การบริจาคอสุจิและไข่

การบริจาคอสุจิและไข่

รศ.นพ. สมบรูณ์ คุณาธิคม
ภาควิชาสูติศาสตร์ - นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

1. ความเป็นมาของการบริจาคอสุจิและไข่ ในประเทศไทยมีมานานเพียงใด
ตอบ: ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่า คู่สมรสที่มีบุตรยาก มีสาเหตุหลายอย่าง บางอย่างจะต้องรักษาตามสาเหตุ เช่น ไข่ไม่ตกก็ต้องให้ยาตกไข่ คู่สมรสที่จำเป็นจะต้องมาขอไข่หรืออสุจิบริจาค ก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง อาทิ ผู้ชายเป็นหมันไม่มีตัวอสุจิออกมาเลย เวลาจะตั้งครรภ์ก็อาจจะต้องขออสุจิของคนอื่น ซึ่งก็เป็นเหตุที่มาของการบริจาคอสุจิ ส่วนในฝ่ายหญิง บางคนอาจจะหมดประจำเดือนเร็ว เช่น อายุยังไม่ถึง 40 ปี รังไข่ไม่ทำงาน หรือถูกตัดรังไข่ ก็จะไม่มีไข่ที่จะตั้งครรภ์ด้วยตัวเอง กรณีนี้ก็จะต้องขอบริจาคไข่จากคนอื่น ไข่บริจาคกับอสุจิบริจาคจะแตกต่างกัน สำหรับอสุจิบริจาคเรามีมานานแล้ว โดยที่โรงพยาบาลศิริราชก็จะมีธนาคารอสุจิ คือ สถานที่เก็บอสุจิที่บริจาคแล้วมาแช่แข็งเก็บไว้ สำหรับใช้ในกรณีที่คู่สมรสที่สามีเป็นหมัน จริงๆแล้วการบริจาคอสุจิมีมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี แต่ในระยะแรกเราจะใช้อสุจิสดๆ แต่ในระยะหลังเนื่องจากมีปัญหาเรื่องโรคเอดส์ เพราะฉะนั้นในปัจจุบัน เราจึงจะใช้อสุจิแช่แข็งทั้งหมด คนที่จะบริจาคอสุจิ เราจะเก็บไว้ 6 เดือน เราจะเจาะเลือดผู้บริจาคเพื่อตรวจหาเชื้อเอดส์ ถ้าไม่มีเชื้อเอดส์ก็จะแสดงว่าในช่วงที่เก็บอสุจิจะไม่มีปัญหาเรื่องโรคเอดส์ สำหรับกรณีการบริจาคไข่จะแตกต่างกับการบริจาคอสุจิ การบริจาคไข่ถ้าตามรอบเดือนตามธรรมชาติจะมีเดือนละใบ จะต้องรอจังหวะ เพราะฉะนั้น ผู้ที่จะบริจาคไข่จะต้องได้รับฮอร์โมนฉีดกระตุ้นไข่ เพื่อให้ไข่สุกหลายๆใบ ซึ่งวิธีนี้เพิ่งจะนำมาใช้ไม่นาน หลังจากที่มีเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธ์ อาทิ เด็กหลอดแก้ว ( ประมาณ 10 กว่าปี )

2. ในการบริจาคเราจะมีการคัดเลือกกลุ่มผู้บริจาคอย่างไร
ตอบ:สำหรับ อสุจิบริจาคโดยทั่วไป เราจะต้องแน่ใจว่าผู้บริจาคจะไม่มีโรคทางพันธุกรรม โรคทางเพศสัมพันธ์ มีสติปัญญาดี ส่วนในกรณีขอผู้ขอรับบริจาค สิ่งแรกก็คือ ฝ่ายหญิงสามารถที่จะตั้งครรภ์ได้ ไม่เป็นโรคที่มีอันตรายระหว่างตั้งครรภ์ ผู้ให้และผู้รับจะไม่รู้กัน เพื่อตัดปัญหาการเรียกร้องสิทธิในภายหลัง เวลาเราจะให้เราจะต้องสังเกตรูปร่างลักษณะของคู่สมรสว่ามีลักษณะอย่างไร เพื่อพยายามหาอสุจิที่ใกล้เคียงกัน โดยเฉพาะเรื่องของ กรุ๊ปเลือด สีตา สีผิว สีผม ส่วนสูง จะให้ใกล้เคียงมากที่สุด

3. ผู้บริจาคจะต้องมีการเตรียมตัวหรือผู้คุยกับแพทย์ก่อนหรือไม่
ตอบ:สำหรับเรื่องการบริจาค ปัจจุบันเราได้จากนักศึกษาแพทย์ ซึ่งเพียงพออยู่แล้ว ไม่ได้รับทั่วไปเนื่องจากจะยากต่อการติดตามผล สืบประวัติ ซึ่งส่วนใหญ่นักศึกษาแพทย์มักจะต้องมีการตรวจร่างกายก่อนข้ารับการศึกษาโดยละเอียดอยู่แล้ว คนที่บริจาค ก่อนที่บริจาคจะต้องไม่มีเพศสัมพันธ์อย่างน้อย 3 วันขึ้นไป โดยทั่วไปเราจะดูเรื่องของจำนวน อย่างน้อย 40 ล้านตัวต่อซีซีขึ้นไป อัตราการเคลื่อนไหวของอสุจิจะต้องมากกว่าร้อยละ 50

4.ในกรณีของคู่สมรสที่มาขอรับการรักษาจะต้องมีการพูดคุยทำความเข้าใจในรายละเอียดต่างๆก่อนหรือไม่
ตอบ: อันดับแรกทั้งสองฝ่ายจะต้องยอมรับก่อนว่าจะต้องใช้อสุจิของคนอื่น ในฝ่ายหญิงจะต้องตรวจร่างกายก่อนว่า รังไข่จะต้องมีการตกไข่ รังไข่จะต้องไม่อุดตัน มดลูกปกติ เป็นต้น โดยทั่วไปอัตราการตั้งครรภ์จะมีประมาณร้อยละ 30 เพราะฉะนั้น อาจจะต้องมีการมาทำซ้ำอีก นอกจากนี้จะต้องขึ้นอยู่กับสุขภาพของฝ่ายหญิงด้วย จะต้องมีสุขภาพที่แข็งแรง ควรเก็บเรื่องไว้เป็นความลับ เนื่องจากเป็นการป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นในภายหลัง

5. ในปัจจุบันมีคู่สมรสมาปรึกษามากน้อยเพียงใด
ตอบ: ถ้าเปรียบเทียบในอดีตจะถือว่ามีอัตราที่สูงขึ้น อาจจะมีเหตุผลมาจาก
1.ปัจจุบันผู้หญิงแต่งงานมีอายุมากขึ้น การทำงานของรังไข่น้อยลงโอกาสการตั้งครรภ์ก็จะน้อยลง
2.ปัจจุบันคู่สมรสเริ่มทราบว่า ถ้ามีปัญหาไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ตามธรรมชาติ แพทย์สามารถช่วยได้
3. สื่อในปัจจุบันให้ความสนใจมาก จึงทำให้คู่สมรสที่มีปัญหามาปรึกษาแพทย์เพิ่มขึ้น

6. ในระหว่างที่ตั้งครรภ์จะต้องดูแลแตกต่างจากหญิงตั้งครรภ์ปกติหรือไม่
ตอบ: ปกติในช่วงแรกที่คู่สมรสมาปรึกษา แพทย์จะต้องอธิบายให้คู่สมรสเข้าใจก่อนว่า แต่ละคู่การรักษาจะไม่เหมือนกัน จะต้องดูถึงสาเหตุก่อนว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใด โดยทั่วไปเฉลี่ยแล้วจะต้องพบแพทย์อย่างน้อย เดือนละครั้ง

7. ข้อแนะนำช่วงท้ายรายการ
ตอบ: โดยสรุปคู่สมรสที่แต่งงานแล้วเกิน 1 ปี โดยไม่คุมกำเนิด มีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอ แต่ไม่มีบุตร ก็ควรมาพบแพทย์ เพื่อมาตรวจหาสาเหตุที่ชัดเจน และหาแนวทางในการรักษาที่เหมาะสม
 

  

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด