การอบไอน้ำสมุนไพร
สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
การอบไอน้ำสมุนไพร คือ การนำสมุนไพรสดหรือแห้งหลาย ๆ ชนิด ส่วนใหญ่จะเป็นสมุนไพรที่มีกลิ่นหอมหรือมีน้ำมันหอมระเหยมาต้มกับน้ำเพื่อให้เกิดไอน้ำและความร้อนขึ้นภายในห้องหรือกระโจมที่ใช้อบตัว เพื่อเป็นการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสภาพร่างกายจากการเจ็บป่วย สำหรับการอบไอน้ำสมุนไพรนั้นมีประโยชน์อย่างไร มีข้อห้ามและข้อควรระวังอย่างไรบ้าง สามารถหาคำตอบได้ในบทความนี้ได้เลยค่ะ
ในศาสตร์การแพทย์แผนไทย การอบไอน้ำสมุนไพรเป็นการกระตุ้นธาตุไฟ ช่วยเพิ่มการไหลเวียนของธาตุลมที่คั่งอั้น บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อ เปิดทางเดินหายใจให้หายใจโล่งขึ้น กระตุ้นการไหลเวียนและปรับสมดุลของธาตุน้ำ
การอบไอน้ำสมุนไพรมีประโยชน์อย่างไร
๑. กระตุ้นการไหลเวียนของเลือดลมให้ดีขึ้น
๒. บรรเทาอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
๓. บรรเทาอาการคัดจมูกในผู้ที่เป็นหวัด โรคภูมิแพ้อากาศ หรือโรคหอบหืดที่ไม่รุนแรง
๔. ช่วยเปิดรูขุมขนและขับเหงื่อ
๕. ช่วยขับน้ำคาวปลาในหญิงหลังคลอด
การอบไอน้ำสมุนไพรมีข้อห้าม/ข้อควรระวังอย่างไรบ้าง
ข้อห้ามในการอบไอน้ำสมุนไพร
๑. มีไข้สูงเกิน ๓๘.๕ องศาเซลเซียส
๒. มีอาการอ่อนเพลีย อดนอน อดอาหาร
๓. หลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ ๆ ไม่เกิน ๓๐ นาที
๔. ผู้ที่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง เช่น วัณโรค
๕. ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคลมชัก โรคลมบ้าหมู โรคหอบหืดระยะรุนแรง โรคไตชนิดรุนแรง โรคหัวใจ มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก หอบเหนื่อย
๖. ผู้ที่มีความดันโลหิตสูงกว่า ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท ที่มีอาการหน้ามืด วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ หรือคลื่นไส้ อาเจียน
๗. ผู้ที่มีบาดแผลเปิด มีการอักเสบของบาดแผล หรือโรคติดเชื้อทางผิวหนัง
๘. หญิงขณะมีประจำเดือน หรือตั้งครรภ์
๙. ผู้ที่แพ้สมุนไพร หรือแพ้ความร้อน
ข้อควรระวังในการอบไอน้ำสมุนไพร
๑. ผู้ที่มีความดันโลหิตต่ำกว่า ๙๐/๖๐ หรือสูงกว่า ๑๔๐/๙๐ มิลลิเมตรปรอท มีความเสี่ยงต่อการเป็นลมหมดสติ ต้องสังเกตอาการและดูแลอย่างใกล้ชิด
๒. ไม่ควรอบนานเกิน ๓๐ นาที จะทำให้สูญเสียน้ำและเกลือแร่ทางเหงื่อ ส่งผลให้อ่อนเพลียและอาจเป็นลมได้
๓. ในขณะอบไอน้ำสมุนไพร หากมีอาการแน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ควรหยุดทันที
สามารถอบไอน้ำสมุนไพรได้สัปดาห์ละ ๒-๓ ครั้ง ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละราย กรณีการฟื้นฟูหญิงหลังคลอดอาจมีการอบไอน้ำสมุนไพรติดต่อกันได้ตามดุลพินิจของแพทย์ เมื่อสิ้นสุดการอบไอน้ำแล้วให้ดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำเกลือแร่ เพื่อทดแทนการสูญเสียเหงื่อ
สำหรับผู้ที่สนใจการอบไอน้ำสมุนไพรสามารถรับคำปรึกษาและสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่คลินิกอายุรเวทแพทย์แผนไทยประยุกต์ โรงพยาบาลศิริราช
เอกสารอ้างอิง
- กลุ่มงานส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. แนวทางเวชปฏิบัติการแพทย์แผนไทยในสถานบริการสาธารณสุขของรัฐ. พิมพ์ครั้งที่ ๓. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; ๒๕๕๒.
- โรงเรียนอายุรเวทธำรง สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล. การแพทย์แผนไทยในคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล. กรุงเทพฯ: ศุภวนิชการพิมพ์; ๒๕๕๒.
- สถาบันการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข. ICD-10-TM บัญชีรหัสกลุ่มโรค อาการ และหัตถการด้านการแพทย์แผนไทย. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ: สามเจริญพาณิชย์; ๒๕๕๙.
- สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. คู่มือวิชาการ เรื่อง แนวทางการประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพประเภท สถานที่อาบน้ำ อบไอน้ำ อบสมุนไพร. กรุงเทพฯ: โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก; ๒๕๕๕.