โรคลิ้นหัวใจในผู้สูงอายุ

ภาควิชาอายุรศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล 

            หากผู้สูงอายุในบ้านมีอาการ หอบ เหนื่อยไม่มีแรง หน้ามืด เป็นลมบ่อย อย่าคิดว่าเป็นเรื่องปกติในผู้สูงอายุ  เพราะอาการที่ว่านี้อาจจะเป็นสัญญาณเตือนจากความผิดปกติของลิ้นหัวใจในผู้สูงอายุได้  มาไขข้อข้องใจเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน           

            ส่วนใหญ่โรคลิ้นหัวใจในผู้สูงอายุ มักมีสาเหตุเกี่ยวข้องกับความเสื่อมของสภาพลิ้นหัวใจ เนื่องจากในอายุที่เพิ่มขึ้น ร่างกายย่อมมีความเสื่อมถอยของร่างกายโดยรวม รวมทั้งสภาพของลิ้นหัวใจ ทำให้อาจจะมีเนื้อเยื่อของลิ้นหัวใจบางส่วนมีการหนาตัวขึ้น จึงทำให้เกิดการตีบแคบ หรือบางส่วนของลิ้นหัวใจมีการขาดทำให้เกิดเป็นสภาพของลิ้นหัวใจรั่วได้

            อาการส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุที่มีโรคลิ้นหัวใจเกิดขึ้น มักจะมีอาการเด่นคือ เรื่องของการเหนื่อย ที่จะมีอาการเหนื่อยมากกว่าปกติจากที่เคยเป็น เคยใช้งานตามปกติได้ หรืออาจจะเป็นเรื่องของการที่มีอาการหมดสติฉับพลัน โดยที่ไม่ได้มีสาเหตุจากเรื่องของหลอดเลือดสมอง ซึ่งในสภาวะนั้นจะเกิดจากลิ้นหัวใจตีบ ถ้าเกิดเป็นลิ้นหัวใจรั่วทำให้มีอาการเหนื่อย บางคนเหนื่อยมากจนทำงานไม่ไหว จากปกติที่เคยขึ้นบันไดได้ ก็จะเหนื่อยขึ้นบันไดไม่ไหว

            ในการวินิจฉัยโรคลิ้นหัวใจในผู้สูงอายุ มักจะต้องตรวจตั้งแต่ขั้นพื้นฐานด้วยการซักประวัติ ตรวจร่างกาย ฟังเสียงหัวใจ ตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ และตรวจภาพรังสีทรวงอก ในการที่จะได้รายละเอียดที่ชัดเจนของลิ้นหัวใจที่ผิดปกติ เราจะใช้การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจ ที่เรียกว่า Echocardiography ปัจจุบันมีการตรวจทั้งในระบบ 2 มิติ และ 3 มิติ ซึ่งได้ภาพและข้อมูลที่ชัดเจน สามารถที่จะนำไปสู่การรักษาขั้นต่อไป ในการตรวจวิธีอื่นก็มี เช่น การทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ CT Scan หรือการตรวจสวนหัวใจ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ต้องมาประกอบในกรณีที่จำเป็นต้องทำการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจต่าง ๆ โดยทั่วไปแล้วจะใช้การตรวจคลื่นเสียงสะท้อนหัวใจเป็นหลัก

           ในการรักษาโรคลิ้นหัวใจในผู้สูงอายุ พื้นฐานจะเป็นการใช้ยา เพื่อให้อาการบรรเทาและร่างกายแข็งแรงขึ้นมาก่อน ในการรักษาให้หายจะมีอยู่ 2 รูปแบบใหญ่ ๆ คือ รูปแบบของการผ่าตัดเปลี่ยนลิ้นหัวใจ ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐานแต่ดั้งเดิม ปัจจุบันเรามีการรักษาโดยการเปลี่ยนลิ้นหัวใจโดยไม่ผ่าตัดเปิดทรวงอก  เป็นการใส่สายเข้าทางหลอดเลือดและไปขยายและเปลี่ยนลิ้นหัวใจ เป็นวิธีใหม่ซึ่งวิธีนี้ทางโรงพยาบาลศิริราชเริ่มทำ และในปัจจุบันได้ทำการรักษาด้วยวิธีนี้อยู่จำนวนหนึ่ง  ซึ่งก็ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ในวันข้างหน้าอาจจะใช้วิธีนี้เป็นวิธีมาตรฐานมารักษาคนไข้ที่เป็นโรคลิ้นหัวใจในผู้สูงอายุ

            สำหรับผู้ป่วยที่สงสัย หรือกังวลว่าตัวเองเป็นโรคลิ้นหัวใจหรือไม่มีอาการและให้สังเกต คือ ถ้าอยู่อยู่มีอาการเหนื่อยเร็วกว่าปกติ หรือมีอาการเหนื่อยฉับพลันขึ้นมา หรือมีอาการบวมโดยที่ไม่ได้เป็นเรื่องของน้ำ หรือ  โรคไต สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ หากมาพบแพทย์เร็วสามารถช่วยให้การวินิจฉัยได้เร็วขึ้น และนำไปสู่การรักษาได้รวดเร็วขึ้น

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด