ดูแลสุขภาพอย่างไร เมื่อถึงวัยหมดระดู

สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล  

             วัยหมดระดูหรือวัยทอง หมายถึง วัยของสตรีเมื่อหมดประจำเดือนอย่างถาวร(๑) ภาวะหมดประจำเดือน จะเริ่มขึ้นหลังจาก ๑๒ เดือนนับจากที่สตรีมีประจำเดือนครั้งสุดท้าย โดยทั่วไปเมื่อสตรีมีอายุอยู่ในช่วง ๔๕-๕๕ ปี มักจะเริ่มเข้าสู่ช่วงวัยหมดระดูหรือวัยทอง(๒)

            ในทางการแพทย์แผนไทยได้กล่าวถึงภาวะ “เลือดจะไป ลมจะมา”(๓, ๔) หรือระดูมาไม่ปกตินั้น ตรงกับช่วงปัจฉิมวัยหรืออายุมากกว่า ๓๐ ปี(๕) ซึ่งเป็นช่วงวัยที่ธาตุลมมีอิทธิพลต่อร่างกายมากขึ้น และอิทธิพลของธาตุไฟที่ลดลง เกิดภาวะเสียสมดุลของธาตุในร่างกาย แสดงให้เห็นเป็นอาการทางกาย เช่น ร้อนวูบวาบ เหงื่อออกมาก นอนไม่หลับ ท้องอืด แน่นท้อง วิงเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามข้อและกล้ามเนื้อ และนอกจากนี้ยังส่งผลต่ออารมณ์และจิตใจ เช่น รู้สึกเบื่อหน่าย หงุดหงิดง่าย เศร้าโศก หรืออารมณ์แปรปรวน สามารถรักษาอาการดังกล่าวได้โดยการใช้ยาสมุนไพรและการใช้หัตถการทางแพทย์แผนไทย เพื่อช่วยกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและลม และปรับสมดุลของธาตุลมและธาตุไฟให้เป็นปกติ การใช้ยาจะเป็นกลุ่มยาที่มีรสสุขุมหอมร้อน สุขุมหอมเย็น ได้แก่กลุ่มยาหอมต่าง ๆ เพื่อช่วยกระจายเลือดลม แก้ลมกองละเอียด และกลุ่มยารสขม แก้ทางดี และโลหิต ปรับธาตุไฟให้สมดุล โดยมีรูปแบบเป็นตำรับยาสมุนไพรสำเร็จรูป และยาต้มดื่มเฉพาะราย  การทำหัตถการ เช่น การนวด ประคบสมุนไพร และอบไอน้ำสมุนไพร เพื่อกระตุ้นการไหลเวียนของเลือดและลม ร่วมกับการปรับพฤติกรรมการดูแลตัวเอง โดยการออกกำลังกายที่เหมาะสมและเน้นความสม่ำเสมอ เช่น การเดิน การเคลื่อนไหวส่วนต่าง ๆ ของร่างกายในท่ายืนหรือนั่ง การบริหารร่างกายโดย ก้าวม้า ก้าวสูง ก้าวตา ก้าวเต้น รวมทั้งท่าบริหารแบบฤาษีดัดตน เป็นต้น

การดูแลตนเองเมื่อมีอาการไม่พึงประสงค์

          อาการนอนไม่หลับ อ่อนเพลีย - ให้รับประทานอาหารที่มีใบขี้เหล็กเป็นส่วนประกอบ เช่น แกงขี้เหล็ก(๖)  หรือรับประทานยาหอมทิพโอสถ ยาหอมเทพจิตร ยาหอมนวโกฐ เพื่อแก้อาการนอนไม่หลับและอ่อนเพลียได้ โดยห้ามรับประทานในผู้ที่แพ้เกสรดอกไม้(๗)

          อาการท้องอืด แน่นท้อง - ให้รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย และอาหารที่มีรสร้อน เพื่อช่วยขับลม เช่น ผัดขิง ผัดฉ่า แกงป่า ผัดกะเพรา แกงเลียง เป็นต้น ไม่ควรรับประทานอาหารที่มีรสเย็นเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ไฟย่อยทำงานได้น้อยลง ส่งผลให้มีลมในท้องมากขึ้น

          อาการปวดเมื่อยตามข้อและกล้ามเนื้อ - สามารถประคบร้อน โดยใช้ผ้าขนหนูชุบน้ำอุ่นบิดหมาด ๆ มาประคบบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อย และใช้น้ำมันหรือยาหม่องที่ทำจากสมุนไพร เช่น ไพล มาทาบริเวณที่มีอาการปวดเมื่อยได้(๖,๘) ระวังไม่ประคบหรือทายาในบริเวณที่มีแผลเปิด หรือควรระวังในผู้ที่แพ้สมุนไพรและความร้อน

          อารมณ์เปลี่ยนแปลงหรือแปรปรวน - การดูแลจิตใจ เช่น การทำจิตใจให้มีความสุข ร่าเริง ผ่องใส การมีสติ สมาธิ รู้เท่าทันตนเองและสิ่งรอบข้างตามความเป็นจริง เป็นต้น

         สำหรับผู้สนใจการใช้สมุนไพรในการรักษาอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในช่วงวัยหมดระดู ขณะนี้คลินิกอายุรเวทแพทย์แผนไทยประยุกต์ เปิดให้บริการคลินิกเฉพาะทางโรคสตรี เพื่อตรวจให้การรักษาอาการที่เกี่ยวข้องกับโลหิตระดูสตรี เช่น ปวดระดู ระดูมาไม่ปกติ วัยทอง เป็นต้น ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย ทุกวันพุธ เวลา ๐๘.๐๐-๑๖.๐๐ น.                                                                                                                                             

เอกสารอ้างอิง

  1. ราชบัณฑิตยสถาน. พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔ พิมพ์เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔. กรุงเทพมหานคร: ศิริวัฒนาอินเตอร์พริ้นท์; ๒๕๕๖.
  2. NICE guideline [Internet]. National Institute for Health and Care Excellence; Menopause: diagnosis and management. [cited 2023 Sep 28]. Available from: https://www.nice.org.uk/guidance/ng23/resources/menopause-diagnosis-and-management-pdf-1837330217413.
  3. ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. สูตินรีเวชทันยุค (OB-GYN in Practice 2019). กรุงเทพฯ: พี.เอ.ลีฟวิ่ง; ๒๕๖๒.
  4. สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. ICD-10-TM บัญชีรหัสกลุ่มโรค อาการ และหัตถการด้านการแพทย์แผนไทย. กรุงเทพฯ: สำนักกิจการโรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึกในพระบรมราชูปถัมภ์; ๒๕๕๘.
  5. มูลนิธิฟื้นฟูส่งเสริมการแพทย์ไทยเดิมฯและโรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. ตำราการแพทย์ไทยเดิม (แพทยศาสตร์สงเคราะห์ ฉบับอนุรักษ์) เล่มที่ ๑. กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์; ๒๕๕๐.
  6. สำนักงานคณะกรรมการการสาธารณสุขมูลฐาน. ยาสมุนไพรสำหรับงานสาธารณสุขมูลฐาน. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก. ๒๕๔๐. หน้า ๑๒๒-๑๒๓.
  7. ประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๖๔. ราชกิจจานุเบกษา. เล่ม ๑๓๘ตอนพิเศษ ๑๖๕ ง, ๒๐ กรกฎาคม ๒๕๖๔.
  8. สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. พรรณไม้ในสวนเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษา สถาบันการแพทย์สยามินทราธิราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์; ๒๕๕๗.

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด