การบริหารร่างกายด้วยวิธีก้าวสูง

สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล   

             “ก้าวสูง” การบริหารร่างกายด้วยวิธีนี้เป็นผลมาจากการพัฒนา “มวยรำ” ขึ้นมาจากมวยไทยในระหว่าง พ.ศ.๒๕๒๔-๒๕๒๖ พบว่า ถ้ายกขาสูงเต็มที่สลับกันไปในจังหวะที่ค่อนข้างเร็วติดต่อกันหลายนาทีสามารถเพิ่มอัตราการเต้นของชีพจรจนถึงระดับที่ต้องการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหัวใจได้ และเป็นวิธีกระตุ้นให้หัวใจทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถควบคุมจังหวะความหนักเบาได้ หากต้องการลดน้ำหนักอาจแกว่งแขนสูง หรือยกขาสูงขึ้นประกอบการปฏิบัติก็ได้เช่นกัน

วิธีปฏิบัติ :

  1. ยกเข่าซ้ายขึ้นสูงจนขาท่อนบนขนานกับพื้น พร้อมกับแกว่งแขนซ้ายไปข้างหน้า งอข้อศอก แขนขวาแกว่งไปข้างหลังจนเต็มที่ (ภาพ ข)
  2. จากนั้นลดเท้าซ้ายลงจดพื้นพร้อมกับแกว่งแขนทั้ง ๒ ข้างลงแนบข้างลำตัว (ภาพ ค)
  3. สลับเปลี่ยนเป็นการยกเข่าขวาสูงจนขาท่อนบนขนานกับพื้น พร้อมแกว่งแขนขวาไปข้างหน้า งอข้อศอก และแขนซ้ายไปข้างหลังจนเต็มที่
  4. ทำสลับกันให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ ติดต่อกันประมาณ ๘-๑๐ นาที

            การบริหารร่างกายด้วยวิธี “ก้าวสูง” ไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์มากนัก สามารถปฏิบัติได้แม้อยู่ในสถานที่ที่มีพื้นที่จำกัด ทั้งนี้ควรระมัดระวังในผู้ที่มีปัญหาข้อเข่าเสื่อม มีอาการบาดเจ็บบริเวณข้อเข่า มีข้อจำกัดด้านการเคลื่อนไหว และผู้ที่มีอาการผิดปกติอื่น ๆ เช่น เหนื่อยง่าย หน้ามืด วิงเวียนศีรษะ และทรงตัวได้ไม่ดี ควรบริหารร่างกายด้วยจังหวะความเร็วที่ไม่มากเกินไป หรือหาที่ยึดเกาะเพื่อช่วยในการทรงตัว การบริหารร่างกายทุกครั้ง ควรยืดกล้ามเนื้อทั้งก่อนและหลังเพื่อป้องกันอาการบาดเจ็บที่อาจเกิดขึ้นได้

สามารถรับชมวิดีโอการบริหารร่างกายด้วยวิธีก้าวเต้นได้ที่นี่ https://youtu.be/1yCR5jP93TI

 

เอกสารอ้างอิง

  1. นรา แววศร, อุ่นใจ แววศร, อรลักษณ์ รอดอนันต์, ลูกจันทร์ แววศร และรุยาพร เจียมประเสริฐ. อวยนิมิต อนุสรณ์. พิมพ์ครั้งที่ ๑. กรุงเทพฯ: บุญศิริการพิมพ์; ๒๕๔๖.
  2. โรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. การแพทย์แผนไทยในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์; ๒๕๕๒.

 


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด