การแพทย์แผนไทยกับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง

สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล   

         การดูแลแบบประคับประคอง (Palliative Care) หมายถึง การดูแลผู้ป่วยที่เป็นโรคที่ไม่หายขาด มีแนวโน้มว่าจะมีความรุนแรงและคุกคามชีวิต โดยการดูแลแบบองค์รวมครอบคลุมด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณของผู้ป่วยและครอบครัว เพื่อ บรรเทาอาการเจ็บปวดและทุกข์ทรมานจากโรค เพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับผู้ป่วยและครอบครัวทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตอย่างสงบ ตลอดจนการดูแลครอบครัวของผู้ป่วยภายหลังการจากไปของผู้ป่วย(๑,๒) โรงพยาบาลศิริราชมีการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองโดยมีศูนย์บริรักษ์เป็นหน่วยงานหลักในการดูแล มีกลุ่มสหวิชาชีพร่วมดูแล ได้แก่ แพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ นักดนตรีบำบัด แพทย์แผนไทยประยุกต์

        สำหรับแพทย์แผนไทยประยุกต์นั้นมีบทบาทในการร่วมดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ส่วนใหญ่เกี่ยวกับอาการไม่สุขสบายทางด้านร่างกาย เช่น ปวด ตึง เมื่อยล้ากล้ามเนื้อ แขนขาบวม ชาปลายแขนหรือปลายขา ท้องผูก ท้องอืด แนวทางเวชปฏิบัติทางการแพทย์แผนไทย หลังจากศึกษาข้อมูลผู้ป่วย สอบถามอาการ ตรวจร่างกาย วางแผนการดูแล ให้การดูแลและติดตามผลการดูแล การดูแลแต่ละรูปแบบจะปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายร่วมกับสหวิชาชีพภายใต้การอนุญาตจากแพทย์เจ้าของไข้ รูปแบบการดูแลด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย(๓) ได้แก่

          - การนวดไทยแบบราชสำนัก เป็นการกดนวดตามแนวเส้นและจุดสัญญาณตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เพื่อช่วยกระตุ้นระบบการไหลเวียนโลหิต น้ำเหลือง และระบบประสาทให้ดีขึ้น ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว

          - การประคบสมุนไพร เป็นการนำลูกประคบสมุนไพรที่ผ่านการนึ่งจนร้อน แล้วนาบหรือกดคลึงตามบริเวณร่างกาย ส่วนใหญ่มักนิยมประคบสมุนไพรหลังการนวด เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดเมื่อย หรือการประคบความร้อนกรณีที่ไม่ชอบกลิ่นสมุนไพร

          - การใช้ยาสมุนไพร อาจเป็นการปรุงยาสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย เช่น ยาต้มหรือจ่ายยาสำเร็จรูปที่ผลิตไว้ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ยาลูกกลอน ยาเม็ด ยาแคปซูล นอกจากนี้ยังใช้กลิ่นสมุนไพรเพื่อความผ่อนคลาย เช่น ผิวมะกรูด ใบเตยหอม

          - การให้คำแนะนำตามหลักธรรมานามัย เพื่อการดูแลทั้งด้านร่างกาย จิต ชีวิต ของผู้ป่วยและญาติ 

        ปัจจัยสำคัญในการดูแลแบบประคับประคอง นอกจากกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์แล้ว คือ ครอบครัวและผู้ดูแล ที่เป็นกำลังสำคัญในการช่วยบรรเทาความทุกข์ทรมานทางกายและเพิ่มกำลังด้านจิตใจให้กับผู้ป่วย  โดยสามารถใช้การนวดไทยและการประคบสมุนไพรในการช่วยดูแลผู้ป่วยด้วยตนเอง ซึ่งช่วยสร้างสายสัมพันธ์ที่อบอุ่นผ่านการสัมผัส การสังเกตและการใส่ใจ

         ข้อควรระวังในการทำหัตถการด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทย จะไม่ให้การบำบัดหากพบว่ามีไข้สูงเกิน ๓๘.๕ องศาเซลเซียส หรือกำลังป่วยด้วยโรคติดเชื้อเฉียบพลัน หรือมีความดันโลหิตสูงกว่า ๑๖๐/๑๐๐ มิลลิเมตรปรอทและมีอาการหน้ามืดใจสั่น คลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย นอกจากนี้จะหลีกเลี่ยงไม่นวดบริเวณที่มีกระดูกแตก ปริ ร้าวและยังไม่ติดดี บริเวณที่เป็นมะเร็ง บริเวณที่เป็นแผลเปิด รอยโรคผิวหนังที่สามารถติดต่อกันได้ บริเวณที่ผ่าตัดในระยะเวลา ๑ เดือน บริเวณที่มีหลอดเลือดดำอักเสบ และบริเวณที่มีการผ่าตัดใส่เหล็กหรือข้อเทียม(๓) ดังนั้นจึงควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์เพื่อให้การดูแลที่เหมาะสม และความปลอดภัยกับผู้ป่วย

        นอกจากการดูแลผู้ป่วยแล้วบุคคลในครอบครัวไม่ควรละเลยญาติที่ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดที่อาจมีความเครียดสะสม คุณภาพการใช้ชีวิตที่ไม่ดี การทำงานหนักต่อเนื่องในอิริยาบถเดิม ๆ ซึ่งสามารถใช้หลักธรรมานามัยเพื่อสร้างเสริมสุขภาพกาย สุขภาพจิต การใช้ชีวิตที่มีความสุข ทั้งนี้สามารถรับคำปรึกษาจากแพทย์แผนไทยประยุกต์ได้ที่คลินิกอายุรเวท แพทย์แผนไทยประยุกต์ อาคารปิยมหาราชการุณย์ ชั้น ๗ โรงพยาบาลศิริราช

                                                           

(QR code Youtube ธรรมะสุขใจ)

เอกสารอ้างอิง

  1. นิตยา ทรัพย์วงศ์เจริญ และทีปทัศน์ ชินตาปัญญากุล. บทบาทพยาบาลในการดูแลแบบประคับประคองในโรงพยาบาลระดับตติยภูมิ. วารสารพยาบาลทหารบก. 2020;21:26.
  2.  World Health Organization. Palliative Care [Internet]. 2020[cited 2021 Sep 20]. Available from: https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/palliative-care
  3. โรงเรียนอายุรเวทธำรงฯ สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. การแพทย์แผนไทยในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: ห้างหุ้นส่วนสามัญ พี.เอส.เพรส; ๒๕๕๒.


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด