ตาขี้เกียจ
ภาควิชาจักษุวิทยา
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ตาขี้เกียจ amblyopia หมายถึง ความสามารถในการมองเห็นลดลงข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง ซึ่งแก้ไขแล้วไม่ดีขึ้นโดยไม่มีความผิดปกติทางกายภาพ หรือตรวจตาแล้วปกติ ภาษาอังกฤษ เรียน “Lazy eye” ภาษาไทย เรียกว่า “ตาขี้เกียจ” ตาขี้เกียจนี้เกิดขึ้นได้ในเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 6-7 ปี ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจจะทำให้มีอาการตามัวอย่างถาวร และไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยการใช้แว่นตา ทานยา หยอดยา การผ่าตัด หรือการทำเลสิก (เพื่อรักษาปัญหาทางสายตา)
สาเหตุของตาขี้เกียจ
โรคตาเหล่ เป็นชนิดที่พบบ่อยมักเป็นตาข้างเดียว พบได้ในเด็กที่มีภาวะตาเหล่เข้าแล้วเหล่ออก เมื่อเด็กตาเหล่มีการใช้ตามองภาพ จะสามารถใช้ตาข้างที่ตรงมองภาพได้ชัด ส่วนตาข้างที่เหล่จะไม่สามารถรับภาพและส่งไปแปลผลที่สมองได้ จึงทำให้ตาข้างที่เหล่ไม่ได้รับการพัฒนาทางการมองเหมือนกับดวงตาอีกข้าง
สายตาสองข้างไม่เท่ากัน เป็นได้ทั้งสายตาสั้นสายตายาวหรือสายตาเอียงไม่เท่ากัน เช่น สายตาข้างหนึ่งสั้นมากกว่าอีกข้างหนึ่งภาวะเช่นนี้เด้ฏมักใช้ตาข้างที่มองเห็นได้ชัดกว่า ส่วนอีกข้างจะถูกใช้งานน้อยหรือไม่ได้ใช้งานเลยทำให้ตาข้างนั้นไม่ได้รับการกระตุ้นส่งผลให้ลงการมองเห็นแย่ลง
สายตาผิดปกติมากทั้งสองข้าง จากสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงมากทั้งสองข้างภาวะนี้ทำให้เกิดตาขี้เกียจได้ในตาทั้งสองข้างเนื่องจากจะมองเห็นภาพไม่ชัดทั้งสองข้างพอ ๆ กัน
โรคทางตาอื่น ๆ เช่น ต้อกระจกแต่กำเนิดโรคกระจกตาดำขุ่นมัว หนังตาตกมากจนปิด รูม่านตา หรือดรคเลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา เป็นต้น โรคต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้แสงเดินทางผ่านเข้าไปในดวงตาไม่ดี จึงมองเห็นภาพไม่ชัด
อาการของตาขี้เกียจ
- มองภาพไม่ชัดโดยเฉพาะภาพที่มีความละเอียดสูง
- ตาสองข้างทำงานไม่ประสานกัน
การรักษา
การใช้แว่นสายตา : ในกรณีตาขี้เกียจ เกิดจากปัญหาความผิดปกติทางสายตาจะเริ่มการรักษาโดยการใช้แว่นสายตาก่อน ซึ่งหากเด็กเริ่มมองเห็นชัดจากการใช้แว่น ก็ถือเป็นการกระตุ้นพัฒนาการในการมองเห็นได้
การปิดตาข้างที่ดี : เป็นการกระตุ้นให้ตาข้างที่เป็นตาขี้เกียจได้ใช้งาน และส่งผลให้การมองเห็นดีขึ้น
การหยอดตา : โดยหยอดตาเฉพาะข้างที่ดี เพื่อทำให้ตาข้างที่ดีมัวลง เป็นการกระตุ้นตาข้างที่ขี้เกียจให้กลับมาทำงานให้ดีขึ้น
การผ่าตัด : กรณีที่สามารถทำการผ่าตัดเผื่อรักษาได้ เช่น การผ่าตัดต้อกระจก เลือดออกในน้ำวุ้นลูกตา หนังตาตก เพื่อทำให้ตาข้างนั้นมองชัดขึ้น จากนั้นจึงค่อยทำการปิดตาข้างที่ดีกว่าเพื่อกระตุ้นให้ตาข้างที่ด้อยกว่าได้ใช้งานมากขึ้น