การตรวจเพ็ทซีทีในโรคมะเร็ง

การตรวจเพ็ทซีทีในโรคมะเร็ง

            ผศ.พญ.เบญจาภา  เขียวหวาน

ภาควิชารังสีวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยในการตรวจโรคมะเร็ง จะพาไปรู้จักกับ “เพ็ทซีที” หนึ่งในเทคโนโลยีนั้นกัน

เพ็ทซีทีเป็นเครื่องมือทางรังสีที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อถ่ายภาพการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมีในร่างกาย ทำให้เราสามารถทราบตำแหน่งของความผิดปกติ รวมทั้งลักษณะความผิดปกติภายในร่างกาย เช่น ก้อนเนื้อ

ปัจจุบันมีความนิยมนำน้ำตาลกลูโคสรังสีมาใช้ตรวจในโรคมะเร็ง เนื่องจากเซลล์มะเร็งมีการใช้น้ำตาลกลูโคสมากกว่าเซลล์ปกติ สำหรับในมะเร็งที่มีการใช้กลูโคสน้อยกว่าปกติ เช่น มะเร็งต่อมลูกหมาก จะใช้สารรังสีชนิดอื่นในการตรวจแทน  การตรวจเพ็ทซีทีนี้มีความปลอดภัย เนื่องจากไม่มีรายงานการแพ้สาร และไม่เป็นอันตรายต่อตับหรือไต

สารรังสีที่ได้รับในขณะตรวจมีอายุสั้น  ซึ่งจะสลายไปได้อย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ป่วยเดินทางกลับบ้านหลังตรวจเสร็จและใช้ชีวิตได้ตามปกติ

            การตรวจเพ็ทซีทีมีประโยชน์ในมะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งต่อมน้ำเหลือง มะเร็งปอด มะเร็งลำไส้ใหญ่ มะเร็งศีรษะและลำคอ มะเร็งเต้านม มะเร็งผิวหนังบางชนิด เนื่องจากสามารถบอกระยะของโรคมะเร็งได้แม่นยำก่อนการรักษา ประเมินผลการรักษาโรคมะเร็ง ตรวจหามะเร็งที่กลับเป็นซ้ำ ช่วยวางแผนการฉายรังสี และพยากรณ์โรค แพทย์จึงได้ข้อมูลที่แม่นยำจากการตรวจเพ็ทซีที  เป็นประโยชน์ต่อการวางแผนการรักษาผู้ป่วย ทำให้แพทย์สามารถรักษาผู้ป่วยได้เหมาะสมกับระยะของโรค และปรับเปลี่ยนแนวทางการรักษาได้ทันท่วงที ส่งผลให้การรักษาโรคมะเร็งดีขึ้น

            เทคโนโลยีที่ทันสมัยทางการแพทย์ช่วยให้การวินิจฉัย และดูแลโรคมะเร็งในผู้ป่วยได้ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น โดยให้ข้อมูลเพื่อให้แพทย์วางแผนการรักษาได้อย่างดีที่สุด และมีข้อควรระวังในการตรวจบางข้อ การตรวจนี้ไม่นิยมตรวจในเซลล์มะเร็งขนาดเล็ก ผู้ป่วยโรคเบาหวานสามารถตรวจได้ แต่ต้องควบคุมระดับน้ำตาลให้ดีภายใต้การดูแลของแพทย์ การตรวจทางรังสีชนิดนี้มักหลีกเลี่ยงสำหรับสตรีตั้งครรภ์ และให้นมบุตร เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ไม่ควรรับรังสีโดยไม่จำเป็น หากมีความจำเป็นต้องตรวจแพทย์จะดูแลอย่างเหมาะสมต่อไป

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด