วัยผู้สูงอายุ อย่างไรใจเป็นสุข
สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ในปัจจุบันสังคมไทยเป็นสังคมเข้าสู่วัยผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ(๑) การที่ผู้สูงอายุแต่ละคนจะใช้ชีวิตช่วงสูงวัยได้อย่างมีความสุขสามารถทำอย่างไรได้บ้าง และมีมิติใดบ้างที่ต้องกลับมาดูแลและให้ความสำคัญกับความสุขในช่วงสูงวัยเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข
คำว่า “ความสุข” เป็นสิ่งที่ทุกช่วงวัยต้องการแม้อายุมากขึ้นความสุขยังเป็นสิ่งที่เราปรารถนา เราทุกคนควรตั้งคำถาม และค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเองว่าอะไร คือ “ความสุขที่แท้จริงของตนเอง” ซึ่งผู้คนส่วนใหญ่มุ่งแสวงหาความสุขจากภายนอกตนเอง โดยอาจลืมมองว่าความสุขนั้นอยู่ภายในตนเองและรอบ ๆ ตนเอง และไม่ใช่เรื่องยากนักที่จะทำให้ตนเองมีความสุข เมื่อก้าวเข้าสู่วัยผู้สูงอายุการอยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขนั้นเป็นเรื่องที่ต้องกลับมาดูแลตนเองให้ครบทุกมิติของชีวิต ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา ในปัจจุบันการแพทย์แผนไทยประยุกต์ได้นำเอาหลักธรรมานามัยมาผสมผสานด้านการแพทย์แผนไทยในการดูแลผู้สูงอายุให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข ซึ่งเป็นองค์ความรู้ที่สั่งสมสืบต่อกันมาและได้มีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมมากยิ่งขึ้นในปัจจุบัน
“ธรรมานามัย” หมายถึง แนวทางการปฏิบัติให้มีสุขภาพดีด้วยวิถีธรรมชาติ ถูกคิดค้นโดย ศ.นพ.อวย เกตุสิงห์ ประกอบไปด้วย ๓ ประการ(๒)
๑. กายานามัย คือ กระบวนการดูแลกาย โดยการทำท่าบริหารหรือการออกกำลังกาย ผู้สูงอายุควรขยับร่างกายตามสมรรถนะของตนเอง อาจใช้การทำท่ากายบริหารร่างกายแบบฤาษีดัดตน ก้าวม้า-ก้าวสูง ก้าวตา-ก้าวเต้น ทั้งนี้ควรหลีกเลี่ยงท่าบริหารบางท่าที่ทำให้เกิดการพลัดตกหกล้ม
๒. จิตตานามัย คือ กระบวนการดูแลจิตใจตามความสนใจของแต่ละท่าน เป้าหมายเพื่อมุ่งให้เกิดสติและปัญญาในการรับรู้ตามความเป็นจริง เข้าใจ ยอมรับ และสามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง ผู้สูงอายุสามารถฝึกฝนจิตใจ โดยการนั่งสมาธิ การเดินจงกรม การทำกิจกรรมน้ำชาภาวนา ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงอิริยาบถที่อาจจะทำให้เกิดอาการปวดเพิ่มขึ้น เช่น การนั่งขัดสมาธิเป็นเวลานาน
๓. ชีวิตานามัย คือ แนวทางในการดำรงชีวิตประจำวันที่ดี ผู้สูงอายุควรใส่ใจในพฤติกรรมของการใช้ชีวิต การนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ การอยู่กับครอบครัว บุตรหลาน และคนในสังคมอย่างปกติสุข รวมไปถึงการรับประทานอาหารที่เหมาะสม เช่น รับประทานอาหารที่ย่อยง่าย หลีกเลี่ยงอาหารรสจัด และเลือกรับประทานอาหารตามรสยาที่เหมาะสม
ท่านสามารถศึกษารายละเอียดการรับประทานอาหารตามรสยาที่เหมาะสม ได้ที่ https://drive.google.com/file/d/14EaxMHBq4lVOMwUSu6RPzD_jRuIdp3Jw/view?usp=drivesdk
หลักการปฏิบัติดูแลตนเองตามวิถีของ “ธรรมานามัย” ในวัยผู้สูงอายุ เป็นการดูแลตนเองแบบองค์รวมครอบคลุมมิติของร่างกาย จิตใจ สังคม และสติปัญญา เมื่อมีการดูแลตนเอง เข้าใจตนเอง เข้าใจในความหมายของ “ความสุข” ของตนเอง เมื่อมีสุขภาพร่างกายดี สุขภาพจิตดี ครอบครัวสังคม และสิ่งแวดล้อมรอบตัวดี ก็สามารถส่งผลให้ “วัยผู้สูงอายุ” มีความสุขครบทุกมิติในชีวิต
เอกสารอ้างอิง
- มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย. สถานการณ์ผู้สูงอายุไทย พ.ศ. ๒๕๕๘. กรุงเทพฯ: อมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง; ๒๕๕๙.
- โรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. การแพทย์แผนไทยในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์; ๒๕๕๒.