การดูแลสุขภาพปอดในสถานการณ์การระบาดของเชื้อ COVID-19

ภาควิชาอายุรศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

โรคปอด ยังเป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย และยังเป็นหนึ่งในห้าอันดับต้นของโรคสำคัญที่ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพยากรสุขภาพ ที่สำคัญคือ ทำให้ประชากรไทยเสียชีวิตก่อนวัยอันควรแต่ละปีนับหมื่นคน สามารถจำแนกโรคปอดในผู้ใหญ่ที่สำคัญในบ้านเรา ดังนี้
            1. โรคปอดติดเชื้อ ที่สำคัญ คือ “ปอดอักเสบ” และ “วัณโรค” ส่วนที่กำลังจับตากันอยู่มากขณะนี้ คือ “โรคปอดอักเสบจากเชื้อ COVID-19”
            2. โรคปอดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ ที่สำคัญ คือ “โรคถุงลมโป่งพอง” “มะเร็งปอด” และ “โรคหืด”

ช่วงวัยที่เสี่ยงกับการเกิดโรคปอดคือช่วงวัยเด็กและวัยชรา ในวัยเด็กสมรรถภาพปอดจะยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันก็ยังไม่มีพัฒนาการไปจนสมบูรณ์เหมือนผู้ใหญ่ ทำให้มีโอกาสเกิดโรคปอดได้ง่ายโดยเฉพาะจากการติดเชื้อ

สำหรับในผู้สูงอายุจะมีโอกาสรับสารพิษต่อปอดสะสมมานาน อีกทั้งระบบภูมิคุ้มกันก็เสื่อมถอย จึงมีโอกาสป่วยจากโรคปอดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อได้ง่าย เช่น “มะเร็งปอด” หรือ “โรคถุงลมโป่งพอง” ในอีกด้านหนึ่งก็จะเกิดโรคปอดจากการติดเชื้อได้ง่ายที่สำคัญคือ “ปอดอักเสบธรรมดาและที่เกิดจากการสูดสำลัก” และ “วัณโรคปอด”

สาเหตุของการเกิดโรคปอด
            องค์ประกอบในการเกิดโรคปอดก็เช่นเดียวกับโรคในระบบอื่น โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากลักษณะทางพันธุกรรม เช่น ความผิดปกติในยีนส์บางตำแหน่งทำให้เสี่ยงต่อการเป็นวัณโรคปอดหรือโรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น
 

                                

             แต่ส่วนที่สำคัญที่เราดัดแปลงได้ คือพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ การสูบบุหรี่ การสัมผัสฝุ่น ควัน และก๊าซ โดยเฉพาะตัวการร้ายที่กำลังคุกคามประชากรไทยและประชากรโลกอย่างหนักขณะนี้ คือ ฝุ่น PM2.5

การรักษา
             การรักษาโรคปอดที่เป็นหัวใจ คือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค หากเป็นโรคปอดที่เกิดจากการติดเชื้อ สิ่งที่สำคัญคือการรักษาสุขภาพทั่วไปให้แข็งแรง ไม่เข้าไปในที่ที่คนอยู่กันอย่างแออัดเป็นเวลานาน และฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ทุกปี และเมื่อมีข้อบ่งชี้ก็ควรฉีดวัคซีนป้องกันเชื้อนิวโมคอคคัสเพื่อลดโอกาสเกิดปอดอักเสบจากเชื้อนี้ ส่วนโรคปอดที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อที่สำคัญ คือ ระงับพฤติกรรมสุขภาพที่อันตรายโดยเฉพาะการสูบบุหรี่

                      

           สำหรับวัณโรคปอด ที่ยังเป็นปัญหาสำคัญของประชากรไทยและประชากรโลก โดยเฉพาะถ้าเกิดร่วมกับการติดเชื้อเอชไอวี ปัจจุบันมีการตรวจวินิจฉัยที่ทำได้รวดเร็วและแม่นยำ และมียาที่รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้สั้นกว่า 6 เดือน จึงต้องอาศัยความร่วมมือเป็นอย่างดีจากหลาย ๆ ส่วน ประกอบด้วย
             - ผู้ป่วย และญาติผู้ดูแล จะต้องปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
            - กรณีผู้ป่วยอยู่ในวัยทำงาน จำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บังคับบัญชา หรือนายจ้าง เพราะการรักษาอย่างต่อเนื่องบางครั้งอาจทำให้ขาดงาน ซึ่งหากผู้บังคับบัญชาและเพื่อนร่วมงานเข้าใจและให้กำลังใจ ผู้ป่วยก็จะอาการดีวันดีคืนได้

           เมื่อผู้ป่วยได้รับการรักษาต่อเนื่องจนหายขาดและกลับมาเป็นสมาชิกครอบครัวที่สมบูรณ์ และเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่แข็งแรงในการร่วมพัฒนาชาติไทย

ท่ามกลางการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19 ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับปอดควรปฏิบัติตนอย่างไร
            ในด้านของผู้มีปัญหาเกี่ยวกับปอด ลำพังสถานการณ์ปกติ ก็ควรระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อยู่แล้ว และยิ่งในสถานการณ์ การระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19  ทั้งผู้ป่วยและประชาชนทุกท่านสามารถช่วยกันรับมือได้ โดย
            1. ไม่ออกนอกบ้านโดยไม่จำเป็น ถ้าจะต้องออกไปให้ใส่หน้ากากอนามัย
            2. ไม่จับต้องวัตถุในที่สาธารณะ และล้างมือด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจลบ่อย ๆ
            3. ลดการปฏิสังสรรค์ทางสังคมทุกชนิด โดยเฉพาะที่มีคนตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป
            4. อยู่ในระยะห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร ทั้งในที่พักและนอกที่พัก
            5. หากมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ให้รีบไปพบแพทย์ พร้อมให้ข้อมูลความเสี่ยงต่อการติดเชื้อไวรัส COVID-19 อย่างเปิดเผย

                      
          โรคปอดก็ไม่ต่างกับโรคเฉียบพลันหรือโรคเรื้อรังที่สำคัญๆ อีกหลายโรค สิ่งที่ดีที่สุดคือการป้องกันและการลดความเสี่ยง การพบแพทย์เพื่อการตรวจสุขภาพประจำปีและฉีดวัคซีนเป็นเรื่องที่สำคัญในปัจจุบัน แต่ถ้าเริ่มมีอาการทางปอด เช่น ไอนานเกิน 2 สัปดาห์ ไอเป็นเลือด เจ็บหน้าอก หรือหอบเหนื่อย ควรรีบไปปรึกษาแพทย์

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด