สเต็มเซลล์ นำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างไร รักษาได้ทุกโรคจริงหรือไม่

ดร. เภสัชกรหญิงสุดจิต ล้วนพิชญ์พงศ์
ศูนย์ความเป็นเลิศทางงานวิจัยสเต็มเซลล์ของศิริราช

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

          ในยุคข้อมูลข่าวสารปัจจุบัน หลายท่านน่าจะเคยได้ยินคำว่า “สเต็มเซลล์ (stem cell)” หรือ “เซลล์ต้นกำเนิด” ผ่านสื่อต่าง ๆ ซึ่งมักกล่าวถึงประโยชน์อันน่าทึ่งของสเต็มเซลล์ว่าเป็นความหวังใหม่ของวงการแพทย์ เป็นความหวังของผู้ป่วย สามารถนำมาใช้รักษาได้ทุกโรค และมีการอวดอ้างสรรพคุณที่หลากหลาย ทั้งในการรักษาโรคที่เกี่ยวกับความเสื่อม ความชรา และในแง่ของการนำไปใช้เพื่อเสริมความงาม เพื่อชะลอความเสื่อมของผิวพรรณ อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงนั้นการใช้สเต็มเซลล์ในทางการแพทย์ยังคงจำกัดอยู่ที่การนำเอาสเต็มเซลล์เม็ดเลือด (hematopoietic stem/progenitor cell) จากไขกระดูกมาใช้ในการปลูกถ่ายเพื่อรักษาโรคทางโลหิตวิทยาบางโรคเท่านั้น เช่น โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว โรคโลหิตจางอะพลาสติก และโรคธาลัสซีเมีย ซึ่งถือเป็นการรักษามาตรฐานที่แพทยสภายอมรับ องค์ความรู้จากงานวิจัยทางการแพทย์ในปัจจุบันยังไม่มีผลงานวิจัยที่เสร็จสมบูรณ์และ/หรือที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าสามารถนำสเต็มเซลล์มารักษาโรคอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การนำสเต็มเซลล์มาใช้ในการรักษาอย่างไม่ถูกต้องตามหลักวิชาแพทย์และไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดอาจก่อให้เกิดโทษมากกว่าประโยชน์ อีกทั้งผลของสเต็มเซลล์ต่อร่างกายผู้ป่วยในระยะยาวยังไม่เป็นที่ประจักษ์

สเต็มเซลล์คืออะไร ทำไมจึงขึ้นชื่อว่าเป็นความหวังผู้ป่วย

           เป็นเวลากว่า 20 ปี ที่วงการแพทย์มีความตื่นตัวอย่างสูงในแนวคิดการนำสเต็มเซลล์มาใช้ใน “เวชศาสตร์ฟื้นฟูสภาวะเสื่อม (regenerative medicine)” ซึ่งสืบเนื่องมาจากความสำเร็จในการปลูกถ่ายอวัยวะเพื่อรักษาโรคที่มีอวัยวะพิการเรื้อรัง ได้แก่ โรคไตวาย โรคตับวาย โรคหัวใจพิการ ที่มีข้อจำกัดหรืออุปสรรคที่สำคัญคือปัญหาการขาดแคลนอวัยวะจากผู้บริจาค สเต็มเซลล์เป็นแหล่งเซลล์ตั้งต้นแห่งความหวังที่จะนำมาพัฒนาไปเป็นเนื้อเยื่อและอวัยวะชนิดต่าง ๆ เพื่อซ่อมแซมหรือสร้างอวัยวะเหล่านั้น เพื่อฟื้นฟูระบบต่าง ๆ ในร่างกายจากความเสื่อมที่เกิดขึ้น เพื่อรักษาโรคแห่งความเสื่อม อาทิ โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด อัลไซเมอร์ มะเร็ง สืบเนื่องจากคุณสมบัติที่สำคัญ 2 ประการของสเต็มเซลล์ ได้แก่

          1. ความสามารถในการแบ่งตัวเพิ่มจำนวนได้เป็นทวีคูณ โดยคงคุณลักษณะความเป็นสเต็มเซลล์ไว้ในขณะที่เพิ่มจำนวน จึงสามารถเพิ่มจำนวนได้อย่างไม่มีขีดจำกัด

          2. ความสามารถในการเจริญเป็นเซลล์เนื้อเยื่อจำเพาะชนิดใดชนิดหนึ่งหรือหลายชนิดเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นที่เหมาะสม จึงสามารถออกแบบให้สเต็มเซลล์เปลี่ยนแปลงไปเป็นเซลล์ได้เกือบทุกชนิดในร่างกาย

