โรคแพ้ภูมิตัวเอง (SLE)

ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล

          โรค SLE หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง ที่หลายคนเป็นแล้วแต่ยังไม่เข้าใจถึงโรคที่จริง อาจปล่อยปละละเลยไม่ทำการรักษา และจะเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ มาทำความเข้าใจที่ถูกต้องกับโรคนี้กัน

โรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE คืออะไร
         
ภาวะแพ้ภูมิตัวเอง หรือโรคแพ้ภูมิตัวเอง หรือ SLE (Systemic Lupus Erythematosus ) คือ ภาวะที่เม็ดเลือดขาวทำงานผิดปกติ  โดยปกติเม็ดเลือดขาวจะทำหน้าที่ทำลายเชื้อโรค แต่ในคนไข้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิในเม็ดเลือดขาวกลับไปทำลายเซลล์ร่างกายตัวเอง ทำให้เกิดการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ที่มันไปทำลาย ดังนั้น อาการที่เกิดขึ้นก็เกิดจากเม็ดเลือดขาวไปโจมตีอวัยวะต่าง ๆ เหล่านั้น

อาการที่ควรพบแพทย์
         
อาการที่พบบ่อย  มีอาการทางผิวหนัง เช่น  มีผมร่วง มีแผลในปาก จะอยู่ที่เพดานซึ่งส่วนใหญ่จะไม่มีอาการเจ็บ  แพ้แสง เวลาถูกแสงแดดจะมีปฏิกิริยามากกว่าปกติ  มีผื่นรูปผีเสื้อสีแดงขึ้นที่บริเวณโหนกแก้มและจมูก มีอาการปวดข้อ บวมแดง ร้อน นอกจากนี้ยังมีอาการที่อวัยวะภายในอื่น ๆ  เช่น หัวใจ ปอด ไจ และระบบประสาท

การวินิจฉัยและรักษา
         
การวินิจฉัยโรคแพ้ภูมิตัวเอง ส่วนใหญ่แพทย์จะใช้จากประวัติของผู้ป่วย   การตรวจร่างกายพบรอยโรคร่วมกับการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น การตรวจเลือด  ปัสสาวะ การตรวจเอ็กซเรย์หัวใจและปอด

          สำหรับการรักษามีวิธีรักษาด้วยยา จะมียาลดการอักเสบของข้อ ลดการเจ็บปวด นอกจากนี้อาจจะมียาช่วยในการปรับการทำงานของเม็ดเลือดขาวให้ทำงานเหมือนปกติมากยิ่งขึ้น  ยากลุ่มนี้ ได้แก่ ยากลุ่มสเตียรอยด์ ยากดภูมิ

          ส่วนการรักษาอื่นในผู้ทีมีอาการข้อปวดบวม ข้อติดขัด อาจจะมีการแช่ในน้ำอุ่น   ขยับมือและขยับข้อในน้ำอุ่น ซึ่งทำให้ข้อนั้นลดความฝืด ลดความปวดได้ดีขึ้น

ข้อควรปฏิบัติในผู้ป่วย
          ผู้ป่วยต้องรับประทานยาให้ครบตามแพทย์รักษา  ไม่หยุด  ไม่เพิ่มหรือลดขนาดยาเอง  การถูกแสดงแดดจะกระตุ้นให้ผื่นผิวหนังเพิ่มมากขึ้น  การพักผ่อนไม่เพียงพอ การติดเชื้อในระบบต่าง ๆ รวมทั้งการตั้งครรภ์ สามารถทำให้โรคกำเริบได้  ควรตั้งครรภ์ในภาวะโรคสงบ เพราะหากตั้งครรภ์ในระยะโรคกำเริบ อาจมีผลต่อคุณแม่และทารกในครรภ์ได้  ควรวางแผนครอบครัวกับแพทย์ผู้รักษาก่อนจะตั้งครรภ์

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด