การบริจาคอวัยวะ
อ.นพ.เวธิต ดำรงกิตติกุล
ภาควิชาศัลยศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
การบริจาคอวัยวะ เปรียบเสมือนการทำบุญอีกรูปแบบหนึ่ง เพื่อช่วยต่อลมหายใจอีกหนึ่งชีวิตที่รอรับการบริจาค วันนี้จะมาช่วยให้รายละเอียดและขั้นตอนเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
การบริจาคอวัยะ คือ การที่บุคคลหนึ่งมีความประสงค์ที่จะให้อวัยวะของตนแก่ผู้ป่วยที่รอรับการปลูกถ่ายอวัยวะ เนื่องจากเจ็บป่วยด้วยโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ด้วยวิธีอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ โดยไม่หวังผลตอบแทน เสมือนกับการต่อลมหายใจให้กับเพื่อนมนุษย์ ซึ่งผู้บริจาคอวัยวะ 1 รายจะสามารถบริจาคหัวใจ ปอด ตับ ไต ตับอ่อน และดวงตาให้ผู้รับได้อีกหลายราย
โดยทั่วไปผู้บริจาคอวัยวะแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ 1. ผู้บริจาคอวัยวะสมองตาย 2. ผู้บริจาคอวัยวะที่มีชีวิต
คุณสมบัติที่สำคัญสำหรับผู้บริจาคอวัยวะทั้ง 2 แบบนั้น จะต้องมีการทำงานของอวัยวะที่จะบริจาคนั้นอยู่ในเกณฑ์ที่ดี และมีการทำงานของอวัยวะในระบบอื่น ๆ อยู่ในเกณฑ์ที่ดีเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังต้องปราศจากโรคที่สามารถถ่ายทอดไปสู่ผู้รับได้ ได้แก่ โรคติดเชื้อ และโรคมะเร็ง
ส่วนผู้บริจาคอวัยวะที่มีชีวิตที่ประสงค์จะบริจาคอวัยวะที่มี 2 ข้าง เช่น ไต และ ปอด หรืออวัยวะที่สามารถผ่าตัดออกบางส่วนได้ เช่น ตับ ให้กับผู้รับได้ แต่จำเป็นจะต้องได้รับการตรวจโดยละเอียดเพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าหลังบริจาคแล้วจะไม่เกิดผลเสียต่อสุขภาพของผู้บริจาค
สำหรับผู้ที่มีความประสงค์ที่จะบริจาคอวัยวะสามารถยื่นความจำนง ได้ที่ โรงพยาบาลที่ทำการปลูกถ่ายอวัยวะทุกโรงพยาบาล และเครือข่ายของศูนย์รับบริจาคอวัยวะสภากาชาดไทย รวมทั้งโรงพยาบาลประจำจังหวัดทุกจังหวัด สำหรับโรงพยาบาลศิริราชสามารถติดต่อได้ที่ งานเปลี่ยนอวัยวะศิริราช โทร. 0 2419 8079 ในวันและเวลาราชการ
นอกจากนั้น สำหรับญาติของผู้ป่วยที่มีภาวะสมองตายที่มีความประสงค์จะบริจาคอวัยวะ สามารถแจ้งความประสงค์ต่อทีมแพทย์ที่ทำการรักษาได้
การบริจาคอวัยวะนั้นมีความแตกต่างจากการบริจาคร่างกาย โดยการบริจาคอวัยวะเป็นการให้อวัยวะ เพื่อจุดประสงค์สำหรับรักษาผู้ป่วย ส่วนการบริจาคร่างกายเป็นการอุทิศร่างกายภายหลังจากการเสียชีวิต เพื่อเป็นประโยชน์เกี่ยวกับการเรียนการสอนทางการแพทย์ ดังนั้นผู้บริจาคสามารถที่จะเลือกบริจาคอวัยวะ หรือบริจาคร่างกายได้อย่างใดอย่างหนึ่ง