กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน

ศูนย์โรคหัวใจสมเด็จพระบรมราชินีนาถ
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

          กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (Acute myocardial infarction) คือ ภาวะที่หลอดหัวใจเสื่อมสภาพ มีการปริแตกบริเวณผนังหลอดเลือดด้านใน ซึ่งกระตุ้นให้เกิดลิ่มเลือดอุดตันขึ้นบริเวณของหลอดเลือดหัวใจ ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดและขาดออกซิเจน และสามารถนำมาสู่ภาวะหัวใจวาย หรือหัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้

เพราะอะไรเราจึงต้องมีความรู้เกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
         เพราะโรคนี้การรักษาต้องแข่งกับเวลา อันดับแรกคือ รู้เร็ว ถ้ามีความรู้ถึงอาการเตือนและอาการของโรค ก็จะมารักษาได้เร็ว จะทำให้การรักษาได้ผลดี อย่างที่สอง รู้ป้องกัน รู้ว่าปัจจัยเสี่ยงคืออะไร และป้องกันปัจจัยเสี่ยงนั้น ๆ ก็จะลดโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในอนาคตได้

อาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
         ผู้ป่วยจะมีอาการแน่นหน้าอก เค้น อาจจะเป็นบริเวณหน้าอกด้านซ้ายหรือทั้งแผ่นหน้าอกก็ได้ ในบางรายพบอาการใจสั่น เหงื่อแตกร่วมด้วยได้ อาการร้าวในบางตำแหน่ง มีความสำคัญ หากร้าวไปที่บริเวณแขนซ้าย หรือร้าวขึ้นกรามจะสนับสนุนโรคดังกล่าวเพิ่มขึ้น ควรรีบมาพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจ ส่วนอาการบางอย่างนั้นไม่ใช่อาการของโรคหัวใจ เช่น แน่นหน้าอกโดยที่กดเจ็บจุดเดียว หรืออาการแน่นคงที่ตลอดทั้งวัน โดยออกแรงได้ปกติ ไม่มีอาการอื่นร่วมด้วย

         ส่วนอาการเหนื่อย หายใจไม่ทัน เหล่านี้อาจจะเป็นอาการของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้เช่นกัน หากมีอาการมากจนนอนราบไม่ได้ หรือมีเหนื่อยร่วมกับแน่นหน้าอก ก็ควรพบแพทย์เพื่อตรวจเช่นกัน

         สิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้าม คือ ถึงแม้ว่าจะมีในกลุ่มที่อายุน้อย เช่น 30 ปี หรือไม่มีความเสี่ยงใดๆของโรคหัวใจเลย กลุ่มนี้โอกาสเป็นโรคหัวใจจะน้อย ไม่ได้แปลว่าไม่มีโอกาสเป็น อย่างไรก็ตามหากมีอาการดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น  ก็ควรจะรีบมาพบแพทย์เพื่อรับการตรวจเบื้องต้น เช่น การตรวจคลื่นหัวใจ หรือ เดินสายพานในรายที่สงสัย เพื่อให้มั่นใจว่าจะมารับการรักษาได้ทันท่วงที
 

ปัจจัยเสี่ยงและการป้องกันโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน
         ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญ อย่างแรก คือ การสูบบุหรี่ ผลการศึกษาพบว่า เมื่อหยุดบุหรี่ก็จะสามารถลดความเสี่ยงของหลอดเลือดหัวใจได้ทันที อีกทั้งยังพบว่าหากหยุดบุหรี่ 1 ปี ก็จะลดโอกาสเสี่ยงของอาการเป็นโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันลดลงได้ถึงร้อยละ 50 ทั้งนี้รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าก็มีผลเสียเช่นกัน 

        อย่างที่ 2 คือ การควบคุมปัจจัยเสี่ยง เช่น ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง และเบาหวาน  หากผู้ป่วยสามารถควบคุมโดยการรับประทานยาอย่างสม่ำเสมอ ปรับการใช้ชีวิต ปรับการรับประทานอาหาร และดูแลตนเองให้ผลเลือดอยู่ในเกณฑ์ปกติ ตามคำแนะนำของแพทย์ อย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยลดความเสี่ยงของโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้เช่นกัน

        สุดท้ายเรื่องของการตรวจร่างกายประจำปี จะทำให้เราสามารถพบโรคที่เป็นเบื้องต้น ก่อนที่จะมีอาการมาก รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงผู้ที่มีน้ำหนักมาก การลดน้ำหนัก ก็ยังช่วยลดปัจจัยเสี่ยงได้เช่นกัน

การรักษาโรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน การรักษามี 3 หลายวิธีหลัก ๆ  ได้แก่
        1การขยายหลอดเลือดหัวใจผ่านสายสวน หรือที่เรียกว่า การทำบอลลูน  คือ การใส่สายอุปกรณ์ เข้าไปทางเส้นเลือดแดง ขยายหรือเปิดเส้นเลือดที่อุดตันอยู่ เพื่อช่วยให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจได้ดีขึ้น เมื่อหัวใจได้รับเลือดที่เพียงพอแล้ว การบีบตัว การทำงานของหัวใจก็ดีขึ้น ช่วยลดโอกาสการเสียชีวิต และช่วยลดอัตราการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในระยะยาวได้ กรณีที่โรงพยาบาลไม่สามารถรักษาภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายด้วยการทำบอลลูน แพทย์ก็จะรักษาด้วยการให้ยาละลายลิ่มเลือด ผ่านทางหลอดเลือดดำ หากผู้ป่วยมาพบแพทย์ได้เร็วและให้ยาเร็ว การรักษาแบบนี้ก็ได้ผลดีเช่นกัน   
        2. การผ่าตัดทำทางเบี่ยงหลอดเลือดหัวใจ หรือ ผ่าตัดบายพาส คือ การนำหลอดเลือดแดงและหลอดเลือดดำ บริเวณอื่นของร่างกายมาต่อ เพื่อทดแทนหลอดเลือดเดิม วิธีนี้จะทำในกรณีที่ผู้ป่วยความเสี่ยงสูงจากการทำบอลลูน หรือมีเส้นเลือดหัวใจตีบหลายตำแหน่ง โดยจะพิจารณาความเหมาะสมเป็นรายๆไป
        3. การรักษาด้วยยา การทานยาสม่ำเสมอ มีความสำคัญมาก เพื่อลดอัตราความเสี่ยงของการเสียชีวิต ช่วยป้องกันไม่ให้หลอดเลือดกลับมาตีบซ้ำ รวมถึงช่วยชะลอการตีบของหลอดเลือดในอนาคตด้วย  
        และแม้ว่าผู้ป่วยจะได้รับการทำบอลลูนขยายหลอดเลือดไปแล้ว ผู้ป่วยยังจำเป็น ต้องรับประทานยาอย่างเคร่งครัด และต่อเนื่องไปตลอดชีวิต  เพื่อป้องกันและลดโอกาสการเกิดภาวะฉุกเฉินแบบนี้ในอนาคต

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด