ฟันคุด คุดอย่างไร

งานทันตกรรม รพ.ศิริราช
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล

          ฟันคุดเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ไม่สามารถป้องกันได้ ถ้าพบว่าเกิดมีฟันคุดขึ้นในช่องปากจะต้องทำอย่างไร  ปล่อยทิ้งไว้เป็นอันตรายหรือไม่ หรือควรผ่าฟันคุดออก  มาทำความเข้าใจเรื่องฟันคุดกัน

รู้ได้อย่าไรว่าเป็นฟันคุด
         ฟันคุดสามารถตรวจได้ด้วยตนเอง หากมีฟันซี่ใดซี่หนึ่งขึ้นมาเพียงบางส่วน หรือฟันซี่ใดขาดหายไป  ให้สงสัยได้เลยว่าน่าจะมีฟันคุด  โดยปกติฟันคุดที่พบได้บ่อยคือ ฟันกรามซี่ในสุดของขากรรไกรบน และขากรรไกรล่าง ถ้าเราสงสัยไม่แน่ใจอาจพบกับทันตแพทย์เพื่อทำการตรวจ และเอกซเรย์ฟันต่อไป

มีฟันคุดหากไม่รักษาจะทำให้เกิดอันตรายหรือไม่
         หากมีฟันคุด อาจไม่ถึงกับเป็นอันตราย แต่ผลเสียของการมีฟันคุด คือ เหงือกรอบ ๆ ตัวของฟันที่คุด อาจจะเกิดการอักเสบ แล้วเกิดการติดเชื้อมีหนอง ทำให้มีการลุกลามติดเชื้อไปยังบริเวณรอบช่องปาก ใต้คาง  ใต้ขากรรไกร รวมถึงบริเวณลำคอ

         นอกจากนี้ ฟันที่ติดกันกับฟันคุดเอง อาจจะเกิดฟันผุ อันเนื่องมาจากมีแรงดันของตัวฟันคุด หรือมีเศษอาหารเข้าไปติด ไม่มีอาการปวดเลย จนกระทั่งตัวฟันนี้เกิดการผุจนถึงโพรงประสาทฟัน ซึ่งฟันซี่นี้อาจจะต้องถูกถอนออก พร้อมกับผ่าฟันคุด หรือทำการรักษารากฟัน ร่วมกับการทำครอบฟัน นอกจากนี้แล้ว อาจจะพบถุงน้ำหรือเนื้องอกภายในขากรรไกร ซึ่งเกี่ยวข้องกับตัวฟันคุดนี้เอง และนอกจากนี้ยังพบว่า ตัวฟันคุดอาจจะมีผลต่อการจัดฟันภายในอนาคตด้วย

ข้อแนะนำหากมีฟันคุด
         หลายคนคิดว่ามีฟันคุดแล้วไม่เป็นอะไร   ขอแนะนำว่าให้นำฟันคุดออก  เนื่องจากฟันคุดอาจทำให้เกิดการติดเชื้อลุกลามได้ การผ่าฟันคุดไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ซึ่งคล้าย ๆ กับการถอนฟัน เพียงแต่อุปกรณ์อาจจะมากกว่ากันเล็กน้อย  อีกทั้งการผ่าฟันคุดไม่ต้องมีการพักฟื้น  อย่างมากแค่มีอาการแก้มบวม 2-3 วัน หลังจากนั้นอาการยุบบวมก็จะหายไป จึงไม่ต้องกังวล

        อย่างไรก็ตาม การตรวจสุขภาพฟันจึงมีความสำคัญ เพราะจะทำให้เราทราบว่า สุขภาพฟันของเรายังสมบูรณ์แข็งแรงดีหรือไม่  สุขภาพดีเริ่มที่ตัวเราป้องกันไว้ก่อนดีที่สุด

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด