สมุนไพรไม่ไกลตัว เรื่อง ว่านหางจระเข้
สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Aloe vera (L.) Burm.f.(๑)
ชื่อวงศ์ : ASPHODELACEAE(๑)
ชื่อท้องถิ่น : ว่านไฟไหม้, หางตะเข้(๒)
สรรพคุณตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย :
วุ้นจากใบ รสจืดเย็น ใช้รักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก(๒)
น้ำยางจากใบ เมื่อนำยางสีเหลืองของใบว่านหางจระเข้ มาเคี่ยวจนเข้มข้นและทิ้งไว้ให้แห้ง จะได้น้ำยางที่แข็งเป็นก้อนสีดำ เรียกว่า “ยาดำ” มีรสขม เอียน เปรี้ยว มีกลิ่นเฉพาะตัว ใช้เป็นยาถ่าย ถ่ายพิษไข้ ขับน้ำดี(๒, ๓)
วิธีการใช้เพื่อบรรเทาอาการแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก :
ใช้วุ้นจากใบ โดยเลือกใบว่านที่อยู่ส่วนล่างของต้น เพราะจะได้ใบที่ใหญ่ ได้ปริมาณเนื้อวุ้นจากใบค่อนข้างมากกว่าใบเล็ก ปอกเปลือกสีเขียวออกด้วยมีดที่สะอาด ล้างยางสีเหลืองออกจนเนื้อวุ้นสะอาด ขูดเอาเนื้อวุ้นใสมาทาบริเวณแผล ทาวันละ ๒ ครั้ง เช้า-เย็น จนกว่าแผลจะหาย ช่วยทำให้แผลหายเร็ว และไม่เกิดแผลเป็น นอกจากนี้ยังใช้ทารักษาผิวไหม้จากแสงแดดได้(๒)
ข้อควรระวัง :
- ก่อนใช้ว่านหางจระเข้ ควรทดสอบดูว่ามีอาการแพ้หรือไม่ โดยเอาวุ้นจากใบทาบริเวณท้องแขนด้านใน ถ้าไม่มีอาการคัน หรือผิวแดง สามารถใช้ได้(๒)
- การใช้ยาดำสำหรับเป็นยาถ่ายหรือแก้อาการท้องผูกอาจมีอาการข้างเคียง คือ ปวดมวนท้อง(๓)
เอกสารอ้างอิง
- Plants of the world online. Aloe vera (L.) Burm.f. [Internet]. [cited 2023 Jul 10]. Available from: https://powo.science.kew.org/taxon/urn:lsid:ipni.org:names:530017-1
- กระทรวงสาธารณสุข โดยสำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน. สมุนไพรในงานสาธารณสุขมูลฐาน สำหรับบุคลากรสาธารณสุข. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; ๒๕๓๓. หน้า ๑๔๙.
- กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. ตำราการแพทย์แผนไทยสำหรับแพทย์. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; ๒๕๕๘. หน้า ๑๒๒.