โรคต้อหิน!

อ.พญ.สกาวรัตน์ เพ็ชร์ยิ้ม

ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

            ภัยเงียบจากการเกิดต้อหินที่หลายคนยังไม่เข้าใจ ว่าเป็นแล้วอาจคุกคามการมองเห็นของคุณได้หากไม่รีบรักษา เป็นต้อหินแล้วมีโอกาสตาบอดได้จริงหรือไม่ จะมาคลายข้อสงสัยในเรื่องนี้

            โรคต้อหิน คือ โรคที่เกิดพยาธิสภาพขึ้นที่บริเวณขั้วประสาทตา ทำให้เกิดการบางตัวของเส้นประสาทตา ซึ่งขั้วประสาทตา คือ บริเวณที่ลูกตาเชื่อมไปสู่สมอง ลักษณะเป็นเหมือนท่อ ให้จินตนาการถึงท่อกลวง ๆเหมือนท่อน้ำประปาและมีเส้นประสาทวิ่งบริเวณรอบ ๆ ท่อเข้าไปตรงกลางจะเป็นรอยหว่ำ ในคนที่เป็นโรค  ต้อหินรอยหว่ำจะมีขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากเส้นประสาทตานั้นบางตัวลงไป

สาเหตุหลัก ๆ ในการเกิดโรคต้อหิน มีทั้งแบบที่ทราบสาเหตุ และแบบที่ไม่ทราบสาเหตุ แต่ทั้งหมดเชื่อว่าเกิดจากสาเหตุใด ๆ ก็ตามที่ทำให้ความดันตาขึ้น สำหรับพวกที่ทราบสาเหตุ คือ พวกที่มีโรคทางตามาก่อน เช่น โรคม่านตาอักเสบ เคยผ่าตัดต้อกระจกมาก่อน หรือว่ามีการใช้ยาบางตัวที่ทำให้ความดันลูกตาขึ้น ส่วนที่ไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ ก็จะไม่มีสาเหตุที่แน่ชัดแต่มีความดันลูกตาขึ้น ก็สามารถแบ่งออกเป็นต้อหินแบบมุมเปิดและมุมปิด ที่ต้องแบ่งแบบนี้เพื่อจะได้ทราบถึงการรักษาต่อไป

ปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหิน คือ ความดันตาที่สูงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญในการเกิดโรคต้อหิน นอกนั้นก็จะเป็นอายุ อายุยิ่งมากก็จะยิ่งมีความเสี่ยงมาก คนที่มีสายตาผิดปกติมาก ๆ เช่น สายตาสั้นหรือสายตายาวมาก ๆ คนที่ได้รับการกระทบกระเทือนที่ลูกตา คนที่เคยได้รับการผ่าตัดลูกตามาก่อน หรือมีโรค ทางตามาก่อน ก็จะมีความเสี่ยงในการเกิดโรคต้อหิน นอกจากนั้นในเรื่องของพันธุกรรมก็มีส่วนสำคัญทำให้เกิดโรคได้มากขึ้นด้วย

            ในส่วนของอาการ ต้องย้ำตรงนี้ว่า โรคต้อหินไม่มีอาการในตอนต้นของโรค แต่จะมีในตอนท้ายเท่านั้น เพราะฉะนั้นถ้ารอจนสายตามัวแล้ว แปลว่าโรคเป็นไปเยอะแล้ว และหมอก็ไม่สามารถทำให้ลานสายตาในส่วนนั้นกลับมาได้ ดังนั้นตัวเราต้องดูว่าเรามีปัจจัยเสี่ยงอะไร และมาหาหมอก่อนที่จะเกิดอาการตามัว ส่วนต้อหินบางประเภท คือ ต้อหินมุมปิดแบบฉับพลัน จะมีอาการปวดตามาก ตาแดง เห็นแสงรอบไฟเป็นสีรุ้ง ส่วนใหญ่คนไข้เหล่านี้จะมาหาก่อนที่จะเกิดภาวะสายตาบอดตามมา

           การรักษาโรคต้อหิน จะเป็นการรักษาเพื่อลดความดันตา การลดความดันตาทำได้หลายวิธี คือ การใช้ยา การใช้เลเซอร์ และการผ่าตัด ซึ่งหมอจะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

            การหลีกเลี่ยงตาบอดจากโรคต้อหินทำได้โดย เราต้องทราบก่อนว่าเราเป็นคนที่มีความเสี่ยงหรือเปล่า โดยคนที่มีความเสี่ยง คือ คนที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีคนในครอบครัวเป็นโรคต้อหิน มีสายตาสั้นหรือยาวมากกว่าปกติ ได้รับการกระทบกระเทือนหรือผ่าตัดทางตามาก่อน ส่วนคนที่เป็นโรคต้อหินอยู่แล้ว ต้องได้รับการตรวจโดยจักษุแพทย์เป็นประจำ

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด