มารู้จักโรคตาขี้เกียจ

 มารู้จักโรคตาขี้เกียจ

รศ.นพ.ธรรมนูญ  สุรชาติกำธรกุล
ภาควิชาจักษุวิทยา
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

โรคตาขี้เกียจ อีกหนึ่งภัยเงียบใกล้ตัวเกี่ยวกับดวงตาของเด็ก ๆ  หากเป็นแล้วปล่อยไว้  โดยไม่ได้สังเกตความผิดปกติ อาจคุกคามการมองเห็นได้ อะไรเป็นสาเหตุ มีทางแก้ได้อย่างไร มารู้จักกับโรคนี้กัน

โรคตาขี้เกียจเกิดจากความผิดปกติของการมองเห็นในวัยเด็ก ที่สามารถตรวจพบได้จากการวัดสายตาของคุณครูที่โรงเรียน หรือจากการตรวจของแพทย์ และในเด็กบางคนสามารถบอกได้ว่า มีอาการตามัว มองเห็นไม่ชัดเจน หรือมีพฤติกรรมชอบเอียงหน้าเพ่งมอง มองใกล้ ๆ และจากการที่เด็กมองเห็นไม่ชัดเจนอาจทำให้เด็กไม่สนใจเรียนได้  ผู้ปกครองควรหมั่นสังเกตพฤติกรรมที่ผิดปกติของบุตรหลาน  ถ้าไม่แน่ใจให้รีบพาไปพบจักษุแพทย์เพื่อให้การรักษาภาวะตาขี้เกียจได้ทันท่วงที

ซึ่งสาเหตุที่พบได้บ่อย เกิดจากภาวะตาเหล่หรือตาเข  ทำให้เด็กใช้ตาข้างเดียวในการมอง และไม่ใช้ตาข้างที่เหล่มอง ทำให้ตาข้างที่เหล่มัวลงเกิดเป็นภาวะตาขี้เกียจ ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ได้แก่ ภาวะสายตาสั้น สายตายาว สายตาเอียงผิดปกติ สายตาสองข้างต่างกันมาก ทำให้เด็กมองเห็นไม่ชัด อาจทำให้เกิดภาวะตาขี้เกียจทั้งสองตา หรือเด็กใช้ตาข้างเดียวในการมองก็จะทำให้เกิดตาขี้เกียจในตาข้างที่ไม่ได้ใช้มอง และเกิดจากโรคตา

อื่น ๆ ที่ขัดขวางการมองเห็นตั้งแต่เด็ก เช่น หนังตาตก กระจกตาขุ่น ต้อกระจกตั้งแต่กำเนิด และต้อหิน

เด็กทุกคนจะได้รับการตรวจตั้งแต่แรกเกิด เพื่อดูว่ามีภาวะผิดปกติของดวงตา หรือต้อกระจกหรือไม่ ถ้ามีต้อกระจกตั้งแต่แรกเกิด ก็จำเป็นต้องรีบผ่าตัดภายในหนึ่งถึงสองเดือน

ถ้าเด็กทั่วไปควรได้รับการตรวจตาที่อายุ 3 - 6 ปี เพื่อหาภาวะตาขี้เกียจ ซึ่งถ้าพบควรรีบให้การรักษาซึ่งการรักษาจะได้ผลดีในช่วงอายุ 3 – 6 ปี ถ้าอายุมากกว่า 9 - 10 ปีไปแล้ว การรักษามักใช้ระยะเวลานาน

ในการรักษาตาขี้เกียจ ต้องแก้ที่สาเหตุ เช่น ถ้ามีสายตาสั้น สายตายาว หรือสายตาเอียงต้องใส่แว่น ร่วมกับการปิดตาข้างที่ดี เพื่อกระตุ้นตาข้างที่ขี้เกียจให้กลับมาทำงาน  เด็กบางคนอาจไม่ยอมปิดตาอาจจำเป็นต้องใช้ยาหยอดตา เพื่อทำให้ตาข้างที่ดีมัวลง เพื่อกระตุ้นตาข้างที่ขี้เกียจให้กลับมาทำงาน  ถ้าภาวะตาขี้เกียจดีขึ้นแล้ว เด็กยังมีภาวะตาเหล่ก็จำเป็นต้องผ่าตัดกล้ามเนื้อตาให้ตาตรงเป็นปกติ

ภาวะตาขี้เกียจในเด็ก การดูแลเอาใจใส่จากผู้ปกครองเป็นสิ่งสำคัญมากที่สุด เพื่อให้เด็กกลับมาหายเป็นปกติ ตั้งแต่การสังเกตพฤติกรรมการมองของลูก รวมทั้งการพาบุตรหลานมาตรวจกับจักษุแพทย์ หรือการปิดตาข้างที่ดี เพื่อฝึกตาข้างที่ไม่ใช้งานให้กลับมาใช้งานได้ นอกจากนี้ผู้ปกครองควรทำตามคำแนะนำของจักษุแพทย์ และมาพบจักษุแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอ

 

 

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด