ไข้...เรื่องใกล้ตัวที่มองข้าม

ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

         เวลาเราปวดหัว รู้สึกครั่นเนื้อครั่นตัวและหนาว เรามักจะเข้าใจได้ว่ามีไข้ อาการไข้มาได้อย่างไร  มาทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน

อาการไข้คืออะไร
          อาการไข้
คือ การที่อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นมากกว่าอุณหภูมิปกติ โดยอุณหภูมิปกติ คือ 37 องศาเซลเซียส โดยไข้เป็นอาการไม่ใช่โรค เป็นอาการที่ร่างกายตอบสนอง เมื่อมีการเจ็บป่วยจากสาเหตุบางอย่าง ซึ่งเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ สาเหตุหนึ่งที่พบบ่อย คือ การติดเชื้อ การวินิจฉัยโรคจะประเมินจากอาการอื่นที่พบร่วมด้วย เช่น ผู้ป่วยที่มีไข้ ร่วมกับไอ น้ำมูก เจ็บคอ จะทำให้สงสัยว่าผู้ป่วยจะมีไข้จากการติดเชื้อหวัด ถ้ามีไข้ร่วมกับปัสสาวะแสบขัด จะทำให้สงสัยว่ามีทางเดินปัสสาวะติดเชื้อ

ภาวะแทรกซ้อนของอาการมีไข้
        
โดยส่วนใหญ่แล้วระยะเวลาที่ไข้จะปรากฏในแต่ละโรคยาวนานต่างกัน ขึ้นอยู่กับโรคที่เป็นสาเหตุของไข้ เช่น ไข้หวัดธรรมดาผู้ป่วยจะมีไข้ มีน้ำมูกประมาณ 3 - 4 วันก็หาย หากเป็นไข้จากการติดเชื้อแบคทีเรียที่อาการไม่รุนแรงและได้รับการรักษา อาการไข้มักไม่เกิน 7 วัน ภาวะแทรกซ้อนของไข้ที่อาจพบได้ เช่น มีส่วนทำให้ร่างกายขาดน้ำ ในกลุ่มผู้ป่วยเด็กเล็ก หรือผู้สูงอายุอาจทำให้มีอาการซึมได้ ดังนั้นหากผู้ป่วยมีไข้ยังไม่ดีขึ้น 3 - 5 วัน หรือยังไม่พบเหตุที่เป็นสาเหตุของไข้ ควรรีบพบแพทย์

วินิจฉัยและรักษาอย่างไร
         ในการวินิจฉัย แพทย์จะถามอาการผู้ป่วยอย่างละเอียด จากนั้นทำการตรวจร่างกาย หรือหากมีความจำเป็นอาจทำการตรวจอื่น ๆ เช่น การตรวจเลือด เอกซเรย์ เพื่อหาสาเหตุของไข้ ซึ่งขึ้นอยู่กับโรคที่สงสัยและความรุนแรง  เมื่อตรวจและทราบสาเหตุก็ทำการรักษาตามสาเหตุนั้น รวมไปถึงรักษาเพื่อลดอาการไข้นั้นก็มีความสำคัญ  เช่น  การให้ยาพาราเซตามอล และการเช็ดตัว 

         เนื่องจากสาเหตุของไข้ที่สำคัญ คือ การติดเชื้อ เราสามารถหลีกเลี่ยงจากอาการไข้ได้ง่าย ๆ ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ ลดความเสี่ยงของการได้รับเชื้อโรค การดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง เมื่อร่างกายแข็งแรงมีภูมิคุ้มกัน โอกาสการติดเชื้อ โอกาสการมีไข้ก็จะลดลง

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด