หินปูน อันตรายใกล้ตัว
งานทันตกรรม รพ.ศิริราช
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล
เมื่อส่องกระจกดูพบว่า ฟันเริ่มจะมีคราบสีเหลืองปนดำตามร่องเหงือก ใครที่มีปัญหาคล้าย ๆ กันและสงสัยว่าคราบหินปูนแบบนี้จะหายไปได้เอง หรือต้องกำจัดอย่างไร มาไขข้องข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
คราบหินปูนเกิดจากคราบจุลินทรีย์นิ่ม ๆ ที่สะสมรวมตัวกันบริเวณผิวฟันที่ติดกับขอบเหงือก พอมาโดนกับแร่ธาตุในน้ำลายก็จะแข็งขึ้น เรียกว่า “หินปูน หรือหินน้ำลาย” ซึ่งมักจะเกิดขึ้นอยู่บริเวณขอบเหงือกใกล้กับทางเปิดของต่อมน้ำลาย
การกำจัดหินปูนจะต้องขูดออกโดยทันตแพทย์ ไม่แนะนำให้ทำเอง โดยทันตแพทย์จะใช้เครื่องมือขูดหินปูนกระเทาะเอาตัวหินปูนออกจากผิวฟัน โดยไม่กระทบกับเนื้อฟันตามที่หลายคนเข้าใจกัน และหลังจากขูดหินปูนแล้วจะเห็นว่ามีเลือดออกตามไรฟันได้บ้าง เหงือกที่เคยบวม แดง อักเสบ ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับถ้าเราแปรงฟันได้สะอาดและถูกวิธี
ในบางกรณีที่เป็นโรคที่มากกว่าการเป็นเหงือกอักเสบ นั่นคือ การเป็นปริทันต์อักเสบ พอขูดหินปูนไปจะพบมีฟันห่าง ฟันโยก หรือมีเหงือกร่นได้ เพราะกระดูกที่รองรับรากฟันค่อย ๆ ละลาย ดังนั้น ปัญหาคราบหินปูนจึงไม่ควรปล่อยทิ้งไว้ควรทำการขูดออกตามระยะเวลาที่กำหนด
หลังจากขูดหินปูนออกไปแล้วก็จะมีโอกาสกลับมาเป็นซ้ำอีกได้ หากเราแปรงฟันไม่สะอาด แปรงฟันไม่ถูกวิธี หรือไม่ได้ใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วย เนื่องจากตัวคราบหินปูนเกิดจากจุลินทรีย์รวมกับแร่ธาตุในน้ำลาย หากคราบจุลินทรีย์อย่างเดียวนิ่ม ๆ เราสามารถที่จะแปรงออกได้เอง แต่เมื่อไรก็ตามที่แข็งเป็นคราบหินปูน หรือหินน้ำลาย ก็จะไมสามารถแปรงออกได้
ดังนั้นการป้องกันจึงดีกว่าการรักษา ซึ่งการป้องกันที่ดี คือ การแปรงฟัน ควรแปรงฟันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง แปรงเน้นย้ำบริเวณขอบเหงือกหรือเนื้อฟันที่อยู่บริเวณคอฟัน เพราะจะเป็นที่สะสมหินปูนที่กำจัดออกได้ยากกว่าบริเวณอื่น นอกจากนี้ควรใช้ไหมขัดฟันร่วมด้วยอย่างน้อยวันละ 1 – 2 ครั้ง
ทั้งนี้ เพื่อสุขภาพฟันที่ดี ควรพบทันตแพทย์เป็นประจำเพื่อตรวจสุขภาพช่องปากทุก ๆ 6 เดือน สุขภาพดี เริ่มต้ด้วยตัวคุณ