โรค APS ในสตรีตั้งครรภ์
รศ.นพ.กุศล รัศมีเจริญ
ภาควิชาสูติศาสตร์ นรีเวชวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
ปัญหาสำคัญของสตรีตั้งครรภ์โดยเฉพาะในช่วงแรกของการตั้งครรภ์ คือ ภาวะแท้งบุตร ซึ่งเป็นปัญหาที่พบได้บ่อย และมีโอกาสเกิดขึ้นได้ในสตรีตั้งครรภ์ทุกคน หนึ่งในสาเหตุของการแท้งซ้ำ ๆ ติดต่อกันที่พบได้ คือ โรค APS มารู้จักโรคนี้กัน
โรค APS ย่อมาจากคำว่า Antiphospholipid Syndrome คือ กลุ่มอาการต้านฟอสโฟลิพิด จัดเป็นโรคความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันทำลายตนเองชนิดหนึ่ง (หรือเรียกว่า Autoimmune) ซึ่งเกิดจากการที่ร่างกายสร้างสารภูมิต้านทานไปกำจัดสารที่เรียกว่าฟอสโฟลิพิด ซึ่งฟอสโฟลิพิด คือ สารจำพวกไขมันที่เป็นส่วนประกอบสำคัญของเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย โดยกลุ่มเสี่ยงที่จะเป็นโรคนี้ ได้แก่ เพศหญิง ซึ่งจะมีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชาย หรือในคนที่เป็นโรคความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (หรือเรียกว่า Autoimmune) เช่น โรค S.L.E. ก็จะมีโอกาสพบโรคนี้ร่วมด้วยได้ หรือในบางรายที่เป็นโรคติดต่อบางชนิด เช่น โรคซิฟิลิส หรือแม้กระทั่งในรายที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนี้ก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคนี้ หรือภาวะนี้เพิ่มขึ้นได้
โดยทั่วไปผู้ที่เป็นโรคนี้จะมีความเสี่ยงของการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ไม่ว่าจะเป็นหลอดเลือดดำ หรือหลอดเลือดแดงที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย โดยอาการจะขึ้นอยู่กับว่าการเกิด ลิ่มเลือดอุดตันไปเกิดกับหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะใด แต่สำหรับในสตรีตั้งครรภ์ โรคนี้จะส่งผลกระทบในทางลบกับการตั้งครรภ์ ไม่ว่าจะเป็นสาเหตุของการทำให้เกิดการแท้งซ้ำซาก หรือเป็นการแท้งที่เกิดขึ้นเองติดต่อกันสามครั้ง หรือในรายที่การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปได้ก็จะเกิดปัญหา ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของภาวะทารกเจริญเติบ โตช้าในครรภ์หรืออาจจะรุนแรงถึงขั้นทำให้ทารกในครรภ์เสียชีวิตได้ หรืออาจจะเพิ่มความเสี่ยงของภาวะการคลอดก่อนกำหนด และภาวะครรภ์เป็นพิษได้
การวินิจฉัยโรคนี้ทำได้โดยการซักประวัติ และอาการดังที่กล่าวแล้วข้างต้น ร่วมกับการเจาะเลือดส่งตรวจทางห้องปฎิบัติการ เพื่อหาสารภูมิต้านทานต่อสารฟอสโฟลิพิด โดยจะต้องตรวจพบความผิดปกติของค่าเลือดสองครั้งห่างกัน 12 สัปดาห์
ในส่วนของการรักษา ในรายที่เป็นโรคนี้และมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้น แพทย์จะทำการให้ยาในกลุ่มแอสไพรินขนาดต่ำรับประทานร่วมกับการฉีดยาในกลุ่ม heparin ซึ่งเป็นยาต้านการแข็งตัวของเลือดไปตลอดการตั้งครรภ์ เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ที่ใกล้เคียงกับคนปกติให้มากที่สุด
สำหรับผู้หญิงที่ตรวจพบว่าเป็นโรคนี้แล้วมีการวางแผนที่จะตั้งครรภ์ หรือตรวจพบว่าตั้งครรภ์แล้วแนะนำให้รีบไปปรึกษาสูติแพทย์ เพราะว่าการดูแลรักษาจะเป็นการดูแลรักษาร่วมกันระหว่างสูติแพทย์กับอายุรแพทย์ทางโลหิตวิทยา เพื่อให้ผลลัพธ์ของการตั้งครรภ์ใกล้เคียงปกติมากที่สุด