การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในเด็ก

 

“การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในเด็ก”

ผศ.นพ.นัทธี นาคบุญนำ
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

          การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในเด็กมีความสำคัญในการช่วยชีวิตเด็กจำนวนไม่น้อยเลยทีเดียว จะพาไปรู้จักกับการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดในเด็กค่ะ
          การปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเป็นอีกวิธีหนึ่งในรักษาโรคของผู้ป่วย ที่มีสาเหตุความผิดปกติมาจากความผิดปกติของเซลล์ในไขกระดูก เนื่องจากไขกระดูกเป็นแหล่งผลิตของเซลล์เม็ดเลือดและเซลล์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิต้านทานของร่างกาย ความผิดปกติของไขกระดูกจึงก่อให้เกิดโรคทางพันธุกรรมในเด็กและโรคที่เป็นในภายหลังได้หลายชนิด การรักษาด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดจึงเป็นการรักษาโรคที่ต้นตอด้วยการเปลี่ยนเซลล์ไขกระดูกเดิมที่ผิดปกติของผู้ป่วย โดยการให้ยาทำลายเซลล์ไขกระดูกเดิม และนำเซลล์ต้นกำเนิดใหม่ที่ปกติมาให้แก่ผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำ เซลล์ต้นกำเนิดเหล่านี้เข้าไปในโพรงกระดูกของผู้ป่วยและแบ่งตัวสร้างเม็ดเลือด รวมถึงสร้างภูมิคุ้มกันใหม่ที่ปกติให้แก่ผู้ป่วยและรักษาโรคให้หายได้
          สาเหตุความผิดปกติมาจากความผิดปกติของเซลล์ในไขกระดูก โรคเหล่านี้มีจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย โรคไขกระดูกฝ่อ โรคมะเร็งระบบเลือด ได้แก่ โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว มะเร็งต่อมน้ำเหลือง โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องแต่กำเนิดชนิดรุนแรง นอกจากนี้ยังมีโรคที่เป็นโรคทางพันธุกรรมอีกหลายชนิดที่สามารถรักษาได้ด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด อย่างไรก็ดีเนื่องจากการรักษาด้วยวิธีนี้มีความเสี่ยง เราจะเลือกการรักษาด้วยวิธีนี้ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง และมีการพยากรณ์โรคที่ไม่ดีหรืออาจเสียชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาด้วยวิธีนี้ และช่วงเวลาที่จะทำการปลูกถ่ายก็มีความสำคัญ ผู้ป่วยควรได้รับการเตรียมการสำหรับการรักษาด้วยวิธีนี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เมื่อได้รับการวินิจฉัยโรคและทำการปลูกถ่ายในช่วงเวลาที่เหมาะสมจะช่วยให้ผู้ป่วยมีอัตราการหายขาดจากโรคหรือรอดชีวิตได้สูงกว่า
          เซลล์ต้นกำเนิดได้มาจาก 3 แหล่ง คือ 1. เจาะเก็บจากไขกระดูก 2. เก็บจากเลือด 3. เก็บจากรก เนื่องจากเซลล์ของตัวผู้ป่วยเองมีความผิดปกติ จึงมักต้องอาศัยเซลล์ต้นกำเนิดของผู้อื่น ผู้ที่ให้เซลล์ต้นกำเนิดเราเรียกว่าผู้บริจาคหรือ donor ผู้ที่จะเป็นผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดได้ต้องได้รับการตรวจแล้วว่า มีลักษณะทางพันธุกรรมที่เรียกว่า HLA ตรงกันกับผู้ป่วย ดังนั้นการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดโดยทั่วไป มักจะใช้เซลล์จากพี่น้องท้องเดียวกัน เนื่องจากมีโอกาสที่จะมีลักษณะทางพันธุกรรมที่เหมือนกัน หากไม่มีพี่น้องที่มี HLA ตรงกับผู้ป่วย สามารถทำการหาผู้บริจาคที่ไม่ใช่พี่น้องจากผู้ที่ลงทะเบียนบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดของสภากาชาดไทย ซึ่งขณะนี้มีผู้ลงทะเบียนบริจาคไว้แล้วกว่าสองแสนราย
          วิธีการปลูกถ่าย เริ่มด้วยการให้ยา ซึ่งเป็นยากลุ่มเคมีบำบัดขนาดสูงแก่ผู้ป่วยเพื่อทำลายเซลล์ไขกระดูกที่ผิดปกติ หรือเซลล์มะเร็งให้หมดไป โดยอาจให้ร่วมกับการฉายแสง หลังจากนั้นเอาเซลล์ต้นกำเนิดของผู้บริจาคให้กับผู้ป่วยทางหลอดเลือดดำร่วมกับการให้ยากดภูมิเพื่อให้ร่างกายของผู้ป่วยไม่ต่อต้านกับเซลล์ใหม่ เซลล์ต้นกำเนิดจะเข้าไปอยู่ในไขกระดูกของผู้ป่วยและเริ่มสร้างเซลล์เม็ดเลือดได้ราวๆ ปลายสัปดาห์ที่ 2 หรือ 3 ดังนั้นช่วงแรกนี้ผู้ป่วยจะมีภูมิต้านทานต่ำมาก จำเป็นต้องอยู่ในห้องปลอดเชื้อ และอาจมีภาวะแทรก ซ้อนต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด
          สำหรับผู้บริจาค การเก็บเซลล์ต้นกำเนิดทำได้โดยการดูดเลือดจากไขกระดูกบริเวณกระดูกสะโพก ผู้บริจาคจะเจ็บเล็กน้อยเพียง 1-2 วัน จะไม่มีอันตรายอย่างอื่น ไม่ต้องสูญเสียอวัยวะใด ๆ ไขกระดูกที่ถูกดูดออกไปผู้บริจาคสามารถสร้างไขกระดูกขึ้นมาชดเชยได้ หรืออีกวิธีสามารถทำการเก็บจากเลือด โดยผู้บริจาคจะได้รับการฉีดยากระตุ้นเม็ดเลือด และทำการเก็บเลือดผ่านเครื่องแยกเม็ดเลือด ซึ่งกระบวนการจะคล้ายกับการบริจาคเลือดทั่วไป เซลล์ต้นกำเนิดที่ถูกเก็บไป ร่างกายของผู้บริจาคจะสามารถสร้างขึ้นชดเชยได้ในเวลาไม่นานเช่นกัน
          การดูแลผู้ป่วยหลังการปลูกถ่ายไขกระดูก ยิ่งโดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กจำเป็นต้องดูแลผู้ป่วยเป็นพิเศษ ระวังอันตรายที่เกิดจากโรคติดเชื้อ ภาวะเลือดออกผิดปกติ การรักษาจะมีการให้เลือดและเกร็ดเลือดทดแทน การให้อาหารทางหลอดเลือดในกรณีผู้ป่วยรับประทานได้น้อยไม่เพียงพอ ที่สำคัญการเยี่ยมผู้ป่วยถ้าไม่สบายห้ามเยี่ยม และต้องไม่เยี่ยมผู้ป่วยอื่นมาก่อน เพื่อลดการติดเชื้อ เมื่อผู้ป่วยกลับบ้านจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ ระมัดระวังการติดเชื้อเป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปี และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด

เอกสารประกอบ

ดาวน์โหลด