กัญชาในตำรับยาไทย

สถานการแพทย์แผนไทยประยุกต์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cannabis sativa L.
วงศ์ : CANNABIDACEAE
สรรพคุณของกัญชาตามศาสตร์การแพทย์แผนไทย
ส่วนที่ใช้ : ใบและช่อดอกเพศเมีย
รสเมาเบื่อ : เจริญอาหาร ชูกำลัง แก้ไข้ผอมเหลือง ใช้เป็นยาบำรุง ระงับความปวด สงบประสาท และทำให้หลับ

          กัญชาเป็นส่วนประกอบในตำรับยาแผนไทย มากกว่า ๒๐๐ ตำรับ ซึ่งการใช้กัญชาทางการแพทย์แผนไทยในอดีต ไม่ได้ใช้เป็นสมุนไพรเดี่ยว แต่จะปรุงในรูปแบบของการนำกัญชาเข้าตำรับยา ซึ่งในแต่ละตำรับ กัญชาอาจทำหน้าที่ที่แตกต่างกันออกไป และในตำรับนั้น ๆ ต้องมีสมุนไพรชนิดอื่นที่คุมฤทธิ์ของกัญชาด้วย แตกต่างจากการแพทย์แผนตะวันตกที่จะใช้กัญชาในรูปแบบสารสำคัญ หรือสารสกัดจากกัญชาเท่านั้น ซึ่งสารที่พบการใช้มากคือ Cannabidiol (CBD), Delta-9-tetrahydrocannabinol (THC), Cannabinol (CBN) และ Cannabigerol (CBG) เมื่อเปรียบเทียบกลุ่มอาการ และข้อบ่งใช้การใช้ตำรับยาแผนไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบกับสารสำคัญ หรือสารสกัดจากกัญชาทางการแพทย์แผนตะวันตก พบความสอดคล้องในการนำไปใช้ในบางกลุ่มอาการ ได้แก่ แก้คลื่นไส้อาเจียน กระตุ้นความอยากอาหาร นอนไม่หลับ ลดความวิตกกังวล ลดอาการปวดเรื้อรัง และกล้ามเนื้อเกร็งกระตุก ซึ่งตัวอย่างตำรับที่เสนอในฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งในยา ๑๖ ตำรับที่ได้รับอนุญาตให้ผลิตในประเทศเพื่อใช้ในการรักษาโรคสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายในกรณีจำเป็นต้องใช้ยาที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบ

แก้คลื่นไส้อาเจียน
            - ตำรับยาอัคคินีวคณะ มีสรรพคุณแก้คลื่นไส้อาเจียนจากอาหารไม่ย่อย แพทย์แผนตะวันตกใช้สารสำคัญ cannabinoids แก้อาการคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด

ลดความวิตกกังวล
            - ตำรับยาแก้โรคจิต ซึ่งโรคจิตในที่นี้ หมายถึง อาการทางจิตใจ และอาการของลมกองละเอียดพิการ ซึ่งมีอาการได้หลากหลาย เช่น เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ วิตกกังวล เป็นต้น แต่ไม่ใช่อาการทางจิตเวชทางการแพทย์แผนตะวันตก

ลดอาการปวดเรื้อรังและกล้ามเนื้อเกร็งกระตุก
          -
ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดตึงกล้ามเนื้อตามร่างกาย ลดอาการมือเท้าชาและอ่อนกำลัง
          - ตำรับยาแก้ลมเนาวนารีวาโย มีสรรพคุณบรรเทาอาการปวดตึงกล้ามเนื้อตามร่างกาย ลดอาการมือเท้าชา
          - ตำรับยาอัมฤตโอสถ มีสรรพคุณบรรเทาอาการรัดตึงของกล้ามเนื้อเส้นเอ็นมือเท้าชาผอมแห้งแรงน้อย อันเนื่องมาจากความเสื่อมของร่างกาย แก้ลมกษัย

ลดความวิตกกังวล
            - ตำรับยาแก้โรคจิต ซึ่งโรคจิตในที่นี้ หมายถึง อาการทางจิตใจ และอาการของลมกองละเอียดพิการ ซึ่งมีอาการได้หลากหลาย เช่น เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย นอนไม่หลับ วิตกกังวล เป็นต้น แต่ไม่ใช่อาการทางจิตเวชทางการแพทย์แผนตะวันตก

กระตุ้นความอยากอาหารและนอนไม่หลับ
          -
ตำรับยาศุขไสยาศน์ มีสรรพคุณแก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีกำลัง กินข้าวได้ นอนเป็นสุข
          - ตำรับยาแก้ไข้ผอมเหลือง มีสรรพคุณแก้ไข้ผอมเหลืองหากำลังมิได้ ให้ตัวสั่นเสียงสั่น เป็นด้วยวาโยธาตุกำเริบ แก้นอนมิหลับ

            การใช้ตำรับยาที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบควรปรึกษาแพทย์ แพทย์แผนไทย หรือแพทย์แผนไทยประยุกต์ เพื่อใช้กัญชาได้อย่างถูกต้องและปลอดภัย ตำรับยาต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา สามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับข้อห้ามและข้อควรระวังของตำรับยาไทยที่มีกัญชาเป็นส่วนประกอบได้ที่นี่เลยค่ะ

ข้อห้ามและข้อควรระวังเบื้องต้นในการใช้ตำรับยาที่มีกัญชาผสม

ข้อห้ามรับประทานของตำรับยาทั้ง 16 ตำรับ ได้แก่
             
1. หญิงตั้งครรภ์ เนื่องจากมีข้อมูลงานวิจัยว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับกัญชา มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด มารดาอาจมีความดันโลหิตสูงจนเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ ทารกในครรภ์น้ำหนักน้อยกว่าเกณฑ์ปกติ ทารกในครรภ์มีพัฒนาการที่ช้ากว่าปกติ ทารกมีคะแนน Apgar score น้อยกว่า 5 คะแนน2, 3
            2. หญิงให้นมบุตร เนื่องจากมีงานวิจัยระบุว่า หญิงให้นมบุตรที่ได้รับกัญชา มีความเสี่ยงที่ทารกที่ได้รับน้ำนมจากมารดามีพัฒนาการของสมอง หรือ ภาวะทางอารมณ์ที่ผิดปกติ4
            3. เด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี เนื่องจากมีข้อมูลงานวิจัยว่า เด็กที่ได้รับกัญชามักมีผลข้างเคียงคือ อาการง่วงซึม และมีความผิดปกติเกี่ยวกับระบบหายใจ ไปจนถึงหมดสติเนื่องจากระบบทางเดินหายใจถูกกด5-8

ข้อควรระวังของตำรับยาทั้ง 16 ตำรับ ได้แก่;

            1. ตำรับยาที่มีส่วนประกอบของกัญชาส่วนใหญ่มีรสร้อนถึงร้อนมาก เนื่องจากมีส่วนประกอบของสมุนไพรหลายตัวที่มีรสร้อน เช่น ขิง พริกไทย ดีปลี สหัศคุณเทศ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู เป็นต้น จึงอาจเกิดผลข้างเคียงได้ อย่างเช่น แสบร้อนกลางอก แสบร้อนท้อง เป็นต้น ดังนั้นจึงควรระวังในผู้ป่วยโรคแผลเปื่อยเพปติก ผู้ป่วยโรคกระเพาะอาหาร ผู้ป่วยโรคกรดไหลย้อน ผู้ป่วยโรคหัวใจ และผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง

            2. ตำรับยาที่มีส่วนประกอบของกัญชาส่วนใหญ่ มีส่วนประกอบของสมุนไพรหลายตัวที่มีผลต่อยาละลายลิ่มเลือด เช่น โกฐสอ โกฐเชียง พริกไทย ดีปลี โสม กระเทียม เป็นต้น ดังนั้นจึงควรระวังในผู้ป่วยที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดและยาต้านการจับตัวของเกล็ดเลือด เนื่องจากสมุนไพรดังกล่าวอาจทำให้เกิดอันตรกิริยาในการเสริมฤทธิ์ยากลุ่มดังกล่าว ผู้ป่วยอาจพบจ้ำเลือดตามผิวหนัง และมีความเสี่ยงของการเกิดเลือดออก จะเพิ่มสูงขึ้น

            3. ตำรับยาที่มีส่วนประกอบของกัญชาส่วนใหญ่ มีส่วนประกอบของพริกไทยในปริมาณสูง เช่น ตำรับยาทำลายพระสุเมรุ ตำรับยาแก้ลมแก้เส้น ตำรับยาอัมฤตย์โอสถ ตำรับทัพยาธิคุณ ตำรับยาไพสาลี และตำรับยาแก้สัณฑฆาตกล่อนแห้ง เป็นต้น ซึ่งพริกไทยเป็นสมุนไพรที่อันตรกิริยากับยาหลายชนิด เช่น Phenytoin9, 10 Propranolol11 Theophylline11 Rifampicin12 Nateglinide13 Glimepiride14  และยาลดไขมันในเลือดกลุ่ม Statin15 เป็นต้น  ดังนั้นหากผู้ป่วยรับประทานยาดังกล่าว ควรหลีกเลี่ยงตำรับยาที่มีส่วนประกอบของพริกไทยในปริมาณสูง เนื่องจากเสี่ยงที่จะเกิดอันตรกิริยาของยาได้

เอกสารอ้างอิงของ Part : ข้อห้ามและข้อควรระวังเบื้องต้นในการใช้ตำรับยาที่มีกัญชาผสม

1.    ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดตำรับยาเสพติดให้โทษในประเภท ๕ ที่มีกัญชาปรุงผสมอยู่ ที่ให้เสพเพื่อรักษาโรคหรือการศึกษาวิจัยได้ พ.ศ. ๒๕๖๒  [updated 17 ก.พ. 2562 cited 17 เม.ย. 2564]. Available from: http://www.fda.moph.go.th/sites/Narcotics/Laws/PKMOPH62_YS5_110462.PDF.

2.    Grant KS, Petroff R, Isoherranen N, Stella N, Burbacher TM. Cannabis use during pregnancy: Pharmacokinetics and effects on child development. Pharmacol Ther. 2018;182:133-51.

3.    Metz TD, Allshouse AA, Hogue CJ, Goldenberg RL, Dudley DJ, Varner MW, et al. Maternal marijuana use, adverse pregnancy outcomes, and neonatal morbidity. Am J Obstet Gynecol. 2017;217(4):478.e1-.e8.

4.    Metz TD, Borgelt LM. Marijuana Use in Pregnancy and While Breastfeeding. Obstet Gynecol. 2018;132(5):1198-210.

5.    Appelboam A OP. Coma due to cannabis toxicity in an infant. Eur. J. Intern. Med.  2006;13(3):177-9.

6.    Bonkowsky JL SD, Pomeroy SL. Ataxia and shaking in a 2-year-old girl: acute marijuana intoxication presenting as seizure. Pediatr Emerg Care. 2005;21(8):527-8.

7.    Carstairs SD FM, Keeney GE, Ly BT. Prolonged coma in a child due to hashish ingestion with quantitation of THC metabolites in urine. J. Emerg. Med. 2011;41(3):69-71.

8.    Macnab A AE, Susak L. Ingestion of cannabis: a cause of coma in children. Pediatr Emerg Care. 1989;5(4):238-9.

9.    Pattanaik S HD, Prabhakar S, Kharbanda P, Pandhi P. Effect of piperine on the steady-state pharmacokinetics of phenytoin in patients with epilepsy. Phytother Res. 2006;20(8):683-6.

10.  Velpandian T JR, Bhardwaj R, Jaiswal J, Gupta S. Piperine in food: interference in the pharmacokinetics of phenytoin. Eur J Drug Metab Pharmacokinet. 2001;26(4):241-7.

11.  Bano G RR, Zutshi U, Bedi K, Johri R, Sharma S. Effect of piperine on bioavailability and pharmacokinetics of propranolol and theophylline in healthy volunteers. Eur J Clin Pharmacol. 1991;41(6):615-7.

12.  Karan R BV, Garg S. Effect of trikatu, an Ayurvedic prescription, on the pharmacokinetic profile of rifampicin in rabbits. J Ethnopharmacol. 1999;64(3):259-64.

13.  Sama V NM, Yenumula P, Bommineni M, Mullangi R. Effect of piperine on antihyperglycemic activity and pharmacokinetic profile of nateglinide. Arzneimittelforschung. 2012;62(8):384-8.

14.  Veeresham C SS, Rani TS. Effect of piperine on the pharmacokinetics and pharmacodynamics of glimepiride in normal and streptozotocin-induced diabetic rats. Nat Prod Commun. 2012;7(10).

15.  Md.Parvez SM MG, K.Sudha Rani, Sumayya Samreen M.Soumya. Effect of ethanolic extract of Piper nigrum Linn. fruits on pharmacodynamics of atorvastatin in rats. Int J of Res in Pharmacology and Pharmacotherapeutics. 2012;2(1):242-7.

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด