โรคเอดส์ ตอนที่1

โรคเอดส์ (ตอนที่1)

ผศ.นพ.ถนอมศักดิ์  เอนกธนานนท์ 
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            เป็นที่ทราบกันดีว่าโรคเอดส์นั้นเป็นโรคที่ยังไม่มีวิธีการรักษาให้หายขาดได้  แต่ว่าสิ่งที่สำคัญก็คือเรื่องของการป้องกันไม้ให้เป็นโรคเอดส์  โดยเฉพาะในกลุ่มของวัยรุ่นซึ่งควรที่จะมีความรู้ในเรื่องของการป้องกันตนเองอย่างถูกวิธีด้วย ดังนั้น การให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ โดยเฉพาะในกลุ่มของวัยรุ่นจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง    จากรายงานของกระทรวงสาธารณสุข จนถึงเดือนมกราคม 2547 มีผู้ป่วยทั้งหมด 230,000 รายเศษ  ร้อยละ 80 อยู่ในกลุ่มวัยทำงาน  อายุตั้งแต่ 20-39 ปี  ในส่วนของกลุ่มวัยรุ่น ไม่มีจำนวนตัวเลขที่แน่นอน  แต่ตัวเลขประมาณการทั้งหมดที่ยังมีชีวิตอยู่สำหรับผู้ที่ติดเชื้อ HIV 570,000 ราย  เกือบทั้งหมดจะอยู่ในระหว่างอายุ  15-49 ปี  เนื่องจากมีผู้ป่วยบางส่วนที่ติดเชื้อแล้วแต่ยังไม่แสดงอาการ  จึงไม่ได้มารับการตรวจเลือดว่าติดเชื้อ HIV หรือไม่ ในจำนวนนั้นก็รวมถึงช่วงอายุของวัยรุ่นด้วย    ข้อมูลจากหนังสือ  และจากการพูดคุยระหว่างแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่ดูแลผู้ติดเชื้อ HIV พบว่าวัยรุ่นมีแนวโน้มที่จะติดเชื้อ HIV สูงขึ้นรวมทั้งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็นหนองใน  ซิฟิลิส  กามโรคอื่นๆ  เนื่องจากว่าวัยรุ่นบางกลุ่มมีค่านิยมเปลี่ยนคู่นอนไปเรื่อยๆ  แล้วมักไม่ใช้ถุงยางเวลามีเพศสัมพันธ์และบางส่วนก็มีขายบริการ  แบบไม่เปิดเผยซึ่งมักไม่ใส่ถุงยางเช่นกัน  เพราะฉะนั้นการติดเชื้อในกลุ่มวัยรุ่นจึงจะมีแนวโน้มที่สูงขึ้น  แต่ว่ายังไม่มีตัวเลขที่แน่นอน

โรคเอดส์มีการติดต่อได้ทางใดบ้าง
            สามารถติดได้จากการมีเพศสัมพันธ์  สำหรับในไทยระหว่างชายกับหญิงเป็นส่วนใหญ่  ถัดมาก็จะเป็นกลุ่มที่ใช้ยาเสพติดและมีการแลกเปลี่ยนเข็มฉีดยาเสพติดร่วมกัน  อีกกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มใหญ่พอสมควรก็คือเด็กที่ติดเชื้อจากแม่  เนื่องจากว่าขณะที่แม่ตั้งครรภ์มีการติดเชื้อ HIVอยู่แล้วและไม่ได้รับการฝากครรภ์หรือว่ามาฝากครรภ์ตั้งแต่ระยะแรกๆ  ไม่ได้รับการป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก หรือถึงแม้ว่ามาฝากครรภ์และมีการใช้ยาป้องกันการติดเชื้อจากแม่สู่ลูกก็ไม่สามารถป้องกันได้100%  ซึ่งก็ยังมีโอกาสติดเชื้อจากแม่ได้


สาเหตุและปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรค
            การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย  และมีเพศสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคนด้วยกัน และอย่างแม่บ้าน  ถึงแม้ไม่ได้ไปมีเพศสัมพันธ์กับชายอื่นเลย  แต่สามีอาจไปนำเชื้อมาให้ได้

อาการแสดงของโรคเอดส์มีกี่ระยะ อะไรบ้าง
            ระยะแรกสุดเลยก็คือ  หลังจากติดเชื้อมาใหม่ๆ 2-4 สัปดาห์  ผู้ป่วยบางส่วนที่รับเชื้อมาใหม่ๆจะมีอาการคล้ายไข้หวัดร่วมกับมีผื่นแดงเกือบทั่วตัว มีเจ็บคอ  ปวดกล้ามเนื้อ  ต่อมน้ำเหลืองโต  ซึ่งส่วนใหญ่จะไม่พบผู้ป่วยระยะนี้ เนื่องจากอาการต่าง ๆ เหล่านี้จะหายไปได้เองประมาณ 2-3 สัปดาห์  ผู้ป่วยบางส่วนก็จะไปซื้อยารับประทานเอง  หรือไม่ก็ไปรักษาตามคลินิก  ถ้าไม่ได้ซักประวัติเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงหรือผู้ป่วยไม่ได้แจ้งให้แพทย์ทราบว่าตัวเองมีพฤติกรรมเสี่ยงก่อนที่จะไม่สบายก็จะไม่สามารถตรวจพบผู้ป่วยในระยะนี้ได้   ส่วนในระยะถัดไปผู้ป่วยก็จะอยู่ในระยะที่ไม่มีอาการแต่ว่าระดับของภูมิต้านทานก็จะต่ำลงเรื่อยๆ  ในคนไทยมีผู้ศึกษาแล้วเฉลี่ยว่าหลังจากได้รับเชื้อจนกระทั่งภูมิต้านทานต่ำจนถึงระดับอันตรายซึ่งทำให้เสี่ยงต่อโรคนี้มีระยะเวลาประมาณ 5-6 ปี  ซึ่งระยะนั้นผู้ป่วยก็จะมีโรคติดเชื้อฉวยโอกาสต่าง ๆ ได้  ที่พบบ่อยมากก็คือวัณโรค ปอดอักเสบจากเชื้อรา  และเยื่อหุ้มสมองอักเสบจากเชื้อรา

หากสงสัยว่าได้รับเชื้อการตรวจเลือดในระยะต้นจะทราบหรือไม่
            สำหรับระยะแรกสุดหลังจากที่ได้รับเชื้อมาใหม่ๆ  การตรวจโดยวิธีธรรมดาอาจตรวจไม่พบ เนื่องจากว่าเชื้อนี้มีระยะฟักตัวในการเปลี่ยนแปลงของผลเลือดจากลบเป็นบวก  เพราะฉะนั้นถ้าในคนที่มีปัจจัยเสี่ยงและตรวจเลือดครั้งแรกเป็นลบ  ก็ควรตรวจซ้ำในระยะเวลาถัดมา  โดยทั่วไปผู้ป่วยเกือบทั้งหมดประมาณ 95 % จะมีผลเลือดเป็นบวกหลังจากที่ได้รับเชื้อมา  เพราะฉะนั้นบางส่วนที่ตรวจก่อนหน้านั้นก็จะมีผลเลือดเป็นลบอยู่  และถ้าติดตามไปถึงหนึ่งปีทั้งร้อยเปอร์เซ็นต์ก็คงจะมีผลเลือดเป็นบวกอยู่ในคนที่ติดเชื้อ

การมีเพศสัมพันธ์ที่ถูกวิธีและวิธีป้องกันการติดโรคเอดส์นั้นทำอย่างไรบ้าง
            ควรจะมีการป้องกันโดยใช้ถุงยางอนามัย  ไม่ว่าจะเป็นการมีเพศสัมพันธ์โดยปกติหรือการใช้ปากเหล่านี้ ก็ควรมีการใช้ถุงยางเช่นเดียวกัน  และก็ไม่ควรจะสำส่อน  ถ้าเป็นสามีที่มีภรรยาแล้วก็ไม่ควรไปมีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิงอื่นที่ไม่ใช่ภรรยาของตัวเอง  แล้วการดูน้ำหนักก็คงไม่สามารถบอกได้เพราะบางคนยังไม่อยู่ในระยะที่มีอาการควรจะให้ความรู้เรื่องการมีเพศสัมพันธ์และการป้องกันโรคเอดส์อย่างไร?

ควรให้ความรู้แก่วัยรุ่นในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ และ ป้องกันโรคเอดส์ควรทำอย่างไร   หรือมีแนวโน้มการชักจูงอย่างไรให้ห่างไกลกับเรื่องเหล่านี้
            สำหรับผู้ใหญ่ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง  หรือคุณครูก็ควรทำตัวเป็นแบบอย่าง  ไม่ใช่ว่ามีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ HIV ซึ่งเด็กก็จะลอกเลียนแบบ  และสอดส่องดูแลการเข้าไปในเว็บไซต์ต่างๆ เพราะเด็กอาจจะเข้าไปดูสิ่งลามกต่างๆ ที่แสดงการมีเพศสัมพันธ์ให้ดู  และการเที่ยวกลางคืนของเด็กก็ต้องดูแลเป็นพิเศษ  เพราะอย่างที่ได้ยินได้ฟังจากข่าวว่าเด็กสาวมีชายหนุ่มมาชวนซ้อนมอเตอร์ไซด์หรือไปเที่ยวไหนต่อและก็มักจะเกิดเรื่องขึ้นมา  ตรงนี้ต้องระวังให้ดี  ส่วนเพศศึกษาก็คิดว่าควรจะเริ่มมีการสอดแทรกในหลักสูตรตามโรงเรียน  แต่วิธีการยังยากอยู่เนื่องจากบ้านเราการยอมรับยังไม่เหมือนกับต่างประเทศซึ่งต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปในส่วนของสื่อต่าง ๆ ก็ควรเน้นเรื่องการป้องกันการติดเชื้อ HIV รวมทั้งกามโรค  การรณรงค์ให้ใช้ถุงยางรวมทั้งการให้ความรู้ต่าง ๆ ควรจะทำอย่างต่อเนื่อง
                        
                                                                                                                                                  - มีต่อตอนที่ 2-

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด