สายตาเอียง

รศ.พญ.อติพร ตวงทอง
ภาควิชาจักษุวิทยา

Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

หลายคนที่มีปัญหาเรื่องสายตาเอียง และมักมองข้ามไป ทำให้ไม่ได้รับการแก้ไขที่ถูกต้อง ซึ่งอาจจะส่งผลต่อชีวิตประจำวัน

สายตาเอียง สาเหตุเกิดได้จากการที่กระจกตามีความโค้งในแต่ละแนวไม่เท่ากัน ซึ่งอาจเกิดจากความผิดปกติของรูปร่างของกระจกตาแต่กำเนิด โรคของกระจกตา การบาดเจ็บ หรือว่าแผลบริเวณกระจกตา โดยความผิดปกติที่ได้กล่าวมานี้ จะทำให้แสงที่ผ่านเข้าตาถูกหักเหตกที่บริเวณจอตามากกว่า 1 จุด ทำให้การมองผิดปกติไป โดยสายตาเอียงมักเกิดร่วมกับสายตาสั้นและสายตายาว

อาการของสายตาเอียงจะขึ้นอยู่กับปริมาณของสายตาเอียงที่มี ถ้าปริมาณของสายตาเอียงที่ผิดปกติไม่มาก อาการอาจจะไม่ชัดเจน คนไข้อาจจะมีหรี่ตา หรือว่าเอียงหน้าเพื่อทำให้มองเห็นได้ชัดขึ้น หรือบางคนใช้สายตานานนาน ก็อาจจะมีอาการปวดตา ปวดร้าวบริเวณเบ้าตา ปวดศีรษะ แต่ถ้าปริมาณของสายตาเอียงมากขึ้นก็จะทำให้มีการมองเห็นภาพที่ไม่ชัดเจน ผิดปกติไป ผิดเพี้ยนไป หรือเวลาตอนกลางคืนถ้ามองดวงไฟก็จะให้เห็นแสงดวงไฟแตก

การรักษาสายตาเอียง คือ การทำให้แสงที่เข้าตาตกหักเหเป็นจุดจุดเดียว โดยเราอาจจะใช้การใช้แว่นสายตา โดยตัวเลนส์ที่ใช้สำหรับแว่นสายตาเอียงเรียกว่า เลนส์กาบกล้วย หรือ cylindrical lens หรือจะใช้คอนแทคเลนส์ก็ได้ คอนแทคเลนส์ใช้ได้ทั้งชนิดนิ่มและชนิดแข็งขึ้นอยู่กับชนิดของสายตาเอียง สุดท้ายคือการผ่าตัดแก้ไขสายตาที่บริเวณกระจกตาที่เรียกว่า เลสิค ก็สามารถช่วยแก้ไขเรื่องสายตาเอียงได้เช่นกัน

โดยทั่วไปในเด็กวัยเรียนแนะนำให้ตรวจคัดกรองและวัดสายตาทุก 1-2 ปี เนื่องจากว่าถ้ามีภาวะสายตาเอียง และไม่ได้รับการแก้ไข อาจทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจได้ ส่วนในเด็กที่ได้รับการแก้ไขโดยการใช้แว่นสายตาแล้ว ควรจะได้รับการตรวจติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของสายตาทุก 1 ปี สำหรับในคนทั่วไปถ้ามีอาการผิดปกติในการมองเห็นควรรีบพบจักษุแพทย์ทันทีเพื่อหาสาเหตุต่อไป

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด