ทันตกรรม รากฟันเทียม
งานทันตกรรม โรงพยาบาลศิริราช
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
วัตถุประสงค์
1. ใช้ทดแทนฟันแท้ที่ถอนไป
2. เป็นหลักยึดฟันปลอมทั้งปาก เพื่อให้ฟันปลอม มีเสถียรภาพและความสะดวกสบายในการใช้งาน
3. ลดการสูญเสียเนื้อฟันในตำแหน่งข้างเคียงกับบริเวณช่องว่างที่จะทำการใส่ฟันปลอม หรือฟันที่ต้องรับตะขอ
4. ลดการละลายของสันกระดูกในบริเวณที่จะใส่ฟัน
5. เพื่อคงความสมดุล และเสถียรภาพ ในระบบบดเคี้ยว
ข้อบ่งชี้
1. สันเหงือกมีช่องว่างตั้งแต่ 1 ซี่ขึ้นไปและมีความหนาของกระดูกพียงพอ
2. เป็นผู้ที่มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวที่มีผลต่อการสร้างกระดูกและเนื้อเยื่อ
3. เป็นผู้ที่มีสุขภาพช่องปากแข็งแรง และมีสุขอนามัยภายในช่องปากที่ดี
4. ต้องไม่มีสุขนิสัยที่ไม่ดีต่อฟัน เช่น นอนกัดฟันอย่างรุนแรง เป็นต้น
5. เป็นผู้ไม่สูบบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้ผลสำเร็จของการรักษาต่ำลง
ข้อดี
1. ไม่มีการทำอันตรายต่อเนื้อฟันซี่ข้างเคียง
2. ลดการละลายของสันกระดูกที่รองรับฟันปลอม
3. ง่ายต่อการทำความสะอาดช่องปาก ทำให้มีสุขภาพช่องปากที่ดี
4. เกิดความสะดวกสบายในการบดเคี้ยวหรือออกเสียง
5. มีความมั่นใจในการพูด ยิ้ม เสริมให้มีบุคลิกภาพที่ดีขึ้น
6. มีอายุการใช้งานยาวนานเมื่อเทียบกับการใช้ฟันปลอมชนิดอื่น ๆ
ข้อด้อย
1. มีการบาดเจ็บขณะผ่าตัดฝังรากเทียม หรือการปลูกกระดูกเพื่อรองรับรากฟันเทียม
2. มีการรักษาหลายขั้นตอน ใช้เวลานานประมาณ 6 เดือน
3. ค่าใช้จ่ายสูง
ภาวะแทรกซ้อน
1. มีอาการปวดบวมได้ภายหลังผ่าตัด
2. เลือดออก ภายหลังผ่าตัด
3. การอักเสบรอบ ๆ รากฟันเทียมภายหลังการใส่ฟันปลอม ซึ่งเกิดเนื่องจากบริเวณรอบ ๆ ฟันปลอมไม่ได้รับการทำความสะอาดที่ดีพอ ร่วมกับ ผู้ป่วยเป็นโรคปริทันต์อยู่ก่อนแล้ว เป็นผลให้มีการละลายของกระดูกรอบ ๆ รากฟันเทียม เหงือกร่นและรากฟันเทียมโผล่มาให้เห็นในช่องปากได้
การรักษาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
การปลูกกระดูกในบริเวณต่าง ๆ เช่น ที่สันเหงือก หรือบริเวณโพรงอากาศแมกซิลลา โดยใช้กระดูกมาจากบริเวณขากรรไกร สะโพก หรือจะเป็นกระดูกเทียมขึ้นอยู่กับปริมาณและคุณภาพของกระดูกที่ต้องการ ซึ่งการปลูกกระดูกจะกระทำต่อเมื่อบริเวณที่จะฝังรากฟันเทียมมีปริมาณกระดูกไม่เพียงพอ การปลูกเนื้อเยื่อ ใช้ในกรณีที่มีเนื้อเหงือกแข็งแรงไม่เพียงพอต้องนำเหงือกจากบริเวณเพดานปากมาปลูก หลังปลูกเหงือ 6-8 สัปดาห์ จึงฝังรากฟันเทียมได้
ขั้นตอนการรักษา
1. วางแผนการรักษาโดยพิมพ์แบบฟันเพื่อออกแบบฟันปลอมและกำหนดตำแหน่งที่จะฝังรากฟันเทียมตรวจลักษณะสันเหงือกและถ่ายภาพรังสี เพื่อใช้ประเมินปริมาณของกระดูกที่มีอยู่ ซึ่งปริมาณกระดูกจะเป็นตัวกำหนดขนาดของรากฟันเทียม
2. การผ่าตัดระยะที่ 1 ฝังรากฟันเทียมภายใต้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่เปิดแผลกว้างประมาณ 1 เซนติเมตร ฝังรากฟันเทียมแล้วเย็บแผลปิด ส่งถ่ายภาพรังสีเพื่อประเมินผลการรักษา ภายหลังการรักษา 1 สัปดาห์ มารับการตัดไหม ติดตามผลการรักษาโดยการถ่ายภาพรังสีครั้งหลังผ่าตัด 4 -6 เดือน
3. การผ่าตัดระยะที่ 2 ห่างจาดระยะที่ 1 ประมาณ 4-6 เดือน เป็นการสร้างรูปร่างของเหงือก ทำการผ่าตัดใส่เครื่องมือภายใต้ยาชาเฉพาะที่ ขนาดแผลประมาณ 1 เซนติเมตรเช่นกัน ตัดไหมหลังจากการผ่าตัด 1 สัปดาห์
4. การใส่ฝันปลอมภายหลังการสร้างรูปร่างของเหงือกประมาณ 2 สัปดาห์ ผู้ป่วยจะได้รับการพิมพ์ปาก เพื่อส่งแบบไปทำฟันปลอม หลังจากนั้นประมาณ 1-2 สัปดาห์ จะเปลี่ยนเครื่องมือสร้างรูปร่างสันเหงือกเป็นเดือยต่อขึ้นมา จากรากฟันเทียมและทำการใส่ฟันปลอมตามแบบที่วางแผนการรักษาตั้งแต่แรก
5. การติดตามผลการรักษา ใช้วิธีตรวจภายในช่องปากและถ่ายภาพรังสี เป็นระยะ 3, 6, 12 เดือนและทุกปี ๆ ละ 1 ครั้ง ในช่วง 1 ปี แรกจะมีการละลายของกระดูกรอบ ๆ รากฟันเทียมประมาณ 1 มิลลิเมตร และประมาณ 0.2 มิลลิเมตร ในปีต่อ ๆ มาได้ ถ้าไม่มีการละลายของกระดูกอยู่เกินไปจากเกณฑ์ตามที่กล่าวมาถือว่าประสบความสำเร็จในการรักษา