การใช้สเต็มเซลล์สำหรับการรักษาโรคในปัจจุบันและอนาคต

แนวทางในการนำสเต็มเซลล์มาใช้รักษาโรคมี 3 แนวทาง ได้แก่

          1. การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เพื่อให้สเต็มเซลล์สร้างเซลล์ของเนื้อเยื่อนั้นขึ้นใหม่อย่างสม่ำเสมอไปอีกระยะเวลาหนึ่ง อนึ่ง ตามที่กล่าวข้างต้น ในปัจจุบันการรักษาที่เป็นมาตรฐานในไทยและทั่วโลกมีเพียงการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เม็ดเลือดสำหรับโรคทางโลหิตวิทยาเท่านั้น ส่วนการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์อื่น ๆ ยังอยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัยทางคลินิกและยังไม่จัดเป็นการรักษามาตรฐาน ตัวอย่างงานวิจัยที่ทดสอบแนวทางการปลูกถ่ายสเต็มเซลล์ชนิดอื่นที่โรงพยาบาลศิริราช ได้แก่ การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์โดยการเพาะเลี้ยงเซลล์เยื่อบุผิวปากเพื่อการรักษาผู้ป่วยภาวะเซลล์ต้นกำเนิดเยื่อบุผิวกระจกตาบกพร่อง 

          2. การเพาะเลี้ยงสเต็มเซลล์ให้เป็นเซลล์จำเพาะก่อนนำไปปลูกถ่าย อาทิ การเพาะเลี้ยงเซลล์ตับอ่อนชนิดที่สามารถหลั่งอินซูลินได้สำหรับการรักษาเบาหวาน การเพาะเลี้ยงเซลล์ระบบประสาทสำหรับการรักษาโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงจากความผิดปกติเซลล์ประสาท การเพาะเลี้ยงเซลล์ระบบภูมิคุ้มกันที่มีการแสดงออกของโปรตีนตัวรับลูกผสมสำหรับการรักษาโรคมะเร็ง โดยสเต็มเซลล์ตั้งต้นที่เป็นความหวัง ได้แก่ สเต็มเซลล์ตัวอ่อนโดยเฉพาะที่สร้างจากเนื้อเยื่อที่เจริญแล้วของเซลล์ผู้ใหญ่ (induced pluripotent stem cell, iPSC) เนื่องจากข้อจำกัดด้านจริยธรรมบางประการของการใช้สเต็มเซลล์จากตัวอ่อนมนุษย์ (embryonic stem cell, ESC) โดยแนวทางการรักษานี้ยังอยู่ในกระบวนการศึกษาวิจัยทางคลินิกเช่นกัน

          3. การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์เพื่อหวังผลด้านอื่น อาทิ การปลูกถ่ายสเต็มเซลล์มีเซนไคม์ (mesenchymal stem cell, MSC) เพื่อปรับการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน เพื่อหวังผลป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่เกิดจากการปลูกถ่ายอวัยวะ เช่น graft-versus-host disease (GVHD) หรือเพื่อหวังผลว่าเซลล์จะหลั่งสารกระตุ้นที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเซลล์ร่างกายอื่น ๆ ที่เสื่อมสภาพ

การนำสเต็มเซลล์มาใช้ประโยชน์ในงานวิจัยพื้นฐาน

          เนื่องจากสเต็มเซลล์สามารถนำมาพัฒนาเป็นเซลล์ได้เกือบทุกชนิดในร่างกาย จึงเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการใช้เป็นแบบจำลองเพื่อศึกษากระบวนการเจริญและพัฒนาการของเนื้อเยื่อ พยาธิสภาพและกลไกการเกิดโรค โดยสามารถนำแบบจำลองการเกิดโรคมาประยุกต์ใช้เพื่อการวิจัยและพัฒนายา เพื่อสืบหาแนวทางการรักษาหรือตัวยาใหม่ ตัวอย่างงานวิจัยที่ศูนย์ความเป็นเลิศฯ ได้แก่ การนำสเต็มเซลล์เม็ดเลือดมาใช้เป็นแบบจำลองเพื่อศึกษากระบวนการสร้างเลือดและผลิตภัณฑ์ของเลือดชนิดต่าง ๆ ได้แก่ เกล็ดเลือด เซลล์เม็ดเลือดแดง และเซลล์ระบบภูมิคุ้มกัน อาทิ เซลล์เดนดริติก เซลล์มาโครเฟจ เซลล์เพชฌฆาต ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตผลิตภัณฑ์ของเลือดในห้องปฏิบัติการเพื่อทดแทนเลือดจากการบริจาคในอนาคต และการสร้างเซลล์ภูมิคุ้มกันบำบัดสำหรับการรักษาโรคมะเร็งในอนาคต นอกจากนี้การศึกษากระบวนการสร้างเลือดที่ผิดปกติยังช่วยให้เข้าใจถึงพยาธิสภาพของโรคมะเร็งโลหิตวิทยาประเภทต่าง ๆ

          ท่านสามารถให้การสนับสนุนการดำเนินการของศูนย์ความเป็นเลิศฯ โดยการบริจาคเงินผ่านศิริราชมูลนิธิ กองทุน “โครงการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการวิจัยและเซลล์ต้นกำเนิด” รหัสทุน D003276


เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด