การตรวจวัดมวลกระดูกเพื่อการวินิจฉัยโรคกระดูกพรุน

ภาควิชารังสีวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            กระดูกเป็นอวัยวะในร่างกายที่มีการสร้างและสลายตัวตลอดเวลา การสลายกระดูกพบแคลเซียมออกมาสู่เลือด  ในขณะที่การสร้างกระดูกใหม่  มีการใช้แคลเซียมจากอาหารที่รับประทานเข้าไปปะปนอยู่ในเลือดมาสร้างมวลกระดูกใหม่  มวลกระดูกเก่าจะถูกขับถ่ายออกมาทางปัสสาวะวันละ 200 มิลลิกรัม และทางอุจจาระวันละ 800-900 มิลลิกรัม โดยรวมแล้วร่างกายจะสูญเสียแคลเซียม 800-1000 มิลลิกรัมต่อวัน

            การทำให้กระดูกแข็งแรงนั้น แนะนำให้เริ่มทำตั้งแต่ก่อนวัยเจริญพันธุ์ การเพิ่มมวลกระดูกได้ในวัยนี้ จะทำให้มีมวลกระดูกมาก และป้องกันกระดูกพรุนในวัยสูงอายุได้เป็นอย่างดี  หากพ้นวัยนี้ไปแล้ว โอกาสเพิ่มมวลกระดูกเพื่อการสะสมจะไม่มี และต้องรักษามวลกระดูกที่มีอยู่ไม่ให้ลดลงไปจากเดิม

            โรคกระดูกพรุนเป็นโรคที่มีการสูญเสียมวลกระดูก ทำให้กระดูกมีความแข็งแรงลดลง และสามารถทำให้เกิดกระดูกหักตามมาได้ การตรวจมวลกระดูกเป็นการวัดความหนาแน่นของกระดูกเป็นมวลต่อตารางพื้นที่กระดูก โดยการตรวจจะใช้เครื่องมือทางรังสีชนิดพิเศษ นิยมถ่ายภาพบริเวณกระดูกสันหลังส่วนเอว กระดูกสะโพก และกระดูกข้อมือ การแปลผลจะแปลผลการตรวจว่ามวลกระดูกปกติ กระดูกบางหรือกระดูกพรุนตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด

            การตรวจมวลกระดูกด้วยวิธีนี้สามารถตรวจพบภาวะกระดูกบางหรือกระดูกพรุนได้โดยที่ผู้ป่วยยังไม่มีอาการใด ๆ จึงสามารถวินิจฉัยผู้ป่วยได้ก่อนที่ผู้ป่วยจะมีกระดูกหัก การตรวจนี้แนะนำตรวจในคนที่เสี่ยงต่อมวลกระดูกน้อย ได้แก่ ผู้หญิงอายุตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป  ผู้ชายอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป  ผู้หญิงหมดประจำเดือนก่อนอายุ 65 ปี หรือผู้ชายอายุน้อยกว่า 70 ปี ที่มีปัจจัยเสี่ยงต่อมวลกระดูกน้อย อาทิ น้ำหนักน้อย มีประวัติกระดูกหักมาก่อน ใช้ยาหรือโรคที่ส่งผลให้มวลกระดูกน้อย ผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวมีกระดูกหักจากภาวะกระดูกพรุน ผู้ป่วยที่รับประทานยาบางชนิดที่เสี่ยงต่อกระดูกพรุน เช่น สเตียรอยด์ เป็นต้น

            ผู้มาตรวจวัดมวลกระดูกสามารถรับประทานอาหารดื่มน้ำได้ตามปกติ การตรวจวัดมวลกระดูกจะตรวจห่างจากการตรวจทางรังสีที่ใช้สารทึบรังสี หรือสารเภสัชรังสีเป็นเวลาอย่างน้อย 3 วัน ขณะตรวจจะสวมเสื้อผ้าในชุดที่สบาย และไม่ควรมีโลหะหรือเครื่องประดับในร่างกาย  ผู้ป่วยนอนใต้เครื่องตรวจและใช้เวลาตรวจประมาณ 5 - 15 นาที ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านได้ทันทีภายหลังตรวจเสร็จโดยไม่มีรังสีคงค้างในร่างกาย

            การตรวจมวลกระดูกมีประโยชน์เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่ไม่มีอาการ ส่วนมากผู้ป่วยจะมาพบแพทย์เมื่อเกิดภาวะกระดูกหักแล้ว อย่างไรก็ตาม การตรวจนี้ไม่นิยมตรวจในสตรีตั้งครรภ์เนื่องจากรังสีอาจส่งผลถึงทารกในครรภ์ได้ จึงจำเป็นต้องแจ้งแพทย์หากตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด