กัญชากับภาวะสมองเสื่อม
ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การใช้กัญชาในภาวะสมองเสื่อม ยังเป็นที่ถกเถียงกันในวงการแพทย์ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ
กัญชา ที่นำมาใช้ในทางการแพทย์ คือ Cannabis sativa ซึ่งมีสารเคมีภายในอยู่เป็นร้อยชนิด รวมถึงไฟโตคานาบินอยส์ (phytocannabinoids)
สารไฟโตคานาบินอยส์ ออกฤทธิ์ที่ตัวรับที่เซลล์ (cell receptor) ในร่างกายและสมอง ประกอบด้วย
- THC มีผลในด้านจิตประสาท
- Cannabidiol (CBD) ลดการอาเจียน ต้านการอักเสบ กันชัก และปกป้องเซลล์ประสาท โดย CBD ถูกนำมาใช้เพื่อการรักษา มีความปลอดภัยสูงและก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อย
การวิจัยกัญชาด้านการรักษาต่อภาวะสมองเสื่อมในคน
แบบเปิด ผู้ป่วย ผู้ดูแลและแพทย์ จะรู้ว่าได้รับการรักษาแบบใด ทำให้มีอคติในการประเมินและการรายงานผลได้สูง เนื่องจากพฤติกรรมและอารมณ์ในภาวะสมองเสื่อมไม่ได้เกิดขึ้นตลอดเวลา และอาจเปลี่ยนแปลงได้จากหลายปัจจัย
แบบสุ่ม และมีกลุ่มควบคุมซึ่งเป็นยาหลอก ถือว่าเป็นการวิจัยที่มีคุณภาพสูง หากแต่ทั่วโลกยังมีการศึกษาน้อย และผลการวิจัยก็ขัดแย้งกันเอง คือ ในการวิจัยบางงาน พบว่ากัญชาลดลงของความรุนแรงของพฤติกรรมที่รบกวน และลดความรู้สึกทางลบ ลดอาการพลุ่งพล่านกระวนกระวายในตอนกลางคืน และทำให้วงจรการนอนหลับดีขึ้น ในขณะที่บางการวิจัยไม่พบว่าการใช้กัญชาจะลดอาการทางจิตประสาทได้ นอกจากนี้ยังแสดงผลในด้านพฤติกรรมและอารมณ์เป็นหลัก ไม่ใช่ความสามารถในการคิดอ่าน ความจำของผู้ป่วย
ผลข้างเคียงที่ควรระวัง
ได้แก่ อาการง่วงซึม มึนงง ปากแห้ง คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็ว การรู้คิดบกพร่อง ลดสมรรถภาพในการขับรถ รบกวนความจำระยะสั้น สับสนและการตอบสนองทางอารมณ์ วิตกกังวล กระวนกระวาย เพิ่มความเสี่ยงของอาการทางจิต ประสาทหลอน และการฆ่าตัวตาย การเดินและการทรงตัวบกพร่อง เพิ่มความเสี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย เสียชีวิตกะทันหัน หัวใจเต้นผิดจังหวะ โรคหลอดเลือดสมอง
นอกจากนี้ ผู้สูงอายุที่มีการทำงานของตับและไตลดลง ทำให้ความสามารถในการขับยาออกจากร่างกายได้น้อยลง และอาจมีผลกับยาอื่นได้ เช่น ยาที่กระตุ้นหัวใจ อาจเกิดความดันโลหิตสูงขึ้น และหัวใจเต้นเร็ว หรือกลุ่มยาที่ทำให้ง่วงอยู่เดิม ทำให้เกิดอาการซึม สับสนได้
ปัจจุบันยังขาดหลักฐานทางการแพทย์ในงานวิจัยที่มีคุณภาพ ดังนั้นสมาคมวิชาชีพต่างๆ ด้านโรคอัลไซเมอร์และสมองเสื่อมทั้งภายในและต่างประเทศ จึงยังไม่แนะนำให้ใช้กัญชาในการรักษาภาวะนี้
อย่างไรก็ตาม คงต้องอาศัยนักวิชาการ นักวิจัย ช่วยกันพิสูจน์สมมติฐาน โดยประโยชน์อาจขึ้นกับผู้ป่วยบางกลุ่มที่จำเพาะ ฉะนั้นการใช้กัญชาทางการแพทย์จึงต้องพิจารณาเป็นรายบุคคล โดยคำนึงถึงลักษณะที่แตกต่าง อาการที่ต้องใช้ยา ความรุนแรงของอาการ โรคร่วมและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น