การตรวจสมรรถภาพร่างกาย (Physical Fitness test)
นายยลวรณัฏฐ์ จีรัชตกรณ์
งานสร้างเสริมสุขภาพ
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญและเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง และพวกเราบางคนเองจะทราบถึงสุขภาพตนเองก็ต่อเมื่อมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น ส่งผลต่อคุณภาพชีวิต และประสิทธิภาพการทำงานลดลง
หลาย ๆ คนคิดว่าการตรวจเช็คสุขภาพประจำปีเพียงปีละครั้งก็เพียงพอในการดูแลตรวจเช็คประสิทธิภาพการทำงานของร่างกายได้แล้ว แต่ไม่เป็นจริงเสมอไป หลาย ๆ ท่านลองคิดดูนะครับ หากออกกำลังเพียงเล็กน้อย หรือทำงานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย เช่น เดินขึ้นบันไดเพียงไม่กี่ขั้น ก็มีอาการเหนื่อยหอบแล้วทั้ง ๆ ที่ผลการตรวจเช็คสุขภาพประจำปีอยู่ในเกณฑ์ปกติ เหตุการณ์เหล่านี้พบได้บ่อย ทั้งนี้เนื่องจากการตรวจสุขภาพโดยทั่วไปที่ประกอบด้วยการเจาะเลือด เอ็กซเรย์ปอด ตรวจคลื่นหัวใจ จะเป็นการตรวจเช็คร่างกายในขณะพักเท่านั้น ไม่ได้ตรวจในขณะที่ร่างกายมีการออกกำลังกายอย่างแท้จริง ซึ่งไม่ได้บ่งบอกถึงการที่ร่างกายมีสมรรถภาพร่างกายที่ดีมากน้อยแต่อย่างใด วันนี้เราจึงขอพาท่านไปรู้จักกับ ความหมายของ สมรรถภาพร่างกาย (Physical Fitness) ที่ถูกต้อง ไปติดตามกันครับ
สมรรถภาพร่างกายคืออะไร
สมรรถภาพทางกาย หรือ ความฟิต หมายถึง ความสามารถของบุคคลในอันที่จะใช้ระบบต่าง ๆ กระทำกิจกรรมใด ๆ อันเกี่ยวกับการแสดงออก ซึ่งความสามารถทางด้านร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพหรือได้หนักหน่วง เป็นเวลาติดต่อกันโดยไม่แสดงอาการเหน็ดเหนื่อยให้ปรากฏ และสามารถฟื้นตัวกลับสู่สภาพปกติได้ในระยะเวลาอันรวดเร็ว ผู้ที่มีสมรรถภาพร่างกายที่ดีมักจะเป็นผู้ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง จิตใจร่าเริงแจ่มใส บุคลิกดี ความมั่นใจตัวเองสูง และทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
การตรวจเช็คสมรรถภาพร่างกายมีดังนี้
1. การซักประวัติ และตรวจร่างกาย เช่น วัดชีพจร ความดันโลหิต รวมถึงการซักประวัติของโรคที่เกี่ยวข้องกับการทดสอบสมรรถภาพ ซึ่งเป็นการประเมินเบื้องต้น หรือข้อควรระวังในการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย
2. วัดปริมาณไขมันในร่างกาย เป็นการวัดค่าเปอร์เซนต์ไขมันในร่างกาย โดยใช้เครื่องมือเฉพาะในการวัดความหนาชั้นไขมันใต้ผิวหนังในจุดต่าง ๆ ของร่างกาย
3. การวัดสมรรถภาพของระบบทางเดินหายใจ เป็นการวัดประสิทธิภาพของระบบทางเดินหายใจ โดยผู้ที่มีสมรรถภาพของปอดดี จะทำให้มีความทนทานในการทำงาน ไม่เหนื่อยเร็ว ขณะเดียวกันถ้ามีสมรรถภาพของปอดลดลง ก็อาจบ่งบอกถึงการขาดการออกกำลังกาย
4. การวัดความอ่อนตัวร่างกาย เป็นการวัดสมรรถภาพของข้อต่อต่าง ๆ รวมทั้งเอ็นและกล้ามเนื้อรอบ ๆ ข้อ ผู้ที่มีความอ่อนตัวของข้อต่อน้อย จะมีโอกาสบาดเจ็บจากการทำงาน หรือออกกำลังกายมากกว่า ผู้ที่มีสมรรถภาพความอ่อนตัวดี ดังนั้นในการตรวจหากพบว่าร่างกายมีความอ่อนตัวหรือการยืดเหยียดของข้อต่อน้อย การปฏิบัติตนตามคำแนะนำเบื้องต้น จะช่วยป้องกันและลดการบาดเจ็บของร่างกาย และเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และออกกำลังกายได้ดีขึ้น
5. การวัดความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เป็นการวัดแรงของกล้ามเนื้อส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน เช่น กำลังของกล้ามเนื้อแขน ขา เป็นต้น
6. ตรวจสมรรถภาพของระบบหัวใจ และการไหลเวียนเลือด เป็นการวัดอัตราการใช้ออกซิเจนขณะออกกำลังกาย ซึ่งจะบ่งชี้ไปถึงประสิทธิภาพของหัวใจ ที่สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆในชีวิตประจำวัน
ดังนั้นเพื่อให้การออกกำลังกายมีประสิทธิภาพและตรงกับที่เราต้องการ เราควรทราบถึงระดับสมรรถภาพร่างกายของเราก่อนเพื่อที่จะได้ออกแบบวิธีการและแนวทางในการพัฒนาระบบต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องต่อไปครับ
ด้วยความปรารถนาดีจาก งานสร้างเสริมสุขภาพ