“โรคไข้เลือดออก”อันตรายจากยุงลาย วายร้ายตัวจิ๋ว

งานโรคติดเชื้อ โรงพยาบาลศิริราช
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

โรคไข้เลือดออก เกิดจากการติดเชื้อไวรัสเดงกี (dengue virus)  โดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค มักพบในประเทศเขตร้อนและระบาดในช่วงฤดูฝนของทุกปี อาการมีตั้งแต่ไม่รุนแรงไปจนถึงเสียชีวิตได้ หากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

เชื้อไวรัสเดงกี มี 4 สายพันธุ์ คือ DENV-1, DENV-2, DENV-3 และ DENV-4  มียุงลายเพศเมียเป็นพาหะนำโรค เมื่อยุงลายดูดเลือดจากผู้ป่วยในระยะที่มีไข้ ซึ่งมีเชื้อไวรัสในกระแสเลือด เชื้อจะเข้าไปฝังตัวในกระเพาะยุงและต่อมน้ำลายของยุง โดยมีระยะฟักตัวในยุง ประมาณ 8-12 วัน เมื่อยุงที่มีเชื้อไปกัดคนอื่น เชื้อไวรัสก็จะเข้าสู่กระแสเลือดของผู้ที่โดนกัด ก่อให้เกิดการติดเชื้อและป่วยตามมาหลังจากถูกกัดประมาณ 3-15 วัน

สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่พบบ่อยในเด็กวัยเรียนและวัยทำงานตอนต้น ผู้ป่วยที่มีภาวะเสี่ยงต่ออาการรุนแรง หรือ เกิดภาวะแทรกซ้อน ได้แก่  เด็กทารกและผู้สูงอายุ  หญิงตั้งครรภ์ ผู้ที่มีแผลในกระเพาะอาหาร  ผู้หญิงที่อยู่ระหว่างมีประจำเดือนหรือมีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด ผู้ที่มีโรคเม็ดเลือดแดงแตกง่าย หรือโรคที่เกิดจากฮีโมโกลบินผิดปกติ  ผู้ป่วยโรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น อ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด โรคหัวใจขาดเลือด ไตวาย ตับแข็ง ผู้ที่รับประทานยากลุ่มสเตียรอยด์ หรือยาในกลุ่มยาแก้อักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory หรือ NSAIDs)

โดยทั่วไปการติดเชื้อไวรัสเดงกีครั้งแรก ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (80-90%) อาการจะไม่รุนแรง บางรายอาจมี   ไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระดูก และมีผื่นที่ผิวหนังได้ แต่ถ้าเป็นการติดเชื้อครั้งที่สอง โดยเชื้อไวรัสที่สายพันธุ์ต่างจากครั้งแรก อาจมีอาการรุนแรงเกิดเป็นภาวะไข้เลือดออกได้ ซึ่งแบ่งออกได้ 3 ระยะ คือ  

            1. ระยะไข้ ผู้ป่วยจะมีไข้สูงเกือบตลอดเวลา มักไม่ค่อยตอบสนองต่อยาลดไข้ อาจมีอาการ เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง และอาจมีผื่นหรือจุดเลือดออกตามลำตัว แขน ขา ระยะนี้จะเป็นอยู่ราว 2-7 วัน 

2. ระยะวิกฤติ ระยะนี้ไข้จะเริ่มลดลง ผู้ป่วยที่เกิดภาวะแทรกซ้อนเลือดออก อาการจะไม่ดีขึ้น ยังคงเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง อ่อนเพลีย มากกว่าเดิม ต่างกับผู้ป่วยที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนซึ่งอาการต่าง ๆ ค่อย ๆ ดีขึ้น ผู้ป่วยที่อาการรุนแรง อาจเกิดภาวะช็อก มีความดันโลหิตต่ำ มือเท้าเย็น ชีพจรเต้นเบาเร็ว ปัสสาวะออกน้อย ร่วมกับมีเลือดออกง่าย เช่น มีเลือดกำเดาไหล อาเจียนเป็นเลือด อุจจาระมีสีดำ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้ ระยะนี้กินเวลา 24-48 ชั่วโมง ดังนั้น ถ้าผู้ป่วยมีไข้เกิน 2 วันแล้วอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยและรักษา

            3.ระยะฟื้นตัว อาการต่าง ๆ จะเริ่มดีขึ้น ผู้ป่วยอยากรับประทานอาหาร ความดันโลหิตสูงขึ้น ชีพจรเต้นแรงขึ้นและช้าลง ปัสสาวะมากขึ้น บางรายมีผื่นแดงและมีจุดเลือดออกเล็ก ๆ ตามลำตัว

ปัจจุบันยังไม่มียาต้านไวรัสที่มีประสิทธิภาพดีในการรักษาโรคไข้เลือดออก การรักษาประคับประคองที่ถูกต้อง ในเวลาที่เหมาะสม จะทำให้ผู้ป่วยกลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว  ซึ่งในรายที่อาการไม่รุนแรง อาจหายได้เองภายใน 2-7 วัน

สำหรับการดูแลอาการเบื้องต้น มีดังนี้

1. ผู้ป่วยควรได้รับอาหารและนํ้าดื่มอย่างเพียงพอ ควรรับประทานอาหารอ่อนและงดอาหารหรือเครื่องดื่มที่มีสีดำ แดง หรือนํ้าตาล เพื่อไม่ให้สับสนกับภาวะเลือดออกในทางเดินอาหาร  ถ้าผู้ป่วยรับประทานอาหารได้น้อย อาจให้ดื่มนม นํ้าผลไม้ หรือนํ้าเกลือแร่ร่วมด้วย

2. การลดไข้ เช็ดตัวด้วยน้ำอุ่นเพื่อลดไข้เป็นระยะ ๆ  และใช้ยาพาราเซทตามอล  เฉพาะเวลามีไข้สูงเท่านั้น ห้ามใช้แอสไพริน ไอบูโพรเฟน หรือ ยากลุ่ม(non-steroidal anti-inflammatory drug – NSAID) เด็ดขาด เพราะอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น

3. สังเกตอาการ หากพบว่าผู้ป่วยคลื่นไส้/อาเจียนมาก อ่อนเพลียมาก ปวดท้องมาก รับประทานอาหารและดื่มน้ำไม่ได้ มีภาวะเลือดออกรุนแรง  สงสัยภาวะช็อก โดยเฉพาะเมื่อไข้เริ่มตํ่าลง เช่น ความดันโลหิตต่ำ    ชีพจรเต้นเบาเร็ว มือเท้าเย็น ปัสสาวะออกน้อย ซึม สับสน กระสับกระส่าย ฯลฯ  ควรรีบมาพบแพทย์โดย      เร็วที่สุด

 การป้องกันโรคไข้เลือดออก

1. ระมัดระวังไม่ให้ยุงกัด เช่นเดียวกับ การป้องกันโรคไข้ซิกา

2. เนื่องจาก วัคซีนไข้เลือดออกที่มีจำหน่ายในประเทศไทยขณะนี้ 1 ชนิด มีประสิทธิภาพไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ วัคซีนสามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัสเดงกี่ และลดความรุนแรงของโรคได้เฉพาะในผู้ใหญ่ หรือเด็กอายุมากกว่า 9 ปี ซึ่งเคยมีการติดเชื้อไวรัสเดงกี่มาก่อนในอดีต (seropositive) เท่านั้น สำหรับผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน (seronegative) วัคซีนอาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นไข้เลือดออกรุนแรง ประมาณ 2 คนในผู้ที่ได้รับวัคซีน 1,000 คน ในระยะเวลา 5 ปี ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อการตัดสินใจ โดยอาศัยข้อมูลจากงานวิจัยล่าสุดทุกครั้ง

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด