วูบ หมดสติล้มไม่รู้ตัวเกิดจากอะไร

ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

          อาการวูบหมดสติล้มลงโดยไม่รู้ตัว สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน สามารถป้องกันได้หรือไม่  และถ้าเกิดอาการวูบขึ้นมาจะต้องปฏิบัติตัวอย่างไร มาไขข้องข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน

          อาการวูบหมดสติ  เกิดได้จากหลายสาเหตุ ในช่วงที่ร่างกายเราอ่อนเพลีย หรือมีการสูญเสียน้ำในร่างกายจะทำให้วูบได้ เช่น สูญเสียเหงื่อ หรือมีอาการท้องเสียอย่างรุนแรง นอกจากมีตากแดดนาน ๆ ออกกำลังกายเยอะ ๆ ก็เป็นสาเหตุของการวูบได้เช่นกัน อีกทั้งยังมีสาเหตุอื่น ๆ อีก เช่น ผลจากการใช้ยา เช่น รับประทานยาลดความดันหรือยาลดความอ้วนซึ่งมีฤทธิ์ในการขับปัสสาวะก็สามารถทำให้เกิดอาการวูบหมดสติได้

         นอกจากนั้น อาการวูบหมดสติอาจเป็นสัญญาณของโรคร้ายแรงอื่น ๆ เช่น โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคทางสมอง เช่น โรคลมชัก โรคหลอดเลือดสมองตีบ โรคหลอดเลือดสมองแตกได้เช่นเดียวกัน

        สัญญาณเตือนก่อนมีอาการวูบเป็นลม ผู้ป่วยมักมีอาการหวิว เวียนศีรษะ คลื่นไส้ และอาจเห็นภาพที่ผิดปกติไป เช่น เห็นเป็นแสงสีขาวหรือสีดำได้ นอกจากนี้ ยังมีอาการเหงื่อแตกชื้น สูญเสียอาการทรงตัว เนื่องจากเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนตัวลงและล้มลงได้

        สิ่งที่เป็นอันตรายที่ควรต้องระวัง คือ หลังจากผู้ป่วยตื่นขึ้นมาอาจมีอาการบาดเจ็บ เช่น ศีรษะกระแทกพื้น แต่ถ้าหากตื่นขึ้นมาแล้วมีอาการปากเบี้ยว ลิ้นแข็ง พูดไม่ชัด ชาหรืออ่อนแรงร่างกายครึ่งซีก อาจเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงอาการของหลอดเลือดสมองตีบ หรือหลอดเลือดสมองแตก ควรรีบมาพบแพทย์ทันทีอย่าปล่อยทิ้งไว้

        สิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องปฎิบัติ เพื่อป้องกันการเกิดอาการวูบ คือ เราควรหมั่นดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่สม่ำเสมอ ตรวจสุขภาพประจำปี รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ดื่มน้ำต่อวันให้เพียงพอ พักผ่อนให้เต็มที่ และที่สำคัญต้องหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ปัจจัยเหล่านี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยป้องกันอาการวูบได้

       อาการวูบไม่รู้ตัวเป็นเรื่องที่น่ากลัวและอันตรายมาก โดยเฉพาะคนที่ต้องทำงานบนที่สูง หรือผู้ที่ต้องขับรถ หากมีอาการวูบบ่อย ๆ ควรต้องระมัดระวังและหลีกเลี่ยงงานที่เสี่ยง สุขภาพดีเริ่มที่ตัวเราป้องกันไว้ก่อนดีที่สุด

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด