การเตรียมพร้อมก่อนผ่าตัดหัวใจ

เตรียมพร้อมก่อนผ่าตัดหัวใจ


สาขาวิชาศัลยศาสตร์หัวใจและทรวงอก ภ.ศัลยศาสตร์

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล


           หัวใจ เป็นอวัยวะที่มีรูปร่างคล้ายกำปั้น ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ไม่มีพักผ่อน เพราะด้วยหน้าที่ที่ต้องสูบฉีดโลหิตไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย หากหยุดทำงานเมื่อใดก็หมายถึงการสูญเสียชีวิต ปัจจุบันมีผู้ป่วยโรคหัวใจจำนวนมากที่ประสบกับภาวะทุกข์ทรมานจากอาการป่วย การรักษาที่ดีที่สุดขณะนี้ก็คือ การผ่าตัด ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดีที่ปัจจุบัน โรคหัวใจทุกชนิดสามารถทำการผ่าตัดได้ แต่หากร่างกายมีภาวะของโรคร้ายแรงอื่น ๆ ร่วมด้วย อาทิ โรคมะเร็ง อาการสมองตายหรือพิการ และการติดเชื้อรุนแรง ก็อาจทำให้ไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ สำหรับสาเหตุหลักของการเกิดโรคอาจเกิดจากการติดเชื้อ และภาวะเป็นพิษต่าง ๆ นอกจากนี้ยังรวมถึงปัจจัยเสี่ยงที่เสริมให้เกิดโรค เช่น บุหรี่ อาหารบางประเภท โรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง เป็นต้น
โรคหัวใจมีกี่ชนิด และสาเหตุของโรคเกิดจากอะไร
           โรคหัวใจแบ่งออกเป็น 2 ชนิดใหญ่ ๆ คือ ชนิดที่เป็นแต่กำเนิด และเป็นภายหลังเกิด แต่ที่พบบ่อยในประเทศไทย ได้แก่
1. โรคหัวใจแต่กำเนิด
2. โรคหัวใจรูห์มาติก
3. โรคหัวใจจากความดันโลหิตสูง
4. โรคหัวใจจากหลอดเลือดหัวใจตีบตัน
5. โรคหัวใจจากภาวะอื่น ๆ

ทำไมต้องผ่าตัดหัวใจ
           โดยปกติ การรักษาสามารถทำได้ 3 วิธี คือ ใช้ยา ใช้เครื่องมือพิเศษ และการผ่าตัด ซึ่งแพทย์มักจะรักษาผู้ป่วยโดยการให้ยาก่อนเสมอ ควบคู่กับการแนะนำให้ปฏิบัติตัวต่าง ๆ เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน แต่หากอาการไม่ทุเลา หรือมีการดำเนินโรคไปในทางที่แย่ลง แพทย์ก็อาจแนะนำให้รักษาด้วยเครื่องมือพิเศษหรือใช้วิธีผ่าตัด สำหรับการใช้เครื่องมือพิเศษ ก็เช่น ใช้สายสวนที่มีปลายบอลลูนใส่เข้าไปถ่างหลอดเลือดตีบ หรือการใส่เครื่องมือพิเศษเข้าไปอุดรอยรั่ว ซึ่งวิธีที่กล่าวมาจะใช้ได้เฉพาะกรณีผู้ป่วยโรคหัวใจแต่กำเนิดที่มีผนังกั้นห้องบนรั่ว หรือในรายที่หลอดเลือดหรือลิ้นหัวใจตีบ แพทย์ก็จะใส่บอลลูนเข้าไปขยายได้ เป็นต้น
           ส่วนโรคหัวใจบางชนิดที่ใช้ยารักษาไม่ได้ผล หรือได้ผลน้อยมาก ก็จำเป็นต้องผ่าตัด เช่น โรคหัวใจแต่กำเนิด โรคเนื้องอกภายในหัวใจ โรคลิ้นหัวใจรั่วมาก โรคลิ้นหัวใจติดเชื้อที่ใช้ยาไม่ได้ผล หรือโรคกล้ามเนื้อหัวใจระยะสุดท้าย ซึ่งอาจจำเป็นต้องรักษาโดยการเปลี่ยนหัวใจ

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนผ่าตัดหัวใจ
           ในการเตรียมตัวก่อนเข้ารับการผ่าตัด ศัลยแพทย์จะต้องอธิบายถึงภาวะโรคหัวใจที่ท่านกำลังเป็นอยู่ เหตุผลที่ต้องผ่าตัด อัตราการเสี่ยง และผลดีผลเสียที่จะตามมา นอกจากนี้ยังจะแนะนำหลักปฏิบัติต่าง ๆ คือ
1. ควรไปพบทันตแพทย์ เพื่อรักษาโรคฟันผุ เหงือกอักเสบ ให้เรียบร้อยก่อน เพราะอาจเป็นสาเหตุของการติดเชื้อภายหลังการผ่าตัดได้ และข้อสำคัญคือ ผู้ป่วยจะต้องบอกทันตแพทย์ก่อนการรักษาว่าท่านเป็นโรคหัวใจเพื่อที่ทันตแพทย์จะได้ให้ยาปฏิชีวนะก่อนและหลังการทำฟัน
2. ควรงดดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ และงดบุหรี่ก่อนการผ่าตัดอย่างน้อย 1 สัปดาห์
3. ถ้ามีประวัติเลือดออกง่าย หยุดยากผิดปกติ หรือมีจ้ำเลือดตามร่างกายของผู้ป่วยหรือญาติพี่น้องจะต้องแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย
4. งดยาบางชนิดอย่างน้อย 5-7 วัน เช่น แอสไพริน หรือยาหัวใจบางชนิดซึ่งแพทย์จะเป็นผู้แจ้งให้ทราบ
5. ต้องแจ้งประวัติการแพ้ยา แพ้สารบางอย่างให้แพทย์ทราบ

ดูแลร่างกายอย่างไรเมื่อผ่าตัดหัวใจแล้ว
           ผู้ป่วยจะต้องอยู่ในหออภิบาลผู้ป่วยโรคหัวใจ (CCU Cardiac Care) ซึ่งจะมีแพทย์ พยาบาลที่ผ่านการอบรมมาโดยเฉพาะ นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถติดตามดูแลการทำงานของหัวใจตลอดเวลา และสำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจในระยะแรกก่อนที่จะหายใจเองได้ดี โดยปกติใช้เวลาพักฟื้นประมาณ 1-2 วัน นอกจากกรณีที่อาการยังไม่ดีขึ้นเท่าไรนัก ก็จำเป็นต้องพักฟื้นจนอาการดีขึ้นแล้วจึงค่อยย้ายออก

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด