ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังกับสมุนไพรถั่งเช่า

เภสัชกรประจำคลินิกโรคไตเรื้อรัง
หน่วยบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยนอก
ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศิริราช
ที่ปรึกษา ผศ.พญ. ไกรวิพร เกียรติสุนทร
รศ.ดร.ภญ. มยุรี ตั้งเกียรติกำจาย

ถั่งเช่า คืออะไร

          สมุนไพรถั่งเช่า, ตังถั่งเช่า, ตังถั่งแห่เช่า หรือ “หญ้าหนอน” เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่ง ที่มีส่วนประกอบ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่เป็นตัวหนอนของผีเสื้อ และบนตัวหนอนมีเชื้อราเห็ดชนิดหนึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Cordyceps sinensis (Berk.) Saec. ในฤดูหนาวหนอนจะฝังตัวอยู่ใต้ดิน ในหน้าร้อนหนอนเหล่านั้นจะกินสปอร์เห็ดที่มาตกอยู่ตามพื้นดินเข้าไป เมื่อเห็ดเติบโตออกมาเป็นเส้นใยจากปากของตัวหนอนงอกขึ้นสู่พื้นดิน จะมีรูปร่างภายนอกคล้ายไม้กระบอก ส่วนตัวหนอนจะค่อย ๆ แห้งตายไป ดังนั้น“ถั่งเช่า” ที่มีการนำมาใช้ คือ ส่วนของตัวหนอนและเห็ดที่แห้งแล้วนั่นเอง

ถั่งเช่า มีกี่ชนิด

          ในปัจจุบันถั่งเช่าแบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ

      1. ถั่งเช่าทิเบต (Cordyceps sinensis) เป็นถั่งเช่าชนิดที่พบตามธรรมชาติและเพาะเลี้ยงในห้องทดลอง

      2. ถั่งเช่าสีทอง (Cordyceps militaris) เป็นถั่งเช่าชนิดที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลอง

สารออกฤทธิ์ในถั่งเช่า

          สารออกฤทธิ์สำคัญที่พบในถังเช่าได้แก่ สารอะดิโนซีน (adenosine) และสารคอร์ไดซิพิน (cordycepin) ซึ่งถั่งเช่าแต่ละชนิด จะมีปริมาณสารสำคัญที่แตกต่างกัน

         1. ถั่งเช่าทิเบต (Cordyceps sinensis) ที่พบตามธรรมชาติมีสารอะดิโนซีนเป็นหลัก และมีสารคอร์ไดซิพินในปริมาณน้อยมาก ส่วนถั่งเช่าทิเบตที่มาจากการเพาะเลี้ยงในห้องทดลองส่วนใหญ่มีสารอะดิโนซีนและตรวจไม่พบสารคอร์ไดซิพิน

         2. ถั่งเช่าสีทอง (Cordyceps militaris) ที่เพาะเลี้ยงในห้องทดลองส่วนใหญ่มีสารคอร์ไดซิพินในปริมาณสูง

         จากการศึกษาถึงสรรพคุณของถั่งเช่าในทั้งในหลอดทดลองและสัตว์ทดลอง พบว่าสารออกฤทธิ์สำคัญที่พบในถั่งเช่ามีฤทธิ์ช่วยปรับสมดุลของร่างกาย กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน ต้านสารอนุมูลอิสระ ต้านมะเร็ง ลดระดับน้ำตาลในเลือด ต้านการอักเสบ และกระตุ้นสมรรถภาพทางเพศได้ จึงส่งผลให้สมุนไพรถั่งเช่าเป็นกระแสนิยมในปัจจุบัน

         อย่างไรก็ตาม ข้อมูลการศึกษาในคน ยังไม่ชัดเจน เป็นการศึกษาในคนจำนวนน้อย และส่วนใหญ่เป็นเพียงกรณีศึกษาเท่านั้น จึงยังไม่สามารถสรุปประโยชน์ต่อสุขภาพได้อย่างชัดเจน

การใช้สมุนไพรถั่งเช่าในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง

          เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่สามารถเกิดอันตรายจากการใช้ยาและสารต่างๆได้ง่ายโดยเฉพาะในผู้สูงอายุหรือผู้ที่มีการทำงานของไตลดลง พบว่าในถั่งเช่าสีทองมีสารคอร์ไดซิพินที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบผ่านการยับยั้งเอนไซม์ cyclooxygenase (COX) คล้ายยาบรรเทาปวดต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือกลุ่มเอ็นเสด (non-steroidal anti-inflammatory drugs; NSAIDs) การใช้ในผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังจึงอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้การทำงานของไตลดลงเฉียบพลันได้ ส่วนการใช้ถั่งเช่าทิเบตซึ่งมีสารออกฤทธิ์สำคัญ คือ สารอะดิโนซีน ไม่พบรายงานการเกิดพิษต่อไต ยกเว้นในกรณีพบการปนเปื้อนโลหะหนัก เช่น สารหนู ซึ่งทำให้เกิดพิษต่อไตได้ จึงควรระวังการใช้เช่นกัน

          จนถึงปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานทางการแพทย์โดยเฉพาะการทดลองในคนที่สนับสนุน หรือคัดค้านประโยชน์ของถั่งเช่าในผู้ป่วยโรคไต และที่สำคัญคือผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่มีจำหน่ายในท้องตลาด มีความหลากหลายในแหล่งที่มา การเพาะเลี้ยงและสารออกฤทธิ์อื่นๆ ในผลิตภัณฑ์ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้ ทางสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยจึงไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคไตรับประทานถั่งเช่า หากต้องการรับประทานควรแจ้งแก่แพทย์ผู้รักษาและไม่ควรหยุดยาแผนปัจจุบันที่รับประทานอยู่

คำแนะนำในการใช้สมุนไพรถั่งเช่า

          1. การใช้ถั่งเช่าร่วมกับยาบางชนิด อาจเกิดปัญหายาตีกัน ส่งผลให้มีฤทธิ์ของยาเพิ่มขึ้น หรือต้านฤทธิ์ของยาและเกิดอาการไม่พึงประสงค์ได้ ยาที่อาจได้รับผลกระทบจากการใช้ถั่งเช่า ได้แก่

                   1.1 ยาบรรเทาปวดต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ หรือกลุ่มเอ็นเสด ควรหลีกเลี่ยงการใช้ถั่งเช่าร่วมกับยาบรรเทาปวดในกลุ่มนี้ เนื่องจากเพิ่มความเสี่ยงทำให้เลือดไปเลี้ยงที่ไตลดลง การทำงานของไตลดลงและเกิดภาวะไตวายเฉียบพลันได้

                   1.2 ยาต้านการแข็งตัวของเลือดและยาต้านเกล็ดเลือด ควรระวังการใช้ถั่งเช่าร่วมกับยาวาร์ฟาริน (warfarin), แอสไพริน (aspirin), ไทคากริลอร (ticagrelor) และโคลพิโดเกรล (clopidogrel) เพราะอาจเพิ่มความเสี่ยงทำให้เกิดเลือดออก

                   1.3 ยากลุ่มอื่น เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาไซโคลสปอริน (cyclosporine), ยาอะซาไธโอพรีน (azathioprine), ยาทาโครลิมัส (tacrolimus), ยาซัยโรลิมัส (sirolimus) และยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ (corticosteroids) เมื่อใช้ร่วมกับถั่งเช่า อาจทำให้ฤทธิ์ในการกดภูมิคุ้มกันลดลงและส่งผลต่อการรักษาโรคได้

          2. การใช้สมุนไพรถั่งเช่าในกลุ่มประชากรบางกลุ่ม

                    2.1 กลุ่มผู้ป่วยโรคเกาต์ การรับประทานถั่งเช่าในผู้ป่วยโรคเกาต์หรือผู้ที่มีกรดยูริกในเลือดสูง อาจส่งผลให้มีระดับกรดยูริกในเลือดเพิ่มขึ้น และส่งผลให้อาการของโรคแย่ลง

          2.2 กลุ่มผู้สูงอายุ ควรหลีกเลี่ยงการใช้สมุนไพรถั่งเช่าในผู้สูงอายุ หรือ ผู้ที่มีการทำงานของไตบกพร่อง ได้แก่ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง, ผู้ป่วยโรคเอสแอลอี, ผู้ป่วยโรคปลอกประสาทอักเสบ หรือรูมาตอยด์ เพราะถั่งเช่าอาจทำให้เกิดอันตรายต่อไต และอาจทำให้อาการของโรคแย่ลง

          2.3 หญิงตั้งครรภ์ และหญิงให้นมบุตร ควรหลีกเลี่ยงการใช้สมุนไพรถั่งเช่า เนื่องจากยังไม่มีรายงานด้านความปลอดภัยจากการใช้ถั่งเช่า

         

เอกสารอ้างอิง

      1. นพมาศ สุนทรเจริญนนท์, ธิดารัตน์ จันทร์ดอน. ถังเช่า ช่วยเพิ่มสมรรถภาพจริงหรือ. จุลสารคณะเภสัชศาสตร์ 2556;8:6-7.

      2. Mayuree Tangkiatkumjai, Nannapasra Sansuk, Supatyada Chaiyarak, Suwannee Sriprach, Ueamporn Lumboot, Warayut Absuwan, et al. Acute Kidney Injury Related to Cordycepin: Thirteen Cases from Thailand. 2021.

      3. มยุุรีี ตั้งเกียรติกำจาย. ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับถั่งเช่าทิเบตและถั่งเช่าสีทอง. วารสารสมาคมเภสััชกรรมชุุมชน 2564; 20(114): 49-54.

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด