกจากนี้ ยังพบว่ามีคู่สมรสที่มีบุตรยากอีกจำนวนหนึ่งประมาณ 15-20% ที่แม้จะตรวจวินิจฉัยแล้วก็ไม่พบความผิดปกติอะไร กลุ่มนี้จัดเป็นกลุ่มที่มีบุตรยากโดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นปัญหาจากความสามารถในการเจริญพันธุ์ต่ำเอง และมักจำเป็นต้องให้การรักษาเพื่อช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์

ถาม. เมื่อสงสัยว่าตัวเองเข้าข่ายมีบุตรยากควรจะทำอย่างไร
ตอบ. แนะนำว่าควรมาพบแพทย์พร้อมกันทั้งสามีและภรรยา ซึ่งอาจจะเป็นสูติ-นรีแพทย์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาการมีบุตรยากโดยตรง โดยเบื้องต้นแพทย์จะทำการซักประวัติตรวจร่างกาย รวมทั้งตรวจเช็คภายในว่ามีความผิดปกติเบื้องต้นหรือไม่ จากนั้นจะทำการตรวจวิเคราะห์เพิ่มเติมตามแต่กรณีที่สงสัย เช่น เจาะเลือดหาความผิดปกติของระบบฮอร์โมนอาจให้วัดปรอททุกเช้าหรือตรวจอัลตราซาวน์เพื่อประเมินการตกไข่ หรือ ฉีดสีเอ็กซเรย์เข้าโพรงมดลูกเพื่อดูว่ามีท่อรังไข่อุดตันหรือไม่ ในบางรายอาจจะส่องกล้องตรวจดูในอุ้งเชิงกรานว่ามีพังผืดเกิดขึ้นหรือไม่ สำหรับในฝ่ายชาย จะทำการเก็บเชื้ออสุจิ เพื่อประเมินหาความผิดปกติเป็นต้น

ถาม.ปัจจุบันเรามีวิธีแก้ไขภาวะผู้มีบุตรยากอย่างไรบ้าง
ตอบ.  แนวทางการรักษาผู้มีบุตรยากในปัจจุบัน เราอาจแบ่งเป็น 2 แนวทางใหญ่ ๆ คือ แนวทางแรกซึ่งเป็นการรักษาแต่ดั้งเดิมคือการให้การรักษาตามสาเหตุที่ตรวจพบ เช่น ถ้าพบว่ามีการไม่ตกไข่ ก็อาจให้ยากระตุ้นการตกไข่หรือในบางรายที่พบว่ามีการอุดตันของท่อนำไข่ หรือมีผังพืดในช่องเชิงกราน ก็อาจทำการผ่าตัดต่อท่อรังไข่ใหม่หรือผ่าตัดเลาะพังผืดเป็นต้น อย่างไรก็ตามการรักษาโดยวิธีดังกล่าวพบว่ามีคู่สมรสจำนวนไม่น้อย ไม่อาจมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นภายหลังการรักษาเนื่องจากในขบวนการตั้งครรภ์ยังจำเป็นต้องอาศัยปัจจัยทางธรรมชาติอื่น ๆ อีกมาก รวมทั้งความผิดปกติบางอย่างก็ไม่อาจจะแก้ไขได้ เช่น ภาวะเชื้ออสุจิผิดปกติในฝ่ายชาย ดังนั้น ในปัจจุบันจึงได้มีการพัฒนาแนวทางการรักษาที่สอง คือการใช้เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ เช่น การทำเด็กหลอดแก้ว หรือกิ๊ฟท์มาช่วยให้เกิดการตั้งครรภ์ เนื่องจากการรักษานี้ส่วนหนึ่งไม่ได้พึ่งพากระบวนการของการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติ แต่เป็นการนำเอาเซลล์สืบพันธุ์คือ ไข่ของเพศหญิงและเชื้ออสุจิของเพศชาย มาเลี้ยงภายนอกร่างกายให้ผสมเป็นตัวอ่อนก่อนที่จะใส่กลับเข้าในโพรงมดลูกเพื่อให้เกิดการตั้งครรภ์ จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไขความผิดปกติต่าง ๆ ที่เป็นสาเหตุ เช่น ท่อรังไข่ตัน หรือเชื้ออสุจิผิดปกติ เป็นต้น

- มีต่อตอนที่ 2-

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